“…แนวคิดของรัฐในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเรื่องลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ในขณะที่การจัดการก็เป็นแบบรวมศูนย์สั่งการ ทั้งๆที่การจัดการนั้น มีทั้งการจัดการในระดับย่อยและระดับพื้นที่ จึงทำให้รัฐเลือกทำโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง…”
.......................
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 ปี (พ.ศ.2561-2563) ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน พบว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ มีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี
อาทิ ด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำในภาคการผลิต ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ 13,439 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ และพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 1,3860 ล้าน ลบ.ม. ภายในปี 2580 นั้น
ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2564 มีการฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้ 208 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ,พัฒนาแหล่งน้ำชุมชน 0.91 ล้าน ลบ.ม. ,สระน้ำในไร่นา 172.76 ล้าน ลบ.ม. ,พัฒนาแหล่งเก็บน้ำ 635.35 ล้าน ลบ.ม. ,น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 100.28 ล้าน ลบ.ม. น้ำบาดาลท้องถิ่น 1,769 แห่ง และธนาคารน้ำใต้ดิน 1,067 แห่ง เป็นต้น
ขณะที่ในปี 2564 รัฐบาลมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาล ,การทำฝายชะลอน้ำ การวางท่อขยายเขตประปา การพัฒนาระบบกระจายน้ำ การทำแก้มลิง และการสร้างทำนบป้องกันน้ำเค็ม รวมทั้งสิ้น 1,196 โครงการ วงเงิน 6,398 ล้านบาท
ด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง จัดทำผังน้ำทุกลุ่มน้ำ และขุดลอกลำน้ำ 6,271 กิโลเมตร (กม.) ภายในปี 2580 พบว่า มีการสร้างระบบป้องกันชุมชนเมือง 3 แห่ง ,สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง 59 กิโลเมตร ,ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติ 223 แห่ง และปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 110 แห่ง เป็นต้น (อ่านตารางประกอบ)
@เผยความคืบหน้า 38 เมกะโปรเจกต์น้ำ 2.03 แสนล้าน
ส่วนการขับเคลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเห็นชอบแผนงานโครงการมาตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน (23 พ.ย.2559-21 ม.ค.2564) ซึ่งมี 38 โครงการ วงเงิน 203,715 ล้านบาท นั้น
พบว่ามี 23 โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว แต่มี 5 แผนงาน ที่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติงบเพิ่ม เช่น งานพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ ,งานพัฒนาและฟื้นฟูบึงราชนก พิษณุโลก ,งานพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง นครสวรรค์ ,แผนบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก 38 โครงการ
ส่วนโครงการที่ ครม.อนุมัติแล้ว และอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ มี 11 โครงการ เช่น การขยายเขตประปาเมืองสำคัญ 5 โครงการ , โครงการผลิตน้ำประปาบ้านมะขามเฒ่า และโครงการของกรุงเทพมหานคร 5 โครงการ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี และโครงการขยายคลองอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เป็นต้น
และโครงการที่ กนช.เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมก่อนเสนอ ครม. อนุมัติ 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง เชียงราย ,สถานีสูบน้ำเพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ปัตตานี ,อ่างเก็บน้ำคลองโพล้ ระยอง และอ่างเก็บน้ำบ้างหนองกระทิง ฉะเชิงเทรา (ดูกราฟฟิกประกอบ)
“หากทั้ง 38 โครงการที่ กนช.เห็นชอบขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย จะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 629 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ได้ 1.4 ล้านไร่ และมีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 321,612 ครัวเรือน” รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี จัดทำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ณ เดือน พ.ค.2564 ระบุ
@ปลื้มแผนจัดการน้ำ 20 ปี ลดปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
รายงานของ สทนช. ฉบับดังกล่าวยังระบุว่า “ปี 2562 เป็นปีที่มีสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2558 แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน โดยการวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ นำไปสู่การกำหนดมาตรการและจัดหาแหล่งน้ำสำรอง
ทำให้มีหมู่บ้านที่ได้รับการประกาศสถานการณ์ภัยแล้งเพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล 7,662 หมู่บ้าน น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/2564 ไม่มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งเลย”
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมและอุทกภัย สทนช. ระบุว่า “รัฐบาลใช้แนวทางการทำงานเชิงป้องกัน ตั้งแต่การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง การแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการแหล่งน้ำที่แต่ละหน่วยรับผิดชอบร่วมกัน เช่นเดียวกับการบริหารจัดการในฤดูแล้ง
ทำให้ปี 2562 ซึ่งเป็นปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน มีความเสียหาย 94 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี และปี 2563 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 58 จังหวัด มูลค่าความเสียหาย ต่ำสุดเป็นอันดับ 3 ในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่มหาอุทกภัยปี 2554”
@ตั้งเป้าลงทุนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 526 โครงการในปี 66
สำหรับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี กนช. มีแผนขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กภายในปี 2566 รวม 24,071 โครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 14.86 ล้านไร่ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 526 โครงการ ภายในปี 2566
เช่น อ่างเก็บน้ำแม่เมาะฯ พะเยา ,อ่างเก็บน้ำห้วยเฮี้ยฯ เชียงราย ,โครงการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระพ็ด ,โครงการเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำธารประเวศ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น (ดูกราฟฟิกประกอบ)
@ผันน้ำหล่อเลี้ยง ‘อีอีซี’ เพิ่มเหลื่อมล้ำการใช้น้ำมากขึ้น
สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการชุมชนอิสระ และนักวิจัยกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำภายใต้แม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แต่พบว่ามีช่องว่างและหลายพื้นที่ยังขาดแคลนน้ำ
“เราไปทำวิจัยในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จันทบุรี ซึ่งมีการสร้างอ่างเก็บน้ำมากที่สุด 4 อ่างในอำเภอเดียว โดยอ่างแรกที่สร้างเสร็จ คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด เราพบว่าคนที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ ไม่มีน้ำใช้ เพราะมีการเทน้ำลงมาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ในพื้นที่ EEC ทำให้ชาวบ้านที่ปลูกทุเรียนต้องปล่อยให้ทุเรียนยืนต้นตายก็มี” สมนึก ยกตัวอย่าง
สมนึก ซึ่งลงพื้นที่วิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ยังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำระหว่างในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา กับพื้นที่นอก EEC มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะภาครัฐเน้นการผันน้ำจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น จันทบุรี สระแก้ว และปราจีนบุรี เพื่อมาหล่อเลี้ยงพื้นที่ EEC เป็นหลัก
“ตั้งแต่มี EEC (พื้นที่ จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) มันเกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำ เพราะตอนนี้มีการผันน้ำจากจันทบุรี สระแก้ว และปราจีนบุรีมายังพื้นที่ EEC ซึ่งในพื้นที่เขาเอง เขาก็ใช้น้ำ พอไปเอาน้ำเขามา เขาก็ขาดแคลน จึงอยากถามว่าภาครัฐได้คิดถึงตรงนี้หรือไม่” สมนึก กล่าว
(สมนึก จงมีวศิน)
@แนะคุมกำเนิดโรงงานน้ำตาลในภาคอีสาน
สมนึก เห็นว่า การบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC นั้น ต้องไม่ใช่การหาพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะพื้นที่ไม่มีแล้ว แต่ต้องมาพิจารณาเรื่อง 3R คือ Reduce (ลดการใช้น้ำ) Reused (นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำน้ำมาใช้หมุนเวียน) ซึ่งการนำน้ำเก่ามาใช้ใหม่ต้องทำให้ได้อย่างน้อย 40-50% ไม่ใช่ 10-15% เหมือนที่กำลังพูดตอนนี้
ส่วนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศนั้น สมนึก เสนอว่า ภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมต้องนำหลัก 3R มาใช้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่มีโรงงานน้ำตาล 28-29 แห่ง ซึ่งมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก จึงถึงเวลาที่ต้องคุมกำเนิดโรงงานเหล่านี้แล้ว
สมนึก กล่าวด้วยว่า การสร้างแต่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นนั้น อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรมากนัก เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ฝนตกน้อยลง หรือแม้กระทั่งการผันน้ำจากข้ามภูมิภาค เช่น โครงการโขง เลย ชี มูล ซึ่งน้ำส่วนหนึ่งจะถูกนำมาใช้ในกลุ่มภาคกลางและภาคตะวันออก แต่ปัญหา คือ ในพื้นที่อีสานเอง น้ำยังไม่พอใช้เลย
“รัฐบาลคิดแต่จะทำเรื่องซัพพลาย คือ หาน้ำใหม่อย่างเดียว ไม่ได้คิดเรื่องดีมานด์มากนัก แม้ว่าจะมีนักวิชาการเสนอเรื่องนี้ไป แต่พอเอาเข้าจริง ก็ทำไม่ได้จริง เพราะรัฐบาลมัวแต่หาพื้นที่เพื่อทำซัพพลายใหม่ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่โรงงานอุตสาหกรรมพวกนี้จะมาคิดถึงการทำ Recycle
อีกอย่างอ่างเก็บน้ำ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ต้องรอฟ้ารอฝน อ่างเก็บน้ำบางแห่งใช้เวลา 2 ปีกว่าน้ำจะเต็มอ่าง และถ้าไปผันน้ำจากที่อื่นมา เช่น ผันจากอีสานบ้าง ภาคเหนือบ้าง ก็กลายเป็นฝืนธรรมชาติ โดยเฉพาะการผันน้ำข้ามภูมิภาคมาช่วยอุตสาหกรรม ซึ่งแน่นอนว่าเราจะได้ตัวเลข GDP แต่เราต้องมาทะเลาะกันเรื่องน้ำ มันคุ้มหรือไม่” สมนึกย้ำ
@รัฐรวมศูนย์สั่งการลงทุนโครงการน้ำ-ขาดการประเมินผล
ขณะที่ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ในขณะที่ภาครัฐบริหารจัดการน้ำ โดยเน้นการสร้างและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำเป็นหลัก แต่จะพบว่าน้ำเหล่าไม่ได้ไปถึงชาวบ้านหรือเกษตรกรรายย่อย และไม่สามารถนำน้ำไปจัดการในแปลงนาเล็กๆของตัวเองได้
“อย่างในภาคกลาง เวลาน้ำมา เราจะเห็นคนเอาเครื่องสูบน้ำท่อพญานาคไปสูบกัน เราจะเห็นภาพการแย่งน้ำกันตลอดเวลา ใครอยู่ต้นก็ได้ ใครอยู่ปลายก็ไม่ได้ นี่คือสิ่งที่พบอยู่ หรือในภาคอีสาน มีโครงการโขง เลย ชี มูล แต่ถามว่าในที่สุดแล้ว สามารถส่งน้ำไปถึงภาคเกษตรได้หรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงก็พบว่าไม่ได้” สุวิทย์ กล่าว
(สุวิทย์ กุหลาบวงษ์)
สุวิทย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาภาครัฐ และสทนช. แทบไม่เคยประเมินเลยว่า การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ด้านน้ำที่ผ่านมานั้น ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวมากน้อยเพียงใด และใช้ได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าเป็นเขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร หรือแม้แต่โครงการโขง ชี มูล ในภาคอีสาน เป็นต้น
“แนวคิดของรัฐในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเรื่องลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ในขณะที่การจัดการก็เป็นแบบรวมศูนย์สั่งการ ทั้งๆที่การจัดการนั้น มีทั้งการจัดการในระดับย่อยและระดับพื้นที่ จึงทำให้รัฐเลือกทำโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง” สุวิทย์ กล่าว
สุวิทย์ ระบุว่า ส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ หรือแม้แต่การผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเติมเขื่อนภูมิพล เพราะนั่นหมายความว่าต้องมีผู้เสียสละเพื่อเอาน้ำมา แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ หากทำแบบนั้น ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าทำกันในวงแคบ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงหรือมีส่วนร่วมเลย
ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี หรือ ‘แผนลงทุนน้ำ 20 ปี’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายใต้การขับเคลื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage