ดราม่าเป็นเหตุ กทม.แจงงบปี 65 ขุดลอกคูคลองได้มา 42 คลอง ไม่ใช่ 2 คลอง จ่อดำเนินการแล้วเสร็จ 2 รองผู้ว่าฯ คอมเม้นท์ ‘ศักดิ์ชัย’ เสริมขุดลอกไปแล้ว 170 คลอง ด้าน ‘สกลธี’ แนะอย่าจ้างเอกชน ให้ประสานกรมราชภัณฑ์นำนักโทษมาทำ ดีกว่าจ้างเอกชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 มิถุนายน 2565 หลังจากที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินทางไปตรวจศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม. เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 3 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา และสังคมตั้งคำถามเกี่ยวกับคำให้สัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ที่ว่า งบขุดลอกคูคลองในปี 2565 ได้มาแค่ 2 คลอง จากทั้งหมด 1,980 คลองนั้น
ล่าสุด สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า กทม. มีคูคลอง ลำราง ลำกระโดง เป็นทางระบายน้ำ จำนวนทั้งสิ้น 1,980 คลอง ความยาวรวม ประมาณ 2,745 กิโลเมตร โดยสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตจึงมีแผนดำเนินการขุดลอกคลองอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดทางน้ำไหล เก็บขยะวัชพืช ผักตบชวา เพิ่มประสิทธิภาพการรองรับและระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก
โดยตั้งแต่ปี 2563 ได้รับงบประมาณดำเนินการไป 138 คลอง ความยาวรวม 282,355 เมตร ต่อมาในปี 2564 ได้งบขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 88,977 เมตร ส่วนในปี 2565 นี้ได้รับงบประมาณขุดลอก 42คลอง รวมระยะทาง 60,134 เมตร แบ่งเป็นงบประมาณประจำปี 32 คลอง จะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2565 และส่วนที่สภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 10 คลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้าง คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะดำเนินการแล้วเสร็จ ภาย 90 วัน หากดำเนินการขุดลอกคลองแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับและระบายน้ำในคลองเมื่อมีฝนตก
อย่างไรก็ตามในระยะเร่งด่วนนี้ ทางสำนักการระบายน้ำได้ใช้แรงงานคน อุปกรณ์ เครื่องจักร ดำเนินการขุดลอกเอง จำนวน 35 คลอง (ต.ค. 63 – พ.ค 65) โดยเน้นขุดลอกคลองที่มีสภาพตื้นเขินมากและอยู่ในพื้นที่ใกล้จุดเสี่ยงน้ำท่วม
นอกจากนี้ในปี 2566 สำนักการระบายน้ำ ได้มีแผนการขุดลอกคลองเพื่อเชื่อม9 คลองสายหลัก กับอีกจำนวน 65 คลอง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำให้ไหลไปลงสู่อุโมงค์ และสถานีสูบน้ำ แล้วระบายน้ำไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาว 393,174 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต
รองผู้ว่ายุค อัศวิน โต้ขุดลอก 170 คลอง
ขณะที่นายศักดิ์ชัย บุญมา อดีตรองผู้ว่า กทม. ยุคพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง โพสต์สเตตัสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ที่ผ่านมา 2 ปี ที่ผมทำงาน ได้ทำการขุดลอกคลองที่หนองจอก และลาดกระบังไปเกือบ 150 คลอง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และปัญหาน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีในเขตพื้นที่อื่นๆ ที่สำนักระบายน้ำ ใช้คนงานของตัวเองใช้เครื่องจักรของตัวเอง ขุดลอกอีกไม่ต่ำกว่า 20 คลอง
ไม่เข้าใจผอ.สำนักระบายน้ำ ตอบไปได้อย่างไร ว่าลอกได้ 2 คลอง แค่โครงการ 1 คลอง 1 เขต ที่แต่ละสำนักงานเขตเคยทำอยู่ก็เกินไปไม่รู้กี่เท่าแล้ว ไม่รู้เรื่อง หรือจะเอาใจ หรือจะดิสเครดิตกัน
ท่านผู้ว่าฯ น่าจะไปลองถามคนแถวหนองจอก ลาดกระบัง และเขตอื่นๆ ดู แล้วลองพิจารณาเองนะครับ
ต่อมานายศักดิ์ชัย ได้แก้ไขโพสต์ใหม่ โดยเพิ่มข้อความดังนี้
ขออภัยจริงๆ ใจความสำคัญคือ การคุยเรื่องงบประมาณขุดลอกคลอง ของสำนักระบายน้ำ ที่สภากทม.จัดสรรให้ในปี 2565 ซึ่งได้แค่ 2 คลอง (ไม่รวมงบที่ได้รับจัดสรรเพิ่มเติมอีก 10 กว่าคลอง) แต่ข่าวลงว่าขุดลอกได้แค่ 2 คลอง และที่ขุดลอกโดยกำลังคนและอุปกรณ์ ของหน่วยงาน ที่ไม่ได้ของบประมาณก็มีหลายคลอง แต่ไม่พูด
ทั้งนี้ งบขุดลอกคลองจะมีอยู่ตามสำนักงานเขตอีกหลายๆ เขต เพราะคลองทั้งหมดมีการแบ่งแยกหน้าที่กันดูแลระหว่างเขตกับสำนัก ครับ
ศักดิ์ชัย บุญมา อดีตรองผู้ว่า กทม. ภาพจาก https://www.prbangkok.com/
สกลธี เชียร์จ้างนักโทษดีกว่าจ้างเอกชน
ด้านนายสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่า กทม.ยุคพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นด้วยมากๆ ครับว่าควรจะเป็นนโยบาย ให้การลอกท่อในกรุงเทพฯ ทำโดยนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์
เพราะที่ผ่านมาพอเปลี่ยนมาเป็นการประมูลจากเอกชนก่อให้เกิดปัญหาทิ้งงานทำให้ต้องเสียเวลาในการฟ้องร้องไล่เบี้ยเอาจากเอกชนและทำให้การลอกท่อไม่เป็นไปตามแผนงาน แถมคุณภาพงานก็ไม่ได้
ที่พบมากคือเอกชนจะฟันราคาจ้างงานด้วยวงเงินที่ต่ำมากๆ บางครั้งถึง 50% ทำให้ชนะได้งานไป แต่พอรับเงินงวดแรกไปแล้วมักจะทิ้งงานหรือถ้าไม่ทิ้งก็ทำแบบชุ่ยๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำไม่ได้ การใช้นักโทษชั้นดีอาจจะแพงกว่าการเปิดประมูลแต่การทิ้งงานจะไม่มีและประสิทธิภาพดีกว่าแน่นอนครับ
ที่สำคัญคือนอกจากจะลอกท่อให้ได้ตามแผนโดยเน้นจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังก่อนแล้ว ท่อแบบเก่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 60 ซม.ที่มีเป็นจำนวนมากต้องเร่งเปลี่ยนด้วยครับ ยังมีค้างอยู่เยอะตามแผนที่แต่ละเขตเสนอมา ถึงบอกว่าจุดสำคัญของผู้ว่าฯ คือ ต้องหาเงินได้ไม่พอ ยังต้องใช้เงินเป็นโดยกระจายเงินไปตามเขตต่างๆ ให้ทั่วถึงด้วย ลุยเลย หน้าฝนกำลังมา ให้กำลังใจ กทม.
อนึ่ง ในยุคที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่า กทม. นายศักดิ์ชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าดูแลด้านสำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง และสำนักการระบายน้ำ สำนักงานปกครองและทะเบียน และกองงานผู้ตรวจราชการ สำนักปลัด กทม. สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโยธา ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ
ส่วนนายสกลธี ดูแลงานด้านสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ สำนักพัฒนาสังคม สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักปลัด กทม. สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่า กทม. ภาพจาก Facebook กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์