WHO ออกประกาศไม่แนะนำใช้ยาต้านโควิด 2 ชนิด พบมียาโซโทรวิแมบได้รับการอนุมัติจาก อย.ไทยจนถึงปี 2571 ด้วย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ WHO ออกคำแนะนำช้าเกินไป สงสัยมีกี่ประเทศจะทำตาม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้มีการออกรายงานระบุว่าไม่แนะนำให้มีการใช้ยารักษาโควิดอีกจำนวน 2 รายการชื่อว่ายาโซโทรวิแมบ (sotrovimab) และยา casirivimab-imdevimab เนื่องจากพบว่ายาดังกล่าวนั้นดูจะล้าสมัยเกินไปเมื่อต้องใช้รับมือกับโควิดสายพันธุ์ใหม่
โดยยาดังกล่าวนั้นถูกออกแบบมาให้เป็นยาแอนติบอดีซึ่งมีกลไกการทำงาน ด้วยการผูกกับโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 เพื่อจะลดขีดความสามารถของไวรัสลงในการที่ไวรัสจะเข้าไปติดเชื้อในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ และยาทั้ง 2 ชนิดที่ว่ามานี้ยังเป็นยาชุดแรกๆที่ถูกพัฒนาในช่วงต้นของการระบาด ซึ่งในฐานข้อมูลขององค์การอาหารและยา (อย.) ของไทยระบุว่ายา CASIRIVIMAB AND IMDEVIMAB ได้รับการอนุมัติจาก อย.ไปเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 แต่ว่าใบอนุมัตินั้นหมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2565ที่ผ่านมา และยาโซโทรวิแมบนั้นได้รับคำอนุมัติจาก อย.ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 และใบอนุมัติจะหมดอายุในวันที่ 21 ก.ย. 2571 (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้มีรายงานจากต่างประเทศว่าหลังจากที่ไวรัสได้มีการพัฒนา ก็เริ่มมีหลักฐานออกมามากมายว่าการยาทั้งสองตัวนั้นค่อนข้างจะมีความจำกัดต่อไวรัสสายพันธุ์ตัวล่าสุดดังนั้นหน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐฯจึงเริ่มที่จะมีการลดการใช้ยาทั้งสองชนิดดังกล่าวลง
จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญ WHO นั้นได้อกมาคัดค้านการใช้ยาทั้งสองชนิดรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งการออกคำคัดค้านดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการกระทำของ WHO ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่ได้มีการออกคำแนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยในตอนนั้นคำแนะนำทางการแพทย์ของ WHO ดังกล่าวนั้นถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษหรือ BMJ
อนึ่งบริษัท GSK (GSK.L) และบริษัทคู่ค้าชื่อว่า Vir Biotechnology's (VIR.O) ผู้ผลิตยาโซโทรวิแมบนั้นพบว่าสามารถจะขายยาดังกล่าวได้เป็นจำนวนนับพันล้านชุดและกลายเป็นผู้ผลิตยาชั้นนำในสหราชอาณาจักรได้ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยาของบริษัทนั้นก็ได้ถูกนำออกจากร้านขายยาในสหรัฐอเมริกา อันเรื่องมาจากคำแนะนำขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA)
ขณะที่ พญ.เพนนี วอร์ด ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เภสัชกรรมที่คิงส์คอลเลจลอนดอนกล่าวว่าประกาศไม่แนะนำของ WHO นั้นออกมาช้าเกินไปและยังตั้งข้อสงสัยอีกว่าจะมีสักกี่ประเทศที่จะดำเนินการสอดคล้องกับคำแนะนำดังกล่าว
ส่วนยา casirivimab-imdevimab นั้นพบว่ามีผู้ผลิตก็คือบริษัท Regeneron and partner Roche's (ROG.S) สัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถขายยาได้เป็นจำนวนนับพันล้านชุด ส่งผลทำให้บริษัทนี้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทยาที่มียอดขายสูงสุดในสหรัฐฯในช่วงปีที่ผ่านมาอีกเช่นกัน
โดยแม้ว่า WHO จะออกประกาศไม่แนะนำดังกล่าว แต่ก็พบว่ายาที่ว่านี้ทั้ง 2 ชนิดยังคงอยู่ในคำแนะนำของหน่วยงานกํากับดูแลยาในยุโรป
WHO ยังได้ออกคำแนะนำต่อด้วยว่ายาที่ยังคงมีประโยชน์และสามารถใช้ป้องกันผู้ป่วยโควิดจากการมีอาการป่วยที่รุนแรง จนไปถึงอาการป่วยที่ไม่รุนแรงนั้นก็คือยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ของบริษัท Gilead's (GILD.O)
เรียบเรียงจาก:https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/who-strongly-advises-against-use-two-covid-treatments-2022-09-15/