ผอ.ชลประทาน 16 ยัน ไม่มีแอกตักขายดินแก้มลิงน้ำพราย ประมูลขายดินถูกต้อง เตรียมงัดหลักฐานเวนคืนที่ดินไม่เอื้อเอกชน เหตุป.ป.ช.ใช้แอพฯส่องสำรวจไม่ครอบคลุม “ทวี สุระบาล” ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พปชร. โผล่รับเป็นเจ้าของป้าย บอกยังไม่ประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ไม่ถือว่าผิด แต่ไม่รู้เรื่องการเวนคืนที่ดิน เชื่อลอบขายดินเป็นไปไม่ได้ เพราะดินไม่มีราคา
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วยชมรมตรังต้านโกง ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการแก้มลิงบ้านท่ามะปราง หมู่ที่ 5 ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 16 กองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง แก้มลิงบ้านท่ามะปราง มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ แก้มลิงบ้านน้ำพราย 1 มีเนื้อที่ 192 ไร่ และแก้มลิงบ้านน้ำพราย 2 มีเนื้อที่ 300 ไร่ งบประมาณดำเนินการปี พ.ศ. 2564 - 2566 ประมาณ 280,000,000 บาท ความก้าวหน้างานก่อสร้างปัจจุบัน 61.94% และงบประมาณในการจัดหาที่ดิน 213,897,988 บาท หลังจาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดตรัง ได้รับแจ้งเบาะแสการดำเนินการโครงการแก้มลิงบ้านท่ามะปราง มีการแอบนำเอาดินจากการขุดไปขายให้กับบุคคลภายนอก และการเวนคืนที่ดินมีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคล
และทางชมรมฯยังได้รายงานเพิ่มเติมว่าได้รับเบาะแสว่า โครงการทั้งหมดซึ่งใช้งบประมาณ 280 ล้านบาท แต่ไปทำในที่ดินเอกชน โดยจัดซื้อที่ดินอีกกว่า 200 ล้านบาท โดยมีที่ดินเวนคืนทั้งหมด 121 แปลง จากเกษตรกร 98 ราย เนื้อที่ 5-31-1-70.1 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 213,897,988 บาท จ่ายเงินแล้ว 33 แปลง จากเกษตรกร 26 แปลง เนื้อที่ 268-1-3.4 ไร่ คิดเป็นเงิน 95,224,116 บาท ที่สำคัญจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในบริเวณพื้นที่จัดทำโครงการฯ บ้านน้ำพราย 1 ไม่มีป้ายโครงการ แต่มีป้ายว่าที่ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐติดอยู่ โดยอ้างว่าเป็นผู้ประสานงบประมาณมาให้ด้วย
- เจาะลึกแก้มลิงต.ห้วยยอด ตรัง280 ล. ก่อนป.ป.ช.สอบ-ป้ายว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พปชร โผล่ช่วยของบ
- ได้เบาะแสแอบขุดดินไปขาย! ป.ป.ช.ตรังลุยสอบแก้มลิงท่ามะปราง280ล.-กรมชลฯ ยันทำตามระเบียบ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าล่าสุด นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่16 ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับอิศราว่า ส่วนตัวไม่ค่อยสบายใจกับการกล่าวอ้างว่ามีการแอบขายดิน เพราะเป็นขายกันจริงอย่างเปิดเผย ไม่ใช่การแอบขายแต่อย่างใด ที่ตนระบุว่าดินที่เหลือจากการใช้ ก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนไหนกี่เปอร์เซ็นต์ ดินที่เหลือก็จะต้องนำไปประมูลขายให้ผู้รับจ้างมารับซื้อไป เนื่องจากเราไม่สามารถจัดเก็บดูแลดินส่วนนี้ไว้ หากชลประทานจัดเก็บดูแลเองอาจจะมีการสูญหาย หรือจะมีการมากล่าวหากันว่าชลประทานเอาไปขาย จึงต้องหาผู้รับจ้างมาประมูลซื้อไป เมื่อผู้รับจ้างประมูลได้ก็เป็นสิทธิ์ของเขาว่าจะเอาขายหรือเอาไปให้ใคร ยืนยันว่า การประมูลเป็นไปตามการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding มีความโปรงใส
นายสิริพล กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่มาของราคานั้น มีการเชิญธนารักษ์จังหวัดตรังมาร่วมกำหนดราคา และมีที่มาของราคาประเมินจากกรมที่ดิน จากนั้นนำมาคำนวณตามหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ จนได้ราคามูลดินออกมา ซึ่งข้อมูลที่ตนกล่าวมานั้นมีเอกสารประกอบทั้งหมด และมีตัวเลขราคาระบุชัดเจน และตอนนี้ในสัญญาแรก ปี 2564 ได้ผู้ชนะประมูลแล้ว ส่วนของปี 2565 ยังไม่มีการประมูล ตนขอรวบรวมเอกสาร ราคา ตัวเลขต่างๆ แล้วจะให้ข่าวที่มีข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งเป็นตรรกะที่ชัดเจนไม่ใช่เป็นตัวเลขสมมติ
“ที่เขาบอกว่าการเวนคืนที่ดินของโครงการไปทำในที่ดินเอกชนนั้น การที่เขาไปนำแผนที่ที่ดินจากแอพพลิเคชั่นของกรมที่ดิน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นแสดงระวางที่ดิน โดยระวางนี้จะแสดงข้อมูลเฉพาะที่ดินตามเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน หากเอกสารต่ำกว่านั้น คือตั้งแต่เอกสารสิทธิ์ น.ส. 3 ลงไปจะไม่ปรากฏแสดงในแอพพลิเคชั่น เขาไปมองว่าทำไมผมไม่เอาไม่ซื้อที่ว่างตรงนี้ ทำไมต้องไปซื้อที่ของเอกชน ผมผมเองก็ได้ชี้แจงไป หากใช้แอพพลิเคชั่นนี้มาโชว์ มันจะแสดงไม่หมด เพราะมันจะแสดงเฉพาะข้อมูลตามเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินเท่านั้น โดยจะให้รายละเอียดของโฉนด , เนื้อที่ , ราคาประเมิน จนมีการมาชี้ว่าทำไมผมไม่ทำในที่ว่าง ทำไมต้องมาทำในที่ดินเอกชน โดยผมก็ได้เอาเอกสารหลักฐานที่ดินประเภท น.ส.3 และ ต่ำกว่า น.ส.3 ที่ระบุตัวตนของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมาแสดง และเมื่อมีการปักหลักเขตพื้นที่ก่อสร้าง มีการรังวัดที่ดินให้กับกรมชลประทาน จะได้ข้อมูลที่ดินตามที่ต้องการซื้อ ว่าเป็นของใครบ้าง มีเอกสารสิทธิ์อะไร หรือ แม้แต่ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางชลประทานก็มีข้อมูลหมด ซึ่งทางชลประทานจะนำเอกสารมาแสดงต่อป.ป.ช.ตรังทั้งหมด”ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่16 ระบุ
นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่16
สำนักข่าวอิศรารายงานอีกว่า พื้นที่ตั้งโครงการทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 2 ซึ่งว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้ประกาศตัวเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ คือ นายทวี สุระบาล ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยอยู่ทีมเดียวกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน แต่ได้ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่พรรคไทยรักไทยของนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ทั้งนี้สำหรับเขต 2 จังหวัดตรัง นายทวีประกาศพร้อมชนกับส.ส.เดิมจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรังเขต 2 หลายสมัย
สำนักข่าวอิศราได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนายทวี ซึ่งได้นำป้ายขนาดใหญ่ไปติดประกาศหน้าโครงการดังกล่าว โดยนายทวีกล่าวชี้แจงว่า ตนเป็นผู้ประสานกับกรมชลประทาน เพื่อให้เขามาทำโครงการแก้มลิงที่ท่ามะปราง ซึ่งได้งบมาก่อสร้างแล้ว เป็นงบต่อเนื่องผูกพัน ส่วนเรื่องเวนคืนที่ดินตนไม่ทราบ การเวนคืนเป็นเรื่องของกรมชลประทานกับชาวบ้าน และดินที่ได้จากการขุดทำโครงการ เท่าที่ทราบข่าวว่าเขาไม่มีที่ทิ้ง ขุดแล้วไม่รู้จะเอาไปไหน สามารถไปดูได้เลย ส่วนประเด็นการเอาดินไปขายไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะดินอำเภอห้วยยอดนั้นไม่ใครซื้อ และไม่มีราคาด้วย ส่วนเรื่องงบประมาณเวนคืนและงบก่อสร้างที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีมูลค่าสูงนั้น ตนก็ไม่ทราบเพราะเป็นเพียงผู้ประสานโครงการเท่านั้น
“ส่วนเรื่องที่ผมขึ้นป้ายและมีรูปตัวเองอยู่บนป้าย ผมก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นได้ เพราะผมประสานโครงการและงบประมาณมา ตอนนี้ผมไม่ได้เป็นนักการเมือง หรือ เป็น ส.ส. ที่จะไม่สามารถไปวิ่งงบได้ แต่หากถึงเวลาที่ประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา เขาจะกำหนดให้เอาป้ายลง ผมก็ต้องเอาลง ของคนอื่นผมก็เห็นเขาขึ้นป้ายนะ ขึ้นในนามชาวบ้านบ้างก็มี แต่ของผมนั้นขึ้นป้ายชัดเจน” นายทวีกล่าว
นายทวี สุระบาล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์