กรรมาธิการตรวจงบฯ เผย กองทัพจ้าง สวทช. 7.57 ล้านบาท ตรวจ GT200 ดำเนินการไปแล้ว 320 เครื่อง เหลืออีก 437 เครื่อง กองทัพบกรอหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการจากอัยการสูงสุด เพื่อยุติเรื่อง-ระงับการจัดซื้อจัดจ้าง หลังเอกชนถอนอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามงบประมาณ เปิดเผยว่า คณะ กมธ.ได้ติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณในโครงการจ้างตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติดอาวุธและวัตถุระเบิด (GT200) ในประเด็นที่ กองทัพบก (ทบ.) จัดงบประมาณรวม 7.57 ล้านบาท
เบื้องต้นจากการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ทบ. และสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ความว่า เรื่องนี้ทำตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งให้ตรวจสอบและหาข้อมูลประกอบในการดำเนินคดี โดยต้องการชี้ชัดว่า ประสิทธิภาพเครื่องตรวจจับระเบิดดังกล่าวทั้ง 757 เครื่อง ใช้งานได้จริงหรือไม่ จนมีการจ้าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบทุกเครื่อง ซึ่งกำลังรวบรวมเอกสารส่งถึงอัยการสูงสุด ในการดำเนินคดีกับเอกชนคู่สัญญา คือ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด
ต่อมา วันที่ 5 มี.ค.2564 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือแจ้งให้กองทัพบกดำเนินการตรวจพิสูจน์เครื่อง GT200 ตามคำฟ้อง 757 เครื่อง เนื่องจากต้องใช้เป็นพยานหลักฐานที่แสดงให้ศาลเห็นว่า เครื่องดังกล่าวไม่สามารถใช้งานจริงได้ทุกเครื่องตามคำฟ้อง จึงขอแจ้งให้กองทัพบกทราบว่า ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องให้กองทัพบกตรวจเครื่อง GT200 ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง กองทัพบกจึงได้แยกงบประมาณโครงการดังกล่าว เป็น 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ 1.ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กองทัพบกได้อนุมัติสั่งจ่ายตรวจสอบ GT200 จำนวน 329 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท และมีการเบิกจ่ายงบประมาณเรียบร้อยแล้ว กับ 2.งบประมาณ พ.ศ. 2565 เตรียมแผนใช้งบประมาณสำหรับตรวจสอบเครื่องส่วนที่เหลือ จำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4,370,000 ล้านบาท
วันที่ 1 ก.ย. 2564 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) ชำระเงิน 683,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 3 (ธนาคารกสิกรไทย) ร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 56,865,432.87 บาท และให้จำเลยที่ 4 (ธนาคารกรุงเทพ) ร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 6,195,452.05 บาท และยกฟ้องผู้ถูกฟ้องที่ 2 (นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ)
และล่าสุด วันที่ 7 มี.ค. 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องที่ 1 (บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด) ถอนอุทธรณ์คำพิพากษาโครงการจ้างตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) ระยะที่ 2 ทำให้ผลการถอนอุทธรณ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง จึงได้ถามต่อว่า เมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจเครื่องที่เหลืออีก 437 เครื่องหรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า ไม่มีความจำเป็น เพราะศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากาษาแล้ว และได้หารือเป็นการภายในกับ ทบ. เพื่อที่จะส่งหนังสือรับรองว่า คดีนี้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อที่ ทบ. จะได้ระงับการจัดซื้อจัดจ้างในการตรวจสอบ GT200 ที่เหลืออีก 437 เครื่อง
“กรรมาธิการได้ข้อมูลเชิงลึกว่าถึงแม้ความเสียหายทางคดีและทางแพ่งจะต้องชดใช้ แต่ที่สุดแล้วผู้ถูกร้องที่ 1 จะสามารถชดเชยความเสียหายให้รัฐได้มากแค่ไหน ขณะเดียวกันผู้กระทำความผิดและผู้ที่มีส่วนกับการอนุมัติจัดซื้อจะดำเนินการต่ออย่างไร และประการสุดท้าย กมธ.ยังขอทราบผลการตรวจเครื่อง GT200 ในปี 2553 ว่า ครม.ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ตรวจเครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่องได้รายงาน ครม.สมัยนั้นอย่างไร แต่ทาง สวทช.ยังไม่ได้รายงานเข้ามา กรรมาธิการจะติดตามต่อไป และผลของเรื่องนี้ ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ และอนุมัติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์และเงินภาษีของประชาชนต่อไป” นายไชยา กล่าว