กรมอุทยานฯ ประสานดีเอสไอ สอบขบวนการรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ทับซ้อนอุทยานชาติสิรินาถ มูลค่าเกือบ 800 ล้าน หลังอัยการภูเก็ตพิจารณาสำนวนคดีสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย เข้าทำประโยชน์ปลูกต้นมะพร้าวอายุ 1 ปี -เจอหลักฐาน ส.ค.1 บิน
ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะจังหวัดภูเก็ตอย่างคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นกรณีรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ทับซ้อนอุทยานมูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้ทำการสืบสวนข้อมูลเชิงลึก หลังจากมีการเข้าจับกุมตัวผู้กระทำความผิดส่งคดีตามกฎหมายตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตได้พิจารณาและมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
ข้อเท็จจริงกรณีนี้ ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติป่าไม้ที่ดินสาธารณะประโยชน์แห่งหนึ่ง ว่า ที่ดินบริเวณ พิกัด 8 องศา 05 ลิปดา 47.359 ฟิลิปดาเหนือ 98 องศา 18 ลิปดา 09.017 ฟิลิปดาตะวันออก อยู่ในท้องที่ ม.1 ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ตประมาณ 500 เมตร ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์แหลมพิศ ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้าไปปรับสภาพพื้นที่เป็นพื้นราบมีการปลูกต้นมะพร้าวความสูงประมาณ 1 เมตร คาดว่าปลูกมาประมาณ 1 ปี พื้นที่โดยรอบมีการล้อมรั้วด้วยกำแพงคอนกรีต
โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณนี้พบว่า มีการแผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ มีการใช้รถแบ็คโฮเข้าปรับพื้นที่ และมีการกั้นรั้วลวดหนามรอบพื้นที่บริเวณใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ท้องที่หมู่ที่ 1 ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขณะตรวจสอบพบกลุ่มบุคคล จำนวน 3 คน กำลังติดตั้งล้อมรอบในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และอยู่ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์แหลมพิศ คำนวณพื้นที่ ได้เนื้อที่จำนวนเนื้อที่ 15 ไร่ 3 ไร่ งาน 71 ตารางวา มูลค่าราคาไร่ละ 50 ล้านบาท เกือบ 800 ล้านบาท
จากการสอบถามกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้รับแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวมีเอกสารที่ดินเป็น ส.ค. 1 เลขที่ 283 หมู่ที่ 1 ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยผู้แจ้งการครอบครองและทายาทได้เข้าไปครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา แต่คณะเจ้าหน้าที่พิจาณาแล้วเห็นว่าที่ดินที่เกิดเหตุไม่มีร่องรอยทำการทำประโยชน์มาก่อน เดิมมีสภาพเป็นป่ามีพันธุ์ไม้ขึ้นกระจายอยู่เต็มพื้นที่ และจากการตรวจสอบรายละเอียดเอกสาร ส.ค.1 เลขที่ 283 ระบุว่าสร้างประโยชน์ในที่ดินเป็นสวนมะพร้าว แต่ปรากฏว่าไม่มีต้นมะพร้าวอยู่ และตรวจไม่พบพืชผลอาสินใดๆ
คณะเจ้าหน้าที่จึงเห็นว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นความผิดฐานร่วมกันยึดถือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมในอุทยานแห่งชาติ ร่วมกันเก็บหาหรือนำออกไปกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมในอุทยานแห่งชาติ ร่วมกันเก็บหาหรือนำออกไปกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ปิโตเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือการกระทำอื่นใดอันส่งผลต่อระบบนิเวศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด กระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ ร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น
เบื้องต้น คณะเจ้าหน้าที่ จึงได้ทำการจับกุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.สาคู ดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษไว้เป็นคดีอาญา 61/2564 คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้ว สรุปผลการสอบสวนเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย เข้าไปในที่ดินที่เกิดเหตุโดยเข้าใจว่ามีสิทธิที่จะเข้าไปได้ตามกฎหมายตามเอกสาร ส.ค.1 เป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการบุกรุกที่ดินของรัฐ จึงมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 คน ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตได้พิจารณาและมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
ขณะที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาสภาพพื้นที่แล้วเห็นว่าที่ดินที่เกิดเหตุทับซ้อนอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ และอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ และจากพยานหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายภาพไว้เมื่อปี พ.ศ. 2510 ถึงปี พ.ศ.2545 พบว่าพื้นที่มีสภาพพื้นเป็นป่าไม่ผลัดใบซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มพื้นที่ ไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์ใดๆ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าเอกสาร ส.ค.1 ที่กลุ่มผู้ต้องหานำมากล่าวอ้างดังกล่าวเป็นของที่ดินแปลงอื่นและไม่ตรงกับตำแหน่งแปลงที่ดินที่แท้จริงในที่เกิดเหตุ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้ทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า พื้นที่ตำบลสาคู ตำบลดเชิงทะเล อำเภอถลาง จ.ภูเก็ต คณะเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้จัดทำโครงการเดินสำรวจเพื่อพิสูจน์แปลงที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดิน โดยได้นำ สค. 1 มาพิสูจน์จุดพิกัด ภายใต้โครงการชื่อคืน สค. 1 ให้ประชาชน โดยดำเนินการให้กับประชาชนที่ครอบครองพื้นที่ทั้งหมดแล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและอำนวยควารมยุติธรรมให้กับประชาชนที่เข้าไม่ถึงข้อมูลทางราชการสำหรับการพยายามครอบครองพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของจังหวัดภูเก็ต แต่ยังคงมีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่หาประโยชน์กับที่ดินต่อเนื่องทั้งพื้นที่อำเภอ ถลาง เมืองภูเก็ต และ กะทู้ แม้แต่พื้นที่ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว อย่างกรณีของแปลงที่ดินที่รู้จักกันในนามเดอะพีทกะรน หรือแปลงที่ดินที่รู้จักกันในนาม แปลง178 ไร่หาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ก็ยังคงมีความพยายามที่จะออกเอกสารสิทธิ์อีกโดยมีเจ้าหน้าที่บางรายเรียกรับเงินจากผู้ที่อ้างตัวว่ามีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในพื้นที่ อาทิ สายจากการเมือง สายจากเจ้าหน้าที่ สายจากผู้ที่อ้างตัวว่ามีความสัมพันธ์กับรัฐบาล
นอกจากนั้นยังพบว่าพื้นที่จำนวนมากที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือ ป.ป.ช.ดำเนินคดี ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบพิพากษาจำคุกข้าราชการและผู้ที่ร่วมขบวนการทุจริตออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินสาธารณะแล้วก็ยังไม่มีการบังคับคดีแต่อย่างใด