กรมการแพทย์ออกบันทึกข้อความถึง ผอ.รพ.ในสังกัดเตรียมพร้อมรับมือผู้ป่วยโควิดที่จะเพิ่มมากขึ้น ด้าน 'หมอมนูญ' แนะเลื่อนการปรับเป็นโรคประจำถิ่นจนกว่าสถานการณ์คลี่คลายจะดีกว่า ชี้แม้ฉีดเข็ม 5 ตอนนี้ก็เสี่ยงติด แค่ไม่ตายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรระศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ส่งบันทึกข้อความ ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาล/สถาบัน สังกัดกรมการแพทย์ เรื่อง ข้อสั่งการการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด- 19 ในโรงพยาบาล/ สถาบันสังกัดกรมการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผู้ป่วยโควิดที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยระบุว่า
ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเตรียมพร้อมในการให้บริการและระมัดระวังในการป้องกันการติดเชื้อ กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การเตรียมระบบส่งต่อ รวมทั้งการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้การบริหารจัดการโควิด-19 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
กรมการแพทย์ มีข้อสั่งการดังต่อไปนี้
-
ขอให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติตามวิธีป้องกันการติดเชื้อ (universal prevention) ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ เว้นระยะห่างหรืองดการรวมกลุ่มโดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้มารับบริการและญาติสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มารับบริการ
-
ขอให้สำรวจการได้รับวัคชีนโควิด-19 ของบุคลากรในหน่วยงาน หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือน แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคน โดยขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ขอให้สอบถามประวัติการได้รับวัคซึนของผู้ที่มารับบริการและญาติพร้อมแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มต่อไปด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา นพ.มนูญ ลีเชวงแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า
วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ไทยกำลังก้าวเข้าสู่การพ้นการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ไวรัสโควิด-19) เป็นโรคประจำถิ่นตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจริงหรือ ถ้าจะเลื่อนวันประกาศไปอีกสักพักจนสถานการณ์คลี่คลายกว่านี้ก็น่าจะดี ทุกโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้รับคนไข้โรคโควิดเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลวิชัยยุทธต้องกลับมาเปิดหอผู้ป่วยโควิดเพิ่มอีก 1 วอร์ด หลังจากที่เคยปิดไปแล้ว ผู้ป่วยที่รับมาการรักษาส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้
ขอให้ทุกคนกลับไประมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และพิจารณาว่าถึงเวลาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือยัง
ผมเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ต้องระมัดระวังตัวเอง ไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนไข้ซึ่งอ่อนแอและมีโรคประจำตัวหลายโรค ผมได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม รวมทั้งหมด 4 เข็ม เข็มสุดท้ายปลายเดือนพฤศจิกายน 2564
เดือนมกราคม 2565 ผมตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีในเลือด SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) สูงกว่า 40,000 ซึ่งถือว่าระดับสูงมาก วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ผมตรวจภูมิคุ้มกันแอนติบอดีล่าสุด SARS-CoV2 IgG (Anti Spike) ลดลงเหลือ 7,418 เป็นธรรมชาติที่ภูมิคุ้มกันแอนติบอดีในเลือดจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ เดือน
ผมจึงตัดสินใจฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้นอีก 1 เข็ม เป็นเข็มที่ 5 และจะไม่ฉีดวัคซีนรุ่นปัจจุบันต่อจากนี้ จะรอวัคซีนป้องกันโรคโควิดรุ่นใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม อาจจะมาปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทุกคนต้องยอมรับความจริงว่า ต่อให้ฉีดวัคซีน 5 เข็มก็ต้องระวังตัวเพราะยังมีโอกาสติดเชื้อ แต่จะช่วยลดอาการไม่ให้ป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้