ครม.ไฟเขียวขอความร่วมมือ ‘โรงกลั่นน้ำมัน-โรงแยกก๊าซ’ ส่งกำไรบางส่วนเข้า ‘กองทุนน้ำมันฯ’ เพื่อนำไปอุดหนุนราคาขายปลีก ‘ดีเซล-เบนซิน’ พร้อมขยายมาตรการช่วยเหลือราคา ‘LPG-NGV’ อีก 3 เดือน
.................................
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาพลังงาน 2 ด้าน คือ มาตรการด้านพลังงาน และมาตรการด้านการคลัง รายละเอียด ดังนี้
1.มาตรการด้านพลังงาน
1.1 ขยายมาตรการที่จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย.2565 โดยขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย.2565 ได้แก่ ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาท/ถัง ,ขยายระยะเวลาส่วนลดก๊าซ LPG แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/คน/ 3 เดือน ,ส่วนลดก๊าซ LPG สำหรับหาบเร่เผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/เดือน ,ตรึงราคาก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม สำหรับแท็กซี่ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” โดยให้ซื้อในราคา 13.62 บาท /กิโลกรัม และตรึงราคาน้ำมันดีเซลกรณีที่ราคาเกิน 35บาท/ลิตร โดยรัฐอุดหนุนส่วนเพิ่มในอัตราร้อยละ 50
1.2 มาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 ,น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาร้อยละ 5-10 และ B20 รวมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร
1.3 มาตรการขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกราคาดีเซลให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร และเงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน ให้นำไปลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 1 บาท/ลิตร
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานรายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน
1.4 มาตรการประหยัดพลังงาน
ภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส ,ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น
ภาคขนส่ง อาทิ การส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะแทนยานพาหนะส่วนบุคคล รณรงค์ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ลดการเดินทางโดยการใช้แอปสั่งอาหารหรือรับส่งของ หรือการใช้ การประชุมออนไลน์แทนการเดินทางด้วยตนเอง และหน่วยงานราชการ อาทิ ลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20 และกำหนดให้ลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 เป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการ และผลักดันกลไก ESCO
2. มาตรการด้านการคลัง
2.1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ระยะเวลา 15 ก.ค.-31 ธ.ค. 65 โดยให้หักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับอบรม สัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และ 1.5 เท่าสำหรับจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
2.2 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ให้หักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
“แนวโน้มราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภายในประเทศมีแนวโน้มที่สูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีมาตรการภาษีเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว” นายธนกร กล่าว
อ่านประกอบ :
โรงกลั่นฯโต้‘กรณ์’กล่าวหาปล้นคนไทย-ยัน‘ค่าการกลั่น’เพิ่มลิตรละ 47 สต.เทียบก่อนโควิด
‘กรณ์’ ขอบคุณ รัฐบาล ลดภาระเบนซิน 1 บาท/ลิตร เล็งชงไอเดียใหม่ก่อน ครม. เคาะสัปดาห์หน้า
เก็บภาษีลาภลอย-ตั้งเพดานค่าการกลั่น ‘กล้า’ แนะช่องทางฝ่าวิกฤติน้ำมันแพง