‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ค้าน ‘ชัชชาติ’ ประกาศเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ 59 บาทตลอดสาย ซ้ำเติมผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤติน้ำมันแพง เสนอกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ในช่วงที่ยังไม่มีต่อสัมปทาน
...................................
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดแถลงข่าวคัดค้านกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท เนื่องจากเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภค โดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สอบ. ไม่เห็นด้วยกับการที่ กทม.จะกำหนดเพดานค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตรา 59 บาท เนื่องจากสร้างภาระให้กับผู้บริโภค ขณะที่ค่าโดยสารไป-กลับดังกล่าวจะคิดเป็น 36% ของค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ
“เราคาดหวังว่าผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่มาร่วมงาน ‘ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.กับสภาองค์กรของผู้บริโภค’ ซึ่งมีจุดยืนที่ตรงกัน คือ ไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเราเห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าไปถึงช่วงคูคต แต่สิ่งที่เห็นต่างกัน คือ การกำหนดเพดานราคาที่ 59 บาท เพราะทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายถึง 118 บาท/วัน ซึ่งหมายความว่าหากใครได้ค่าแรงขั้นต่ำที่ 331 บาท/วัน จะต้องใช้เงินในการขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเดียว 36% ของค่าจ้างแล้ว
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะขึ้นรถไฟฟ้าได้ ซึ่งสิ่งที่เราอยากเห็น คือ ราคาที่ถูกลง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปรอนสิทธิ์ของผู้รับสัมปทาน เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอยู่ในอายุสัญญาสัมปทาน สิ่งที่ สอบ.ไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ เมื่อยังไม่มีการต่อสัญญาสัมปทาน ผู้บริโภคควรจ่ายราคาสูงสุดที่ 44 บาท ซึ่งเท่ากับหรือใกล้เคียงกับสายอื่นๆ สายสีเขียวจึงไม่ควรมีอภิสิทธิ์ที่จะได้ราคาสูงสุดที่ 59 บาท” น.ส.สารี กล่าว
นอกจากนี้ จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมพบว่า หากมีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าสูงสุดจะอยู่ที่ 49.83 บาท ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการต่อสัญญาอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรจะถูกกว่า 49 บาท ไม่ใช่ค่าโดยสาร 59 บาท และ สอบ.เองมั่นใจว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 25 บาทตลอดสาย เป็นราคาที่ทำได้จริง และกรุงเทพฯยังมีกำไรสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท
น.ส.สารี กล่าวด้วยว่า จากวิกฤติราคาพลังงานและราคาน้ำมันแพง ซึ่งทำให้คนใช้รถส่วนตัวมีแนวโน้มลดลง กทม.ควรจะมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น เช่น ที่เยอรมนีมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 330 บาท/เดือน ไม่ใช่ 118 บาท/วัน เหมือนที่กรุงเทพฯกำลังจะทำ
“สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศว่า เห็นชอบข้อเสนอราคา 59 บาทนั้น เป็นสิ่งที่พวกเราผิดหวังมากและขอคัดค้าน โดยเราขอให้ใช้ราคาสูงสุดไม่เกิน 44 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าทุกเส้น รวมทั้งอยากให้ผู้ว่าฯเอาตั๋วเดือนกลับมา เพื่อทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกวันจริงๆ และจากสถานการณ์ข้าวของที่แพงขึ้นในปัจจุบัน เราเห็นว่า กทม.ควรลดค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค รวมถึงอยากให้ผู้ว่าฯเปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย” น.ส.สารี กล่าว
นอกจากนี้ สอบ.ได้ออกแถลงการณ์ว่า จากการที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรงเทพมหานคร เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2565 ถึงเรื่องกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายไม่เกิน 59 บาท รวมถึงส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และห้าแยกลาดพร้าว-คูคต โดยอ้างอิงถึงข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นั้น
สภาองค์กรของผู้บริโภคขอคัดค้านการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังกล่าว เนื่องจากราคา 59บาท จะทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากในกรุงเทพฯหมดโอกาสใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ต้องหันมาพึ่งรถโดยสารสาธารณะที่ก่อให้เกิดปัญหาจราจร มลพิษทางอากาศ สภาวะความเครียดจากการใช้เวลาบนท้องถนน ในสภาวะค่าครองชีพพุ่งสูง สะท้อนทัศนะที่ไม่มองบริการรถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนหรือเป็นบริการสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค
ข้อเสนอที่สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานครเสนอมาอย่างต่อเนื่อง คือ ราคาที่เหมาะสมกับค่าครองชีพและทำให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มรายได้สามารถใช้บริการได้อยู่ที่ 25 บาทตลอดสาย ซึ่งสามารถทำได้จริง โดยอ้างอิงข้อมูลค่าจ้างเดินรถ และต้นทุนค่าโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่ประมาณ 15-16 บาทอีกทั้งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลรายได้ของบีทีเอสและกลุ่มบริษัทย้อนหลัง จะพบว่าในปี 2562-2563 บริษัทมีกำไรถึง 8,817 ล้านบาท จึงเห็นว่าการกำหนดราค่ารถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสายสามารถดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับบริษัทบีทีเอสในปี 2572 ควรกำหนดราคาค่าโดยสารไม่เกิน 44 บาท รวมส่วนต่อขยายจากหมอชิต-คูคต และอ่อนนุช–เคหะสมุทรปราการ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราสูงสุดของรถไฟฟ้าสีต่างๆ ในปัจจุบัน และเป็นไปตามสิทธิของสัญญาสัมปทานของบริษัทบีทีเอส
โดยที่ผ่านสภาองค์กรของผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอดังกล่าวถึงคณะรัฐมนตรีและเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับข้อเสนอของ กระทรวงคมนาคม ที่เสนอให้ กทม. กำหนดค่าโดยสารไว้เพียง 49.83 บาท ดังนั้น การกำหนดราคา 59 บาทจึงขัดแย้งกับข้อเสนอเดิมของกระทรวงคมนาคม และขัดแย้งกับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ให้กำหนดราคา 25 บาทตลอดสาย หลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 และราคา 44 บาทตลอดสาย ระหว่างยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน 2572
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนโดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยมีความคาดหวังต่อผู้ว่ากทม. ในการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยราคาสูงสุดควรจะใกล้เคียงกับค่าโดยสารตลอดสายของเส้นทางรถไฟฟ้าสีอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อส่วนต่อขยายของสายสีเขียวเป็นการลงทุนโดยรัฐทั้งสิ้นเพื่อความโปร่งใส
สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครพิจารณาราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ในราคา 44 บาทก่อนหมดสัมปทานปี 2572 และราคา 25 บาท ตลอดสายหลังจากหมดอายุสัมปทาน ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมที่ประชาชนทุกคนใช้รถไฟฟ้าได้ทุกวัน
สภาองค์กรของผู้บริโภค อยากเรียกร้องให้ผู้ว่ากรุงเทพมหานครเปิดเผยสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อประชาชนรับรู้และร่วมกันหาทางออกเพื่อสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในต่างประเทศได้มีการกระตุ้นให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนหรือขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาภาวะราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น กรุงเทพมหานครก็ควรสร้างแรงจูงใจให้ชาวกรุงเทพฯหันมาใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการใช้ราคาเป็นปัจจัยกระตุ้น และในขณะเดียว ก็ควรเร่งสนับสนุนการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสีกับบริการสาธารณะประเภทอื่นๆ เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
“เมื่อไม่มีราคาและความสะดวกเป็นแรงจูงใจ ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีประชาชนใช้บริการเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น กรุงเทพมหานครจึงควรกระตุ้นให้ประชาชนนิยมใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงานฟอสซิล ลดปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของผู้ว่า กทม.คนปัจจุบัน” แถลงการณ์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 ระบุ