กนช.มติเห็นชอบในหลักการจัดตั้ง ‘กระทรวงน้ำ’ หวังบูรณาการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ขณะที่ ‘บิ๊กป้อม’ สั่งยกร่างกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
............................
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ (กนช.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจเพื่อนำไปสู่การพัฒนา โดยการจัดตั้งเป็น ‘กระทรวง’ ในอนาคตต่อไป
“การบริหารจัดการน้ำเกี่ยวข้องกับหน่วยงานมากกว่า 38 หน่วยงาน มีกฎหมายหลายฉบับ และมีปัญหาด้านต่างๆที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือ วิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาแบบก้าวกระโดด เพื่อเร่งให้เกิดความยั่งยืนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศโดยเร็ว ทั้งนี้ รัฐบาลมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องยกระดับการบริหารจัดการน้ำให้มีความสำคัญ โดยนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวง เพื่อเผชิญกับวิกฤตและความมั่นคงด้านน้ำในอนาคตอันใกล้นี้” พล.อ.ประวิตร ระบุ
พล.อ.ประวิตร ยังกำชับให้ สทนช. ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งยกร่างพิมพ์เขียวการปรับปรุงกลไก การบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กฎหมายและงบประมาณ พร้อมทั้งยกร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
พร้อมทั้งขอให้นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อปัญหาและจุดอ่อน เพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพ บุคลากร หน่วยงาน และเทคโนโลยีของ สทนช. ให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่ม และคณะอนุกรรมการจังหวัด จำเป็นต้องเร่งดำเนินการคู่ขนานในช่วงเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งขอให้เน้นความสำคัญ ข้อมูลและนวัตกรรม ตลอดจนความต้องการประชาชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายแผนงานไปพร้อมกัน
สำหรับมติของที่ประชุม กนช. ที่เห็นชอบหลักการในการจัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุม กนช. ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาโครงการวิจัยการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ซึ่งสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมจัดทำกับ TDRI
โดยผลการศึกษาดังกล่าว ได้สรุปภาพรวม แนวโน้มบริบทของน้ำในอนาคตว่ามีความต้องการน้ำสูง ในขณะที่ปริมาณน้ำมีความแปรปรวนสูงจากปัญหาสภาพอากาศ การใช้น้ำมีผลิตภาพต่ำ สิ้นเปลืองและน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ นอกจากนี้ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำยังขาดเอกภาพและการบูรณาการที่เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งอำนาจหน้าที่ แผนงาน โครงการและงบประมาณ และมีหน่วยงานรับผิดชอบด้านน้ำมากเกินไป
นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐยังเน้นแก้ปัญหาด้วยการลงทุนก่อสร้าง และไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านความต้องการ พร้อมเสนอ การออกแบบ Roadmap การพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ แนวคิดและข้อเสนอการจัดตั้ง ‘กระทรวงน้ำ’ มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีแนวคิดจัดตั้งกระทรวงน้ำ หลังจากเกิดวิกฤติมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 แม้แต่รัฐบาล คสช.เอง ก็มีแนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงน้ำเช่นกัน แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก กระทั่งในปี 2560 มีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 46/2560 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
อ่านประกอบ :
เกาะติดแผนน้ำ 20 ปี! โหมบิ๊กโปรเจกต์ 2 แสนล้าน รัฐรวมศูนย์สั่งการเบ็ดเสร็จ