รองผู้ว่ายโสธรเผยที่ประชุมร่วมท้องถิ่นยโสธร- ป.ป.ช.เคาะ 3 ระยะแก้ปัญหาโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 24.5 ล้านบาท รับฝ่ายเทศบาลมีแผนปรับปรุงพื้นที่แต่ติดเรื่องระเบียขอไม่ทันงบปี 62 เลยถูกตีตก ขณะฝ่ายเทศบาลแจงเอกชนส่งมอบงานครบแล้ว แต่ติดปัญหาต้องแก้ระเบียบ ทำให้กว่าจะแก้เสร็จ โครงการก็ชำรุดแล้ว
สืบเนื่องจากที่เพจชมรมSTRONGต้านทุจริตภาคอีสาน ได้เปิดเผยปัญหางานก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ลำทวนฝั่งซ้าย ต.ตาดทอง อ.เมืองยโสธร จ.ยโสธร มูลค่า 24.5 ล้านบาท
โดยโครงการได้ดำเนินมาตั้งแต่ในช่วงปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านเข้ามารับผิดชอบงานแล้ว เป็นจำนวนถึง 5 ราย แต่พื้นที่โครงการก็ยังไม่สามารถใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้แต่อย่างใด ซึ่งทางเพจได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า โครงการฯ นี้ ปัจจุบันมีสภาพเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อาคารสิ่งก่อสร้างมีการชำรุด เป็นสถานที่มั่วสุ่มของวัยรุ่นในพื้นที่ อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาดำรงถึง 5 รายนั้น ก็ไม่เคยมีการตั้งคณะทำงานสำรวจพื้นที่ ทั้งที่งานโครงการมีปัญหาเกิดขึ้นหลายส่วน รวมถึงการไม่ได้มีการส่งมอบที่ดินให้ท้องถิ่นด้วย (ดูภาพประกอบ)
จากกรณีดังกล่าว นายชัยวัฒน์ แสงศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ได้เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สั้นๆ ระบุว่าต้องลงพื้นที่ และประชุมหารือกับทุกฝ่ายในวันที่ 18 ส.ค.ก่อน
@ นายชัยวัฒน์ แสงศรี
ล่าสุดผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยังนายชัยวัฒน์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อสอบถามความคืบหน้าในการประชุมวันที่ 18 ส.ค.
โดยนายชัยวัฒน์กล่าวว่าผลการประชุมเมื่อวันที่ 18 ส.ค. นั้นได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาตามที่ทางคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เขาออกมา แบ่งออกเป็นสามระยะ
โดยในระยะแรก ซึ่งเนั้นทางจังหวัดก็รับปากว่าจะไปจัดการให้มันเรียบร้อย สามารถใช้ประโยชน์ได้ในเบื้องต้นก่อน เพราะตอนนี้โครงการสะสมไว้นาน หลังจากใช้ประโยชน์ได้ระยะหนึ่งมันก็มีข้อจำกัดเรื่องการถ่ายโอน ไม่สามารถหาคนรับผิดชอบที่ชัดเจนได้ ดังนั้นจังหวัดก็ต้องมีการระดมผู้มีส่วนทุกหน่วยตั้งแต่เจ้าของโครงการ ท้องถิ่น อำเภอ ต้องมีการไปปรับพื้นที่เพื่อให้สามารถใช้ได้ ส่วที่หลายฝ่ายสะท้อนว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงก็ต้องมีการจัดการเช่นกัน
ขณะที่ในระยะกลางก็จะเป็นการเข้าสู่ระบบว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะปรับปรุงพัฒนาในส่วนที่มันเสียหายไป โดยทางโยธาธิการจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องเดิมก็จะเป็นคนไปดำเนินการตรวจสอบ และจะใช้งบประมาณบางส่วนของกลุ่มจังหวัดที่เป็นงบเหลือจ่ายในการดำเนินการ
ส่วนระยะที่สามหรือระยะยาวก็จะเป็นเรื่องการถ่ายโอน ซึ่งตอนเริ่มต้นนั้นมันก็มีบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ระหว่างทางท้องถิ่นกับทางจังหวัด ซึ่งเขาคุยกันในยุคนั้นแล้วว่าหลังจากที่ทางจังหวัดซึ่งสามารถงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดมาพัฒนาแล้ว ท้องถิ่นก็จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งตรงนี้มันต้องมีการกระบวนการถ่ายโอน แต่ว่าก่อนที่จะมีการถ่ายโอนก็ต้องมีการพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานเดิมก่อน ส่วนอะไรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ต้องมีการดำเนินการให้เรียบร้อยเช่นการขอใช้ที่ต่างๆ
"เทศบาลตาดทองเขาก็มีการขออนุญาตปรับใช้ที่ดินต่อเนื่องอยู่แล้วประมาณ 80 กว่าไร่ ซึ่งเขาก็กำลังดำเนินการอยู่ในเรื่องของการขอปรับใช้ที่ดิน โดยในตอนที่เขาขอใช้นั้นเขามีงบประมาณในปี 2562 ที่จะพัฒนาเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัด แต่เนื่องจากว่ามันยังไม่สมบูรณ์ ต้องมีการจัดทำเอกสารเพิ่มเติม ส่งผลทำให้งบส่วนนั้นมันเลยพับตกไป แต่เขาก็มีแผนที่จะทำต่ออยู่ ก็เป็นโครงการพัฒนาระยะยาว"นายชัยวัฒน์กล่าววและกล่าวต่อว่าทั้งหมดนี้ก็คือข้อสรุปในการประชุมกับทาง ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราได้สอบถามว่าก่อนหน้านี้ทางห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) จั่วเซ้งยโสธร ได้ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่างานของเขาเสร็จแล้ว แต่เหมือนกับว่าเทศบาลได้เอาไปทำต่อ
นายชัยวัฒน์กล่าวว่าขั้นตอนของ หจก.จั่วเซ้งฯนั้นจบแล้ว เพราะว่ามันมีการส่งมอบงาน เบิกจ่าย เป็นไปตามแบบรูปมาตรฐานในกระบวนการจัดซื้อสัญญา เขาไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องของการดำเนินการหลังจากส่งมอบงานไปแล้ว
เมื่อถามว่าคำว่าที่บอกว่าเทศบาลเอาไปทำต่อ นั้นหมายความว่าที่่ผ่านมามีการลงงบไปกับโครงการนี้มากกว่า 24.5 ล้านบาทใช่หรือไม่
นายชัยวัฒน์กล่าวว่าตอนนั้น เทศบาลรับไปในเชิงพฤตินัย เพราะพอสร้างเสร็จ มันอยู่ในระหว่างกระบวนการส่งมอบ
"คือราชการนั้นมันมีกฎระเบียบ ข้อจำกัดบางอย่างที่ติดขัดมากกว่าจะออกมาได้ ผมทราบมาจากนายกเทศบาลคนปัจจุบันและจากผู้อำนวยการกองช่างที่อยู่ต่อเนื่องตั้งแต่ที่มีการอนุมัติโครงการว่ามันติดอะไร ซึ่งตอนนั้นเขาก็รับว่าจะมีการจัดบุคลากรเข้ามาช่วยดู ช่วยตรวจสอบ และบำรุงรักษาในช่วงต้น ซึ่งตามที่เรียนว่างบเขาก็มีแล้ว แต่ว่ากระบวนการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่มันยังไม่เสร็จ งบมันเลยพับไป ก็ตกไป"นายชัยวัฒน์กล่าวและกล่าวต่อว่าก็คือหลังจากการส่งมอบงานมูลค่า 24.5 ล้านบาทผ่านพ้นไป ก็ยังไม่มีการลงงบใดๆกับโครงการนี้อีกเลย
รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรกล่าวต่อว่าเท่าที่ตรวจสอบนั้นยืนยันได้ว่ายังไม่มีการจ้างหน่วยงาน บริษัทเอกชนรายอื่นให้เข้ามาดูแลตรงนี้แต่อย่างใด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากว่าเรื่องที่มันยังไม่เรียบร้อย งบประมาณมันก็เลยพับไป ซึ่งอันที่จริงตอนนั้นก็มีการจ้างที่ปรึกษาฝ่ายโยธาธิการเขามาช่วยออกแบบไว้แล้วว่าจะทำอะไร มีการวางกรอบ ทำเรื่องของบ แต่ว่าเรื่องพื้นที่มันไม่ทันเวลาก็เลยตกไป
นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่าในเรื่องของการขอใช้หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) นั้นค่อนข้างจะมีความเกี่ยวโยงไปยังหลายหน่วยงานราชการมาก เช่นหน่วยงานป่าไม้,ที่ดิน,ประมง และการท่า จังหวัดแทบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย ซึ่งนี่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากที่สัมภาษณ์นายชัยวัฒน์ ก็ได้มีการติดต่อไปยังนายสุทธิพงศ์ เวชกามา นายกเทศมนตรีตำบลตาดทอง โดยนายสุทธิพงศ์ได้ชี้แจงถึงสำนักข่าวอิศราถึงปัญหาว่าทำไมเทศบาลถึงยังไม่รับมอบ
โดยกล่าวว่าตั้งแต่สมัยก่อนในช่วงปี 2562 สภาเทศบาลเขาบอกว่าเขายินดีที่จะรับมอบ แต่ว่าเขามีเงื่อนไขว่าให้ซ่อมให้เสร็จให้เรียบร้อยก่อน เขาถึงจะรับ ซึ่งตอนนี้เขาก็ยังมีเงื่อนไขเดิมก็คือยังรับมอบไม่ได้
เมื่อถามว่าที่บอกว่าต้องซ่อมให้เรียบร้อย แสดงว่างานของ หจก.จั่วเซ้งฯ นั้นมีปัญหาหรือไม่ ถึงต้องซ่อม นายสุทธิพงศ์กล่าวว่ามันเกี่ยวกับระเบียบการสร้าง พื้นที่มันเป็นของสาธารณะ เขาเลยไปสร้างก่อน มันเลยผิดระเบียบ ผิดกฎหมายก็เลยยังส่งมอบไม่ได้ กว่าจะแก้ไขระเบียบจนส่งมอบได้ โครงการมันก็มีการชำรุดไปแล้ว ทางสภาเขาก็เลยบอกให้ซ่อมให้เรียบร้อยก่อน จนถึงสมัยนี้ก็ยังไม่ได้ซ่อม
นายสุทธิพงศ์กล่าวต่อว่ามาจนถึงขั้นนี้แล้วมันก็สามารถเข้าสู่กระบวนการซ่อมได้แล้ว โดยจากการหารือเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา รับทราบว่าช่วงแรกนั้นก็คงจะเป็นการให้อำเภอเมือง ทางท้องที่ ท้องถิ่น คุยกันว่าจะต้องมีการหายามมาดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายในโครงการอีก
ขั้นต่อไปก็จะมีการของบจากจังหวัดเพิ่มเติมอีก ซึ่งคงจะเป็นงบเหลือจ่าย 2567 เพราะว่างบปี 2566 มันจะหมดช่วงเวลาไปแล้ว เหลือแค่เดือนเดียว ก็ต้องรอ โดยงบซ่อมบำรุงดังกล่าวนี้ก็จะอยู่ที่ประมาณห้าล้านบาท หลังจากนั้นเรื่องในอนาคตก็คงเป็นการมอบหมายต่อว่าจะเป็นจังหวัดหรือท้องที่มาช่วยดูแลอย่างไร
นายสุทธิพงศ์กล่าวทิ้งท้ายว่าทาง หจก.จั่วเซ้งฯ นั้นไม่ได้มีการทำอะไรที่ผิดสัญญาแต่อย่างใด เพราะมีการตรวจรับงานกันเรียบร้อย แต่ปัญหาที่มีก็คือเรื่องพื้นที่กันมากกว่า
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกันประกอบ
- แฉโครงการลำทวนฝั่งซ้าย 24 ล. ผ่านมา 5 ผู้ว่าฯ ยังไร้ปย. ยโสธรโมเดล 'คิด ทำ ทิ้ง'
- พังทุกจุด! เปิดปฏิบัติการ ป.ป.ช.ภาค 4 สอบงานภูมิทัศน์-เสาไฟพญานาค เบรกผลาญงบใหม่ 40 ล.
- ป.ป.ช.ลุยสอบ หอนาฬิกา 9.9 ล้าน อบจ.สกลนคร - สร้างไม่เสร็จถูกทิ้งร้าง
- ใช้งานไม่ได้-ทิ้งร้าง! ป.ป.ช.แม่ฮ่องสอนลุยตรวจอีก 3 จุดโซล่าร์เซลล์ กอ.รมน.ภ 3
- สะพานคอนกรีต จ.สุราษฎร์ฯ ถูกทิ้งร้าง ไม่รู้หน่วยงานไหนสร้าง ทำลายป่าโกงกาง
- เจอขโมยตัดสายไฟไปขาย! ป.ป.ช.ปัตตานี ลุยตรวจเสา High-Mast ทิ้งร้าง-จี้เทศบาลฯ แก้ไข