"...เสาไฟฟ้าประติมากรรมพญานาค จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันพังทุกจุดไม่สามารถใช้งานได้ สำหรับสภาพบริเวณโดยรอบโครงการถูกปล่อยทิ้งร้าง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการของบประมาณของหน่วยงานมาใช้ในการดำเนินงานโครงการ ที่ขาดการวางแผนที่ดี ที่สำคัญเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีแผนงานจะส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแล แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะท้องถิ่นเห็นว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับโครงการด้วย ทั้งเรื่องการคิดโครงการฯ หรือการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมีโครงการในพื้นที่หลายจังหวัดที่มีลักษณะปัญหาแบบนี้ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ไม่คุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชน..."
1. หลังก่อสร้างเสร็จ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.มุกดาหาร ได้ส่งมอบพื้นที่ให้จังหวัดเพื่อส่งต่อให้ท้องถิ่นในพื้นที่ แต่ท้องถิ่นยังไม่ได้รับมอบ
2. ต่อมาเกิดพายุโมดุลทำให้งานโครงการเกิดความเสียหาย
3. การแก้ไขปัญหา จะมีการของบประมาณปรับปรุง ซึ่งได้รับงบประมาณปี 2565 ถึง 2567 เป็นเงิน 40 ล้านบาท ถ้าดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 67 ก็จะได้ส่งมอบให้กับจังหวัดเพื่อจะได้ส่งมอบให้ท้องถิ่นต่อไป
คือ บทสรุปคำชี้แจงของ นายวินัย สีเที่ยงธรรม รักษาการโยธาธิการและผังเมือง จ.มุกดาหาร เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างฝายชะลอน้ำ ห้วยแข้ มุกดาหาร ซึ่งเป็นจุดที่ตั้ง เสาไฟฟ้าประติมากรรม “พญานาค” ที่ปรากฏเป็นข่าวถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนก่อนหน้านี้
หลังจากเ มื่อวันที่ 24 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา นายวินัย สีเที่ยงธรรม รักษาการโยธาธิการและผังเมือง จ.มุกดาหาร ได้ร่วมคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ประจำ จ.มุกดาหาร นำโดยนายอนุชา พึ่งบุญศรี ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.มุกดาหาร ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการดำเนินงานโครงการฯ นี้ เป็นทางการ
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากทีมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ถึงที่มาที่ไปการดำเนินงานโครงการฯ และผลการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้นว่า โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์โครงการดังกล่าว เป็นงบโครงการพัฒนาจังหวัดปี 2559 ประกอบด้วย ฝาย ศาลาที่พัก ถนน เสาไฟฟ้าประติมากรรมพญานาค ถังเก็บน้ำ และกังหันสูบน้ำเก็บในถัง งบประมาณทั้งสิ้น 29 ล้านบาท
ส่วนเสาไฟฟ้าประติมากรรมพญานาค จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันพังทุกจุดไม่สามารถใช้งานได้
สำหรับสภาพบริเวณโดยรอบโครงการถูกปล่อยทิ้งร้าง สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการของบประมาณของหน่วยงานมาใช้ในการดำเนินงานโครงการ ที่ขาดการวางแผนที่ดี ที่สำคัญเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว จะมีแผนงานจะส่งมอบให้ท้องถิ่นดูแล แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะท้องถิ่นเห็นว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับโครงการด้วย ทั้งเรื่องการคิดโครงการฯ หรือการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งมีโครงการในพื้นที่หลายจังหวัดที่มีลักษณะปัญหาแบบนี้ ทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ไม่คุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
สอดคล้องกับข้อมูลของ นายอนุชา พึ่งบุญศรี ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.มุกดาหาร ที่ให้ต่อสื่อมวลชนว่า จากการตรวจสอบพื้นที่และสภาพของโครงการที่ก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินจากภาษีของประชาชน สะท้อนถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานราชการไม่รู้สึกหวงแหนเสียดายสิ่งที่รัฐลงทุนสร้าง เมื่อเสร็จก็ปล่อยให้ชาวบ้านดูแลกันเองแบบตามเหมาะสม ผู้เกี่ยวข้องไร้ความรับผิดชอบไม่เสริมเติมต่องานให้เรียบร้อย เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเหตุใดถึงไม่มีผู้ใดคิดได้เลย
"ก่อนของบประมาณแผ่นดินมาทำโครงการควรจะต้องมีคำตอบรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อนว่า จะรับช่วงดูแลต่อหรือไม่อย่างไร จะได้ไม่ต้องมาอ้างว่าก่อสร้างเสร็จแต่ไม่มีหน่วยงานใดมารองรับไปดูแลบำรุงรักษา เป็นความผิดของใคร ประชาชนจะต้องถามหาจากหน่วยงานใด” (ดูภาพการลงพื้นที่ ป.ป.ช.ประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ นี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง ใช้งบประมาณปี 2559 กำหนดวงเงินงบประมาณและราคากลางเท่ากัน คือ 8,315,100 บาท
ปรากฏชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.เอ็นจิเนียร์คอนกรีต เป็นผู้รับจ้าง วงเงินตามสัญญา 7,100,000 บาท ทำสัญญาว่าจ้างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคา 2559 สถานะโครงการปัจจุบัน ส่งมอบงานครบถ้วน มีเอกชนเข้ายื่นซอง จำนวน 3 ราย คือ บริษัท นำสมัยนครพนม (1998) จำกัด , บริษัท วัชระชัยนครพนมก่อสร้าง จำกัด , ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.เอ็นจิเนียร์คอนกรีต
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่ปรากฏข้อมูลว่าโครงการฯ นี้ ถูกร้องเรียนปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดซื้อจ้างแต่อย่างใด
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ หรือจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปแล้ว
แต่ทาง ป.ป.ช.ภาค 4 มีความเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้ ไม่เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ควรนำงบประมาณไปพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่อื่น ที่มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า
ส่วนการของบประมาณก้อนใหม่จำนวนหลายสิบล้านมาดำเนินการ แต่ถ้าไม่มีการวางแผนงานที่ดีอีกไม่ช้า พื้นที่แห่งนี้ก็คงจะถูกปล่อยทิ้งร้าง เงินงบประมาณก็จะสูญเปล่าอีกเหมือนเดิม
ผลการแก้ไขปัญหาโครงการฯ หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป