‘สุพัฒนพงษ์’ คาดดึงกำไร ‘โรงกลั่นฯ’ อุดหนุนราคาน้ำมันจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ แนะผู้ประกอบโรงกลั่นฯหารือ ‘อดีต รมว.คลัง’ เพื่อให้ได้ตัวเลข ‘ค่าการกลั่น’ ให้ตรงกันก่อน ขณะที่ ‘กพช.’ อนุมัติรับซื้อไฟฟ้า ‘ขยะอุตสาหกรรม’ 100 เมกะวัตต์
....................................
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติน้ำมันแพง เพื่ออุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและเบนซิน ว่า มาตรการขอความร่วมมือฯดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
“เรื่องค่าการกลั่นมีการพูดคุยกันเยอะอยู่แล้ว ว่าตัวเลขใด คำนวณมาอย่างไร ซึ่งกระทรวงพลังงานก็มีตัวเลขของตัวเอง โดยค่าการกลั่นเฉลี่ย 6 เดือนของปีนี้อยู่ที่ 3.27 บาท/ลิตร แต่ก็มีตัวเลขของท่านอดีต รมว.คลัง ที่แสดงออกมา โดยท่านยืนยันตัวเลขที่ 8.50 บาท/ลิตร และก็เป็นตัวเลขที่มีที่มาที่ไปด้วย จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน วิธีที่ดีที่สุด ผมได้บอกให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นฯ ให้เอาข้อมูลของท่านอดีต รมว.คลังไปวิเคราะห์ดูว่า มีที่มาและมีวิธีวิเคราะห์อย่างไร
แล้วให้ไปแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับท่าน รมว.คลัง แล้วเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกันได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเกิดความคาดหวังสูงหรือแตกต่างกัน โดยผมกำชับไปแล้วว่าภายในวันนี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อให้มีแค่หนึ่งตัวเลข และเท่าที่รับฟังจากปลัดกระทรวงพลังงาน โรงกลั่นฯทั้ง 6 แห่ง พร้อมพิจารณาตรงนี้ ทุกคนตั้งใจช่วยเหลืออยู่แล้ว ส่วนจะเป็นเท่าไหร่ก็ให้เวลาซักนิดหนึ่ง ก็พยายามจะให้ได้สัปดาห์นี้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้มีการหารือกับโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง เพื่อพิจารณากำหนดอัตราที่เหมาะสม และรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าการกลั่นฯว่า เมื่อโรงกลั่นฯนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันแต่ละประเภทแล้ว โรงกลั่นฯมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆเป็นอย่างไร ซึ่งกระทรวงฯจะนำข้อมูลเหล่านี้มาหาจุดสมดุลว่า สิ่งที่ดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร
“เรื่องนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง สกนช. และโรงกลั่นฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างหารือกันอยู่ โดยจะพยายามหาข้อยุติให้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากที่ได้มีการหารือกันทุกคนเห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเมื่อเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวตั้งแล้ว ก็จะมานั่งดูกันว่าจะตกลงร่วมมือกันอย่างไร แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ จึงจะไปพิจารณาในเรื่องของกฎหมายตามที่มีผู้แนะนำ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ไปถึงจุดนั้น ขอคุยกันก่อน” นายกุลิศ กล่าว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากลายและโครงการหลวงพระบาง และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามใน PPA ดังกล่าว ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบการเลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8–11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสถานการณ์ LNG มีราคาสูง ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านการให้สัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่อว่า กพช. ได้รับทราบผลการบริหารอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดยอัตโนมัติ (Ft) ช่วงปี 2563–ปัจจุบัน ซึ่งมอบหมายให้ กฟผ. ช่วยรับภาระค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น โดยชะลอการนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่สูงขึ้นตั้งแต่งวดเดือน ก.ย.2564-เดือน ธ.ค.2564 จนถึงปัจจุบัน ที่เรียกเก็บกับประชาชนในระยะนี้ไว้ก่อน เพื่อช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ขณะเดียวกัน กพช. มีมติเห็นชอบหลักการการรับซื้อไฟฟ้าและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี 2565 ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 6.08 บาทต่อหน่วย (ไม่ร่วมอัตรา FiT Premium) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2569
นอกจากนี้ กพช. ยังมีมติเห็นชอบโครงการและแผนงานของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปพลังงาน และได้รับการยกเว้นเงื่อนไขในการได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามหลักการแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับแผนงานและโครงการปี 2565 เพื่อให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะดึงกำไร‘โรงกลั่นฯ-โรงแยกก๊าซ’อุดหนุน‘ดีเซล'ไม่เกินลิตรละ 35 บาท-ลดราคาเบนซิน
โรงกลั่นฯโต้‘กรณ์’กล่าวหาปล้นคนไทย-ยัน‘ค่าการกลั่น’เพิ่มลิตรละ 47 สต.เทียบก่อนโควิด
‘กรณ์’ ขอบคุณ รัฐบาล ลดภาระเบนซิน 1 บาท/ลิตร เล็งชงไอเดียใหม่ก่อน ครม. เคาะสัปดาห์หน้า
เก็บภาษีลาภลอย-ตั้งเพดานค่าการกลั่น ‘กล้า’ แนะช่องทางฝ่าวิกฤติน้ำมันแพง