"...องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับมอบครุภัณฑ์ของโครงการ บางแห่งบันทึกทะเบียนคุมครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ระบุหมายเลขครุภัณฑ์บนตัวครุภัณฑ์ไม่ควบคุมการใช้และสำรวจครุภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เป็นเหตุให้วิทยุมือถือกำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์ ที่จัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไม่มีให้ตรวจสอบ/สูญหาย จำนวน 24 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.88 ของวิทยุมือถือที่จัดซื้อ จำนวน 408 เครื่อง..."
โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ภายใต้การดูแลของ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 4 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2561- 2562 วงเงินกว่า 35 ล้านบาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการดูแล ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อมาใช้งาน ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นปัจจุบัน บางรายการสูญหาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพ ของ โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 28.23 ล้านบาท และได้รับงบประมาณต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 6.94 ล้านบาท โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทั้ง 4 แห่ง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง เป็นหน่วยดำเนินโครงการ
มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเพื่อให้หน่วยงานที่มีภารกิจสามารถบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการตรวจสอบพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับมอบครุภัณฑ์ของโครงการ บางแห่งบันทึกทะเบียนคุมครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนและไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ระบุหมายเลขครุภัณฑ์บนตัวครุภัณฑ์ไม่ควบคุมการใช้และสำรวจครุภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
เป็นเหตุให้วิทยุมือถือกำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์ ที่จัดซื้อในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไม่มีให้ตรวจสอบ/สูญหาย จำนวน 24 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 5.88 ของวิทยุมือถือที่จัดซื้อ จำนวน 408 เครื่อง
ประกอบด้วยวิทยุมือถือที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดชุมพร จำนวน 9 เครื่อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 8 เครื่อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพัทลุง จำนวน 7 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 288,000.00 บาท
เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดการควบคุมที่ดีและไม่สำรวจครุภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งข้อเสนอแนะให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จัดทำโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ป้องกันข้อผิดพลาด/ความเสี่ยงในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป และป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดวินัยการเงินการคลัง ดังนี้
1. สั่งการให้จังหวัดชุมพร และจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ยังไม่ได้ดำเนินการโอนครุภัณฑ์ของโครงการให้หน่วยงานผู้รับโอน ให้เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามหนังสือสั่งการ คู่มือ และแนวทางการโอนสินทรัพย์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดโดยด่วน รวมทั้งเร่งรัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมสภาท้องถิ่น
2. แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 8 แห่ง ที่ไม่มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ระบบ VHF ชนิดมือถือให้ตรวจสอบ/สูญหาย จำนวน 24 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 288,000.00 บาท ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่วนที่ 3 ข้อ 214 หากจะต้องหาตัวผู้รับผิดด้วย ให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของทางราชการนั้นต่อไป
3. กำชับหน่วยงานที่เป็นหน่วยดำเนินโครงการ กรณีส่งมอบสินทรัพย์ให้แสดงรายละเอียดสินทรัพย์รายละเอียดอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้ชัดเจน ครบถ้วน และหน่วยงานที่รับมอบต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐาน รวมทั้งควบคุมการใช้และตรวจสอบสินทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญหาย ในระหว่างรอกระบวนการโอนสินทรัพย์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยกับหน่วยงานรับโอน กรณีรับโอนเป็นสินทรัพย์ของหน่วยงานแล้วให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 112 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203 (1) ข้อ 208 ข้อ 209 และข้อ 212 และควบคุมดูแลสินทรัพย์ที่เกิดจากโครงการทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากงบกลุ่มจังหวัดให้เป็นปัจจุบัน
ทั้งที่ ได้รับในปีปัจจุบัน ปีงบประมาณที่ผ่านมาและที่ดำเนินการในโอกาสต่อไป
อย่างไรดี ในการเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ สตง. มิได้ระบุรายชื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 8 แห่ง ที่ไม่มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุ ระบบ VHF ชนิดมือถือให้ตรวจสอบ/สูญหาย จำนวน 24 เครื่อง คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 288,000.00 บาท เอาไว้ชัดเจน
จึงทำให้สำนักข่าวอิศรา ยังไม่สามารถติดต่อผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 8 แห่ง ดังกล่าว เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอแนะของสตง.ได้
แต่หากมีรายละเอียดเพิ่มเติม จะนำมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบต่อไป