ประชาคมคณะรัฐศาสตร์ ม.บูรพา ออกประกาศจี้อธิการบดี สั่งผู้เกี่ยวข้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีทุจริตจัดโครงการอบรมวิชาการคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์จะปรากฎ-จี้คณบดี,พวกแสดงความกล้าหาญหยุดทำหน้าที่จนกว่าจะสอบแล้วเสร็จ
สืบเนื่องจากที่ปรากฏเป็นข่าวว่า คณบดีคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. ธีรพงษ์ บัวหล้า และผู้รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดี นางศญาพัฒน์ กิตติสารวัณโณ ถูกแจ้งข้อหาทุจริตจัดโครงการอบรมวิชาการ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ทางประชาคมคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าว พร้อมรายชื่อแนบท้าย มีใจความว่า
จากกรณีคณบดีและผู้รักษาทางแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทุจริตโครงการบริการวิชาการจากกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ดังที่ปรากฏในสื่อสาธารณะหลายช่องทางนั้น
- สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ ม.บูรพา จี้ถอดถอนคณบดีเอี่ยวทุจริต-หวั่นใช้ตำแหน่งเอื้อข่มขู่พยาน
- ม.บูรพาพร้อมสอบปมคณบดีถูก ปปป.ตั้งข้อหาทุจริตโครงการเอื้อประโยชน์เข้าตัวเอง
- ตร.ปปป. บุกแจ้งข้อหา คณบดี ม.บูรพา จัดโครงการอบรมทิพย์-เจ้าตัวปฏิเสธ
ประชาคม ได้ให้ความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม หลักการแห่งความถูกต้องชอบธรรม และการค้นหาความจริงอันเป็นพื้นฐานของการบริหารองค์กรแบบมีธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารงานของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาบ่มเพาะความรู้เพื่อผลิตบุคลากรรับใช้ประเทศชาติ ด้านการเมืองการปกครอง การบริการและกฎหมาย มาอย่างยาวนาน จึงต้องเป็นต้นแบบที่สามารถชี้นำสังคมไทยได้อย่างน่าเชื่อถือเช่นอดีตที่ผ่านมา
ทางประชาคมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและตระหนักถึงวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง ให้ความยุติธรรมปรากฏต่อสังคม และขอแถลงการณ์แสดงเจตจำนงต่อการดำเนินการในกรณีดังกล่าว ดังนี้
1. ประชาคม ขอสนับสนุนการดำเนินการโดยใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายต่อข้อกล่าวหาการทุจริตในโครงการบริหารวิชาการดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เพื่อยุติปัญหาที่เกิดขึ้นและสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยเน้นประโยชน์ของทางมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ
2. ประชาคม ขอเรียกร้องให้คณบดีและผู้รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดี แสดงความกล้าหาญทางจริตธรรม รวมถึงรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยยุติการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความโปร่งใสและป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับพยานบุคคล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมส่วนรวม กรณีคณบดีและผู้รักษาการแทนหัวหน้าสำนักงานคณบดีไม่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้สภามหาวิทยาลัยหรืออธิการบดีสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะปรากฎ
แม้ว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 จะบัญญัติว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนคำพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำผิดมิได้” ซึ่งรับรองหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of innocence) ว่าเป็นหนึ่งในสิทธิของปวงชนชาวไทย แต่ทั้งนี้ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนงานของหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งเป็นพนักงานของรัฐ จะต้องมีความประพฤติที่อยู่ในกรอบของวินัย และจรรยาวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เนื่องจากต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมและสมควรแก่ความไว้ความใจของสาธารณชนด้วย
3. ประชาคม ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี แสดงความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยการรับฟังเสียงของประชาคมอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่บุคลากร นิสิต ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และผู้ใช้บัณฑิต ของคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
ประชาคม ยังคงยืนยันในความมั่นคงทางการบริหารแบบมีธรรมาภิบาล อีกทั้งระบบและกลไกในการศึกษาของนิสิตที่ยังคงดำเนินการได้อย่างปกติ มีระดับเสรีภาพทางวิชาการอย่างเต็มเปี่ยม อีกทั้งความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่าง ๆ ยังอยู่ในระดับที่ได้รับความเชื่อมั่นเช่นเดิม
ประชาคม ขอแถลงว่าเรายังคงยึดมั่นต่อภารกิจที่มีต่อประเทศชาติ คือ การเน้นผลิตบัณฑิตรับใช้สังคมไทยด้วยคุณภาพทางวิชาการและจิตสำนักรับผิดชอบต่อสังคม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นบททดสอบธรรมาภิบาลที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยจะก้าวผ่านไปให้ได้ในเร็ววัน