เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 'อนุทิน-เลขาฯ อย.' ขอชะลอปลดล็อกกัญชา หลังร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังไม่ผ่านสภา หวั่นไร้กฎหมายควบคุม - ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2565 เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด เขียนจดหมายเปิดผนึก ถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แสดงความเห็นต่อพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและแถลงข่าวจุดยืน เรื่อง การปลดล็อกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
จดหมายเปิดผนึก ระบุว่า สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือและแถลงข่าวจุดยืน เรื่อง การปลดล็อคกัญชา กัญชง เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ในวันที่ 27 พ.ค.2565 โดยมีนายอนุทินเป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาและกัญชงในการดูแลสุขภาพอย่างปลอดภัยให้กับประชาชน เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่เป็นโทษต่อสุขภาพ ทางเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดขอแสดงความคิดเห็นดังนี้
1.เห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุชัดเจนว่ากัญชาไม่ได้มีเพียงด้านที่เป็นประโยชน์ แต่สามารถเป็นโทษต่อสุขภาพได้หากนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม
2.การรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้วิธีการใช้กัญชาที่เหมาะสมเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ จะไม่ได้ผลในการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้ ดังเช่นประสบการณ์ของการควบคุมปัญหาจากการสูบบุหรี่และการดื่มสุราในประเทศต่างๆทั่วโลกที่จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมควบคู่ไปกับมาตรการรณรงค์
3.บทบาทการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (health promotion) เป็นหน้าที่ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หน้าที่ของ อย. ควบคุมกำกับ (health regulator) ที่จะต้องออกมาตรการและควบคุมบังคับใช้มาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด
4.บทเรียนจากต่างประเทศทั้งในประเทศแคนาดา อุรุกวัย และ หลายรัฐในประเทศอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าจะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเข้มงวดเพียงพอ หากจะปล่อยให้เสพใช้กัญชาได้มากไปกว่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์
5.ขณะนี้เมื่อครบ 120 วัน ของการประกาศประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.2565 เป็นต้นไปนั้นจะเกิดสุญญากาศทางนโยบายที่จะไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดแต่ประการใดจะส่งผลให้การสูบช่อดอกกัญชาไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด อย่างที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในประเทศไทยแล้วว่าเด็กและเยาวชนอายุ 9-12 ปี รวมตัวสูบช่อดอกกัญชากันแล้วหลังจากมีการประกาศประกาศกระทรวงดังกล่าว
6.คำถาม 7 ข้อที่กระทราวงสาธารณสุขจะต้องตอบ พร้อมไปกับการรณรงค์ให้ประชาชนใช้กัญชาอย่างเหมาะสม คือ 1) เนื่องจากมีเฉพาะสารสกัดกัญชาที่ THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติดและถูกควบคุม การสูบช่อดอกกัญชาทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ 2) หากจะรณรงค์ว่าไม่ควรสูบเพื่อนันทนาการ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าการสูบช่อดอกนั้น เป็นการสูบเพื่อนันทนาการหรือสูบเพื่อสุขภาพ หากผู้สูบอ้างว่าสูบเพื่อสุขภาพ 3) เนื่องจากมีเฉพาะสารสกัดกัญชาที่ THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติดและถูกควบคุม การใช้ส่วนของกัญชาซึ่งไม่เป็นยาเสพติด แต่มี THC สูง เช่น ช่อดอก มาใส่ในผลิตภัณฑ์แล้วนำมาขาย เช่น น้ำชากัญชา ไก่ย่างกัญชา โดยมี THC สูงมาก ทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่
4) หากพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม ปลูกกัญชาไว้ใช้ในครัวเรือน (ไม่ได้ขออนุญาตปลูกแบบธุรกิจ) แต่แอบเอาชิ้นส่วนของกัญชา (ซึ่งไม่ใช่สารสกัด) มาใส่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ตนขาย ทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องขออนุญาตจำหน่ายกัญชาหรือไม่ ทางการจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการแอบเอากัญชาที่ปลูกในครัวเรือนมาใส่อาหารหรือเครื่องดื่มขาย 5) ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา หากมี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก จะผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ใช่สารสกัด และจะมีวิธีการตรวจอย่างไรที่จะทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มนั้นๆมี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักหรือไม่ หน่วยงานใดจะสามารถตรวจหาระดับ THC ในอาหารทุกจานและเครื่องดื่มทุกขวดในประเทศไทยได้
6) ในร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย กำหนดห้ามขายกัญชาแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หากเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไปเอาช่อดอกจากต้นกัญชาที่ปลูกไว้หลังบ้านตนเองหรือหลังบ้านเพื่อนมาสูบ จะกระทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ 7) กระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล มีมาตรการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดอื่นใดบ้าง นอกเหนือไปจากมาตรการรณรงค์ให้ความรู้ถึงวิธีการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม หากในอนาคตมีการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยประเทศไทยไม่มีมาตรการควบคุมเพียงพอ ใครคือผู้รับผิดชอบ
จึงเรียนมาเพื่อขอแสดงความคิดเห็นดังกล่าว และขอสรุปว่าด้วยจุดยืนสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในทางที่ถูกต้องและความห่วงใยต่อโอกาสที่จะเกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิด เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติดประสงค์ที่จะเสนอขอให้ท่านโปรดพิจารณาชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวแล้วข้างต้นออกไปก่อน จนกว่าจะมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา ก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการ