‘อดีตปลัดพลังงาน-เอกชน’ ค้านรัฐดึงกำไร ‘โรงกลั่น’ อุดหนุนราคาน้ำมัน หวั่นกระทบเชื่อมั่น แนะรอเงินปันผลระหว่างกาล ‘โรงกลั่นฯ ปตท.’ เพื่อนำมาอุ้มราคาน้ำมันจะดีกว่า พร้อมเสนอลดส่วนผสมไบโอดีเซล ‘บี100’ ระบุช่วยทำให้ ‘ดีเซล’ ถูกลงได้
.........................................
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ชมรมวิทยาการพลังงาน (ชวพน.) จัดงานเสวนาวิชาการ ‘ความจริง…ค่าการกลั่น’ โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) กล่าวตอนหนึ่งว่า ค่าการกลั่น (Gross Refining Margin : GRM) ไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นน้ำมันฯ และโรงกลั่นน้ำมันฯแต่ละแห่งก็มีค่าการกลั่นไม่เหมือนกัน เพราะประสิทธิภาพของโรงกลั่นฯแตกต่างกัน
“ค่าการกลั่น หมายถึงต้นทุนน้ำมันดิบทุกชนิดที่โรงกลั่นฯซื้อมาในเวลาหนึ่งแล้วนำมาถ่วงน้ำหนัก เมื่อนำมากลั่นเป็นน้ำมันสุก หรือเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทต่างๆ แล้วเอาราคามาคูณปริมาณน้ำมันแต่ละชนิดที่กลั่นได้ ซึ่งส่วนต่างอันนั้น เรียกว่า GRM และด้วยความที่โรงกลั่นแต่ละโรงตั้งมาไม่พร้อมกัน เทคโนโลยีก็ต่างกัน เหมือนรถยนต์ที่กินน้ำมันไม่เท่ากัน GRM จึงเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของโรงกลั่นฯที่จะไปสู้กับตลาด แต่ไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นฯ” นายคุรุจิต ระบุ
นายคุรุจิต กล่าวต่อว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หรือหลังจากรัสเซียบุกยูเครน ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก และเกิดการขาดแคลนน้ำมันดีเซลในบางช่วง เนื่องจากจีนปิดประเทศ ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันดีเซลที่ตลาดสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบบางชนิดแตกต่างกันมาก ซึ่งหากราคามีส่วนต่างกัน 20 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็จะคิดเป็นส่วนต่างเท่ากับลิตรละ 5 บาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคนเอาช่วงที่น้ำมันดีเซลแพงที่สุดไปเทียบกับราคาน้ำมันดิบตอนนี้ แล้วบอกว่าราคาต่างกันลิตรละ 8-10 บาท แล้วไปอนุมานว่า โรงกลั่นน้ำมันฯฟันกำไรค่าการกลั่นเกินไปหรือไม่ ทั้งๆที่ค่าการกลั่น (GRM) ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนกำไรของโรงกลั่นเสมอไป
“ถ้าคุณเป็นกรรมการบริษัทโรงกลั่นฯ แล้วไปถามซีอีโอว่า จะเอาหลักการอะไรไปให้ความร่วมมือ (กับรัฐบาล) เพราะผมยังไม่รู้ว่าปีนี้ทั้งปีจะกำไรหรือเปล่า ถ้าเกิดครึ่งปีหลัง สงครามยุติ และราคากลับสู่ปกติ หรือถ้าแย่กว่านั้น มีโรคระบาดใหม่มา ทุกคนล็อกดาวน์ ดีมานด์หายไปเหมือนปี 2563 เมื่อถึงตอนนั้น ผมร่วมมือไปแล้ว แล้วผมขาดทุน ถามว่าผมจะไปขอความร่วมมือคืนได้ไหม มันก็ไม่ได้ แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่า ค่าการกลั่นที่ได้เยอะจะเปลี่ยนเป็นกำไรได้มาก” นายคุรุจิตกล่าว
นายคุรุจิต ยังระบุว่า การรัฐบาลไปขอส่วนแบ่งกำไรจากโรงกลั่นฯ จะทำให้โรงกลั่นฯต้องปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่ หรือบางแห่งอาจต้องลดกำลังการกลั่นลง หรือเปลี่ยนไปกลั่นเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่เป็นปิโตรเคมี หรือกลั่นเป็นน้ำมันเพื่อส่งออก ซึ่งถ้ารัฐบาลกดปุ่มแรงเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำมันได้
“ทุกคนเดือดร้อนหมด เมื่อโควิดมาใหม่ ช่วงล็อกดาวน์ เติมน้ำมัน 1,000 บาท ก็เต็มถังแล้ว เดี๋ยวนี้ 2,000 บาทยังไม่เต็มถัง คนก็รู้สึกเดือดร้อน เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ซึ่งรัฐบาลเองก็ทำทุกอย่างจนกระเป๋าฉีกแล้ว และกองทุนน้ำมันฯก็ติดลบถึง 9.5 หมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งวิกฤตินี้ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และบ้านเราเอง เราจงใจทำให้ดีเซลถูกกว่าเบนซิน ทั้งๆที่ในตลาดโลกดีเซลจะแพงกว่าเบนซิน มันถึงขาดทุนกันอย่างนี้” นายคุรุจิต กล่าว
นายคุรุจิต เสนอว่า ทางออกในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงนั้น สิ่งแรกเลยรัฐบาลต้องไม่ทำให้น้ำมันขาดแคลน และพยายามบรรเทาผลกระทบ โดยช่วยเหลือกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุดก่อน เช่น หาบเร่แผงลอย คนมีรายได้น้อย และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น ไม่ใช่การช่วยเหลือโดยการอุ้มราคาน้ำมันแบบเหวี่ยงแห ซึ่งทำให้คนที่มีรถมากหรือคนที่ขับรถเบนซ์ที่ใช้ดีเซล ได้เปรียบคนที่ขับขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง รวมทั้งขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกับประหยัดน้ำมันและไฟฟ้า
ด้าน นายเจน นำชัยศิริ สมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงกำไรของโรงกลั่นน้ำมันฯ จะต้องทำความเข้าใจเรื่องค่าการกลั่นก่อน ซึ่งค่าการกลั่น (GRM) นั้น ไม่มีใครบอกว่า ณ วันนี้ค่าการกลั่นจะเท่าไหร่ เพราะต้องเอาผลของทั้งเดือนมาคำนวณ และโรงกลั่นฯเองก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าการกลั่นได้ เพราะค่าการกลั่นจะมาจากสูตรที่ภาครัฐกำหนดขึ้น
“รัฐบาลบอกว่าให้ใช้สูตรนี้อ้างอิง คุณต้องขายที่ราคานี้ โรงกลั่นฯก็อ้างอิงตามราคานี้ อาจจะมีมากบ้างน้อยมาก เพราะแต่ละโรงกลั่นฯมีต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ถ้ามีคนบอกว่าตอนนี้มาร์จิ้นสูงมาก กำไรดีมากเลย คำถามคือ เขาเอาตัวเลขอะไรมาพูด เพราะถ้าเอาน้ำมันเบนซินเทียบกับราคาน้ำมันดิบ แล้วบอกว่าอันนี้เป็นค่าการกลั่น ก็คงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เนื่องจากน้ำมันดิบไม่สามารถกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินได้ทั้งหมด และความจริงก็เป็นไปไม่ได้” นายเจน กล่าว
นายเจน ระบุว่า ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่เผยแพร่ทุกวัน พบว่าในช่วงวันที่ 1-24 มิ.ย.2565 ค่าการกลั่น (GRM) อยู่ที่ลิตรละกว่า 6 บาท ขณะที่ค่าเฉลี่ยของปี 2565 อยู่ที่ลิตรละประมาณ 3 บาท ซึ่งสูงขึ้นจริง เทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2563 ที่อยู่ที่ลิตรละ 0.7 บาท และค่าเฉลี่ยในปี 2564 อยู่ที่ลิตรละ 0.89 บาท แต่ค่าการกลั่นก็ไม่ได้สูงขึ้นเป็นลิตรละ 8 บาท ตามที่มีการกล่าวอ้างกัน จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องอธิบายตรงนี้ด้วย
“แน่นอนโรงกลั่นได้ประโยชน์ แม้ว่าจะไม่เต็มลิตรละ 6 บาท หรือ 8 บาท แล้วถ้ารัฐจะไปล้วงเขากลับมา ก็จะมีคำถามว่าในช่วงที่เขาเสีย ตรงนั้นทำอย่างไร” นายเจน กล่าว
นายเจน เสนอแนวทางลดราคาน้ำมันขายปลีก ว่า ปัจจุบันราคาเอเทนอลที่นำมาผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลิตรละ 26.49 บาท ซึ่งถูกว่าราคาเนื้อน้ำมันเบนซิน (ULG) ที่อยู่ที่ลิตรละ 34 บาท ดังนั้น หากผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นราคาเบนซินก็ถูกลง และหากลดค่าการตลาดลง ซึ่งปัจจุบันแก๊สโซฮอล์ E20 ค่าการตลาดอยู่ที่ลิตรละ 4 บาทกว่า ราคาแก๊สโซฮอล์ E20 จะลดลงได้อีก และกองทุนน้ำมันฯไม่ต้องไปชดเชย จากปัจจุบันที่กองทุนฯชดเชยลิตรละ 0.82 บาท
ส่วนกรณีน้ำมันดีเซลนั้น ปัจจุบันราคาไบโอดีเซล บี100 ลิตรละ 56.13 บาท ยิ่งนำไบโอดีเซลไปผสมในน้ำมันดีเซลมากเท่าไหร่ราคาจะยิ่งแพง ดังนั้น ในช่วงนี้ให้ลดส่วนผสมของไบโอดีเซลเป็นศูนย์ได้หรือไม่ หรือลดลงเหลือ 2-3% ได้หรือไม่ ขณะที่แนวทางนี้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มเดือดร้อน เพราะราคาปาล์มมีราคาสูงและส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปยุ่งกับค่าการกลั่นแต่อย่างใด
“ที่รัฐบาลทำอย่างนี้ ไปยุ่งกับค่าการกลั่น มันผิดกติกาหรือเปล่า ซึ่งกติกาเดิม รัฐบาลเป็นคนตั้ง แต่พอเดินๆมา แล้วมีคนหาว่าโรงกลั่นฯได้กำไรเกินไป จึงจะไปเปลี่ยนกติกา ถามว่าอย่างนี้นักเลงโตเกินไปหรือเปล่า และเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่บนหลักการที่อธิบายได้ ผมคิดว่าไม่ควรทำ ทั้งยังเป็นอันตรายด้วยซ้ำ เพราะถ้าทำไปแล้ว อีกหน่อยถ้ามีเหตุการณ์อะไรอีก เขาก็จะมองว่ารัฐจะไปล้วงกระเป๋าเขาอีกหรือเปล่า และความร่วมมือจะมาเพียงครั้งเดียว” นายเจน กล่าว
ขณะที่ นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง เพราะน้ำมันหายาก และที่บอกว่าตอนนี้โรงกลั่นฯกำไรมากนั้น ถ้าไปดูในกราฟจะพบว่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงมากในช่วงหนึ่ง จากนั้นราคาจะปรับลดลง เพียงตอนนี้ราคาน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากยังมีสงครามอยู่ แต่หากเจรจากันได้ราคาน้ำมันก็จะลดลง อย่างล่าสุดราคาน้ำมันดิบลงมาที่ประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลแล้ว
ขณะเดียวกัน เนื่องจากการกลั่นน้ำมันต้องใช้พลังงานความร้อน เมื่อราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น ต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นฯก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น ราคาวัตถุดิบ ค่าบำรุงรักษา เงินลงทุน ค่าเสื่อมต่างๆ และเงินเดือน เป็นต้น
“ที่โวยวายว่า มาร์จิ้น (โรงกลั่นน้ำมัน) สูงเกินไปแล้ว แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โรงกลั่นจุ้งเบ้งกันไปหมด ผู้ถือหุ้นร้องระเนระนาด จนในที่สุดโรงกลั่นฯต้องเอากำไรสะสมที่เก็บไว้มาจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น ถามว่าตอนนั้นเคยไปเหลียวแลเขาบ้างไหม แล้วตอนนี้มาบอกว่ามาร์จิ้นเขาเยอะ ต้องตัดลงบ้าง เอามาคืนรัฐ เพราะมันเป็นลาภลอย แต่รู้หรือไม่ว่าทุกโรงกลั่นฯไม่ได้มาร์จิ้นเยอะเหมือนๆกัน และเมื่อถึงสิ้นปีโรงกลั่นฯมีกำไรเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครรู้” นายบวร กล่าว
นายบวร กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลไปขอความร่วมมือจากโรงกลั่นให้นำกำไรบางส่วนไปอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งตนเชื่อว่าโรงกลั่นฯพร้อมให้ความร่วมมือ เพียงแต่ว่าการนำกำไรออกมาบริษัทฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น คือ การนำออกมาในรูปของเงินปันผล หรือภาษีกำไรนิติบุคคลที่ภาครัฐจะได้รับปลายปี ไม่ใช่ว่าอยู่ๆรัฐบาลไปเอากำไรของบริษัทฯเหล่านั้นมาเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล
“มีหลายวิธีที่จะดึงเงินจากโรงกลั่นฯ วิธีแรกเลย ก็ให้รัฐบางรอปันผล ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จบครึ่งปีแล้ว จากนั้นก็ให้โรงกลั่นฯที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ คือ โรงกลั่นฯในกลุ่ม ปตท. ปันผลระหว่างกาลออกมา แต่แน่ใจได้อย่างไรว่า เมื่อได้เงินปันผลมาแล้ว รัฐจะเอาไปลดราคาน้ำมันได้” นายบวร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเสวนาฯ นายเจน เสนอให้ภาครัฐทบทวนสูตรการคำนวณราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯของประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงจากราคาน้ำมันในสิงคโปร์บวกด้วย ‘ค่าขนส่ง’ ซึ่งหากภาครัฐไม่นำค่าขนส่งตรงนี้มาบวก จะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง แต่นายคุรุจิต ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า การที่ภาครัฐกำหนดสูตรคำนวณราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯ โดยบวกค่าขนส่งเข้าไปด้วยนั้น เพราะต้องการจูงใจให้มีการลงทุนสร้างโรงกลั่นในไทย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ส่วนกรณีที่นายเจน เสนอให้ลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล บี100 ในน้ำมันเบนซินเป็นศูนย์ นั้น นายบวร ได้ให้ความเห็นว่า หากทำอย่างนั้น จะส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตไบโอดีเซลบี 100 ได้ เพราะไม่รู้ว่าจะนำไบโอดีเซล บี100 ไปขายให้ใคร ภาครัฐจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
อ่านประกอบ :
‘สุพัฒนพงษ์’ คาดหารือ ‘โรงกลั่นฯ’ ดึงกำไรอุดหนุนราคาน้ำมัน ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
ครม.เคาะดึงกำไร‘โรงกลั่นฯ-โรงแยกก๊าซ’อุดหนุน‘ดีเซล'ไม่เกินลิตรละ 35 บาท-ลดราคาเบนซิน
โรงกลั่นฯโต้‘กรณ์’กล่าวหาปล้นคนไทย-ยัน‘ค่าการกลั่น’เพิ่มลิตรละ 47 สต.เทียบก่อนโควิด
‘กรณ์’ ขอบคุณ รัฐบาล ลดภาระเบนซิน 1 บาท/ลิตร เล็งชงไอเดียใหม่ก่อน ครม. เคาะสัปดาห์หน้า
เก็บภาษีลาภลอย-ตั้งเพดานค่าการกลั่น ‘กล้า’ แนะช่องทางฝ่าวิกฤติน้ำมันแพง