"...กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประเทศไทยจะต้องออกแบบนโยบายให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและลดโทษที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด การออกแบบนโยบายกัญชาต้องใช้มุมมองด้านสาธารณสุขร่วมด้วย ไม่เพียงใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจ การออกแบบนโยบายกัญชาต้องรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านและออกแบบนโยบายร่วมกัน เพื่อที่จะรักษาประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่และปกป้องลูกหลานเยาวชนของประเทศไทย โดยประเทศไทยจะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างรอบคอบรัดกุมก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการ และ การเสนอให้ชะลอการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ไม่ใช่การขัดขวางการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใช้อย่างถูกต้อง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้สังคมหาทางออกในลักษณะ “ทางสายกลาง” ระหว่างการควบคุมกัญชาแบบเข้มงวดเกินไป และ การปล่อยกัญชาให้แพร่หลายในสังคมแบบหละหลวมเกินไป อันจะส่งผลให้เกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มากในอนาคต..."
“เหตุผล ความจำเป็น ที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ ควบคู่ไปกับมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา”
ที่มา
1. สืบเนื่องจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุรายชื่อยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 ลงนามวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 กำหนดให้เพียงสารสกัดที่มี THC (Tetrahydrocannabinol) > ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด ส่วนพืชกัญชาและส่วนของกัญชา (เช่น ช่อดอกซึ่งมีสารเมา THC สูงมาก) และสารสกัดที่มี THC < ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่เป็นยาเสพติด สามารถเสพใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติด โดยมีผลบังคับใช้ใน 120 วันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ประกาศวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) ซึ่งคือวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565 ผลที่จะตามมาด้านบวก คือ จะสามารถใช้กัญชาหรือสารสกัดกัญชาที่มีส่วนผสมของ CBD (Cannabidiol) ที่เหมาะสม และมี THC น้อยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้ ผลที่จะตามมาด้านลบ คือ (1) เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่สามารถสูบช่อดอกได้เพราะช่อดอกไม่ใช่ยาเสพติด โดยสามารถอ้างว่าใช้เพื่อสุขภาพ และ (2) การจะตรวจวัดระดับ THC ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ว่ามี THC มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำได้โดยบุคคลหรือเครื่องมือทั่วไปเพราะต้องใช้เครื่องมือตรวจเฉพาะ และไม่มีทางที่จะมีหน่วยงานใดที่จะมีกำลังพอที่จะตรวจอาหารทุกจานและเครื่องดื่มทุกขวดทั่วประเทศได้หากมีการนำช่อดอกมาแอบใส่เพื่อให้ขายดี ซึ่ง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ จะมีการเสพใช้ช่อดอกกัญชาอย่างแพร่หลาย และยากที่จะบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ได้
2. พรรคภูมิใจไทย เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ....2 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เพื่อรอคิวการพิจารณาต่อไป สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯนี้ คือ การส่งเสริมสนับสนุนการใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ ป้องกันการใช้ในทางที่ผิดในกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม (ได้แก่ เยาวชนอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร) โดยมีการกำหนดมาตรการควบคุมกัญชาในทางที่ผิดระดับหนึ่ง แต่เป็นมาตรการที่มีลักษณะค่อนข้างหละหลวมเมื่อเทียบกับมาตรการควบคุมในประเทศแคนาดา ทั้งนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 เป็นต้นไป ในเว็ปไซด์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=193) ข้อมูล ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2565 มีผู้แสดงความคิดเห็นแล้ว 97 คน
3. จากการศึกษาว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ (ใช้เพื่อความสนุกสนุน ใช้เพื่อความเมา) อยู่จำนวนเท่าใด โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ซึ่งทำการสำรวจประชากรที่เป็นตัวแทนประชาชนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขปลด “ใบ/ราก/ต้น/ชิ้นส่วนอื่นๆ” ของกัญชาจากการเป็นยาเสพติด โดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงนามวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา จากจำนวนกว่า 1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2562 เป็น จำนวนถึง 1.9 ล้านคน (ซึ่งคิดเป็นความชุกร้อยละ 4.3 ชองประชากรไทย) ในปีพ.ศ. 2564 หรือ คิดเป็นเพิ่มเป็นประมาณเกือบสองเท่าตัว นอกจากนี้ ข้อมูลจากหน่วยพิษของโรงพยาบาลรามาธิบดีจากช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 (ประเทศไทยมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เริ่ม 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562) พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา (เช่น เมา ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ในปริมาณที่มากกว่าแพทย์สั่ง หรือ การนำไปใช้เพื่อนันทนาการโดยตั้งใจ) มากขึ้นมากหลังจากที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย (ดูภาพที่ 1 ข้างล่างนี้) จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าหากไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด (ใช้เพื่อนันทนาการ) ที่เพียงพอ ประเทศไทยจะมีผู้ใช้กัญชาการในทางที่ผิดเพิ่มอีกเท่าใด หลังจากที่มีการปลดช่อดอกกัญชาจากการเป็นยาเสพติดเมื่อครบ 120 วัน ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้
ภาพที่ 1 จำนวนผู้ป่วยต่อเดือนที่รายงานว่ามีอาการที่ไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ได้รับ ในระบบข้อมูลของศูนย์พิษของโรงพยาบาลรามาธิบดี ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึงพฤษภาคม พ.ศ. 2562
นี้จึงเป็นที่มาในการจัดทำเอกสารฉบับนี้โดยเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนเพื่อต้านภัยยาเสพติดขึ้น ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
สาระสำคัญ
1. กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ (ดูภาคผนวก 1 ประกอบ)
กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ เช่น แพทยสภายอมรับบนหลักฐานการพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ตามแนวแพทย์แผนปัจจุบันสามารถใช้รักษาได้หกอาการของโรคหรืออาการที่เกิดจากการรักษา และข้อมูลจากการติดตามเบื้องต้นของผลของการใช้น้ำมันกัญชา (สูตร อ.เดชา ศิริภัทร) ที่พบว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทานอาหาร นอนหลับ ลดปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ โดยมีผลข้างเคียงไม่มาก (ยังไม่ใช่การศึกษาผลการใช้น้ำมันกัญชาในลักษณะการทดลองเพื่อพิสูจน์เชิงประจักษ์) ทั้งนี้การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา พบว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์สามารถลดการใช้อนุพันธ์ฝิ่นลงได้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ผู้ป่วยที่ใช้กัญชารายงานว่าใช้กัญชาเพื่อทดแทนการดื่มสุรา การสูบบุหรี่และการใช้ยาเสพติดผิดกฎหมายอื่นๆ (เช่น เฮโรอีน) ตลอดจนยากล่อมประสาทชนิด benzodiazepines และยาต้านการซึมเศร้า (หมายเหตุ: เป็นการแสดงเจตนาการใช้กัญชา แต่ไม่ได้หมายถึงว่าใช้กัญชาแล้วได้ผลหรือไม่อย่างไร) ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ทดแทนได้
อย่างไรก็ตามกัญชาและกัญชาทางการแพทย์มีผลกระทบด้านลบหรือโทษ เช่น เกิดการรั่วไหลนำไปสู่การใช้ในทางที่ผิด เกิดการสพติดกัญชาและการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชาจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น (เช่น การเกิดอาการทางจิต มะเร็งปอด การเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น) การอนุญาตให้ผู้ป่วยปลูกได้ในบ้านเพิ่มความถี่ของการใช้กัญชา ส่วนการอนุญาตให้มีร้านจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายเพิ่มจำนวนการเข้าโรงพยาบาลด้วยการใช้กัญชาผิดปกติ รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความชุกของการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนน้อยกว่าร้อยละ 8 จะมีการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นหลังจากที่รัฐนั้นๆกำหนดให้มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ (ทั้งนี้ประเทศไทยมีความชุกของผู้เสพกัญชาทุกกลุ่มอายุเพียงร้อยละ 0.2 ในปี พ.ศ.2554 จึงมีโอกาสสูงมากที่เยาวชนและประชาชนทั่วไปจะมีการเสพกัญชามากขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกฎหมายกัญชาเสรี) ที่สำคัญคือ กัญชาส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองเยาวชน และกัญชามีโอกาสเป็นประตูสู่การใช้ยาเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า
สรุป คือ กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประเทศไทยจะต้องออกแบบนโยบายให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและลดโทษที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
2. ประเทศไทยมีพัฒนาการจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์สู่นโยบายกัญชาเสรีอย่างรวดเร็ว จนสังคมอาจยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีนโยบายกัญชาเสรี
ประเทศแคนาดาชะลอเวลาถึง 17 ปี จากการมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ.2554) จนถึงการมีนโยบายกัญชาเสรีเพื่อความบันเทิงในปี ค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) ทั้งนี้หลังจากที่ประเทศแคนาดามีนโยบายกัญชาทางการแพทย์แล้วนั้น ความชุกของการใช้กัญชาในประชากรแคนาดาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการใช้กัญชาใต้ดินจำนวนมากจนไม่อาจควบคุมได้ เป็นเหตุให้ในที่สุดรัฐบาลแคนาดากำหนดให้มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการ (ความบันเทิง) ขึ้นเพื่อลดปัญหาการใช้กัญชาใต้ดินซึ่งผิดกฎหมาย เพื่อลดปัญหาภาระของระบบยุติธรรมที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้จากภาษีกัญชาหากทำให้การใช้กัญชาถูกกฎหมาย และเพื่อควบคุมไม่ให้เยาวชนใช้กัญชา โดยรัฐบาลแคนาดาใช้มุมมองด้านสาธารณสุขเป็นกรอบการออกแบบมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเข้มงวด เช่น การควบคุมการเข้าถึงกัญชา การควบคุมการจำหน่าย การควบคุมการโฆษณาและการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ ตลอดจนมาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น (ดูรายละเอียดในสาระสำคัญประเด็นที่ 3)
ประเทศไทยกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้กัญชาเป็นหนึ่งในยาเสพติดให้โทษที่ต้องมีการควบคุม ต่อมาเกิดมีระบบกัญชาทางการแพทย์ขึ้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2562 (ฉบับที่ 7) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ แม้กัญชาจะยังเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่สามารถใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ ในขณะเดียวกันประเทศไทยได้มีการรวมรวมกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดฉบับต่างๆให้รวมเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ประมวลกฎหมายยาเสพติดได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ด้วยการผลักดันของฝ่ายการเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลให้ต่อมามีการประกาศกระทรวงสาธารณสุขปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 และจะมีผลบังคับใช้ใน ๑๒๐ วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (คือวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2565) ซึ่งจะมีเพียงสารสกัดกัญชาที่มีระดับ THC สูงกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และ พืชฝิ่นและเห็ดขี้ควาย เท่านั้นที่เป็นยาเสพติด ส่วนสารสกัดกัญชาที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และพืชกัญชา (ซึ่งรวมช่อดอกกัญชาซึ่งมี สารเมา คือ THC ในระดับที่สูงมาก คือ มากกว่าร้อยละ 20) จะไม่เป็นยาเสพติด1 เยาวชนจะสามารถสูบช่อดอกได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติดอีกต่อไป รวมเวลาจากการมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ถึงการมีนโยบายกัญชาเสรี ใช้เวลาเพียงประมาณ 3 ปีสำหรับประเทศไทย
ทั้งนี้มีการศึกษาหลายการศึกษาที่ทำการประเมินผลกระทบที่เกิดตามมาหลังจากมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ในบางรัฐของประเทศอเมริกา (ดูภาคผนวก 2 ประกอบ) โดยพบว่า การศึกษาแบบภาคตัดขวาง (คือ เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างรัฐในเวลาเดียวกัน) พบว่า รัฐที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้นั้น ประชากรทั่วไปจะมีทัศนคติที่ยอมรับการใช้ มีแนวโน้มที่จะใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เข้มข้นสูง และมีพฤติกรรมการใช้กัญชามากกว่า อีกทั้งมีการใช้กัญชาในหมู่เยาวชนที่มากกว่า รัฐที่ไม่ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ ส่วนการศึกษาแบบระยะยาว (ติดตามข้อมูลต่อเนื่องตามเวลา) พบว่าความชุกของการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิง และ จำนวนเด็กอายุต่ำกว่าหกปีที่รับประทานกัญชาโดยความบังเอิญในระดับประเทศเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่รัฐต่างๆทยอยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงได้ จึงเกิดคำถามว่าประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีนโยบายกัญชาเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดที่เพียงพอ
3. มีเหตุผลความจำเป็นอย่างชัดเจนที่ประเทศไทยต้องชะลอการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด ซึ่งต้องการการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเพื่อร่วมออกแบบนโยบายที่สามารถส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และป้องกันผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้กัญชาในทางที่ผิด ก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการต่อไป
สืบเนื่องจากที่กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษดังที่กล่าวแล้วข้างต้น และส่งผลกระทบต่อกลุ่มประชากรต่างๆแตกต่างกันไป เช่น กัญชาทางการแพทย์จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ป่วย กัญชาเพื่อเศรษฐกิจจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการสร้างรายได้จากการปลูกและจำหน่ายกัญชา แต่การมีกัญชาที่แพร่หลายในสังคมโดยไม่มีวิธีการควบคุมที่เข้มงวดเพียงพอจะส่งผลลบต่อครอบครัวที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเด็กและเยาวชนหรือครอบครัวที่จะมีลูกหลานในอนาคตซึ่งมีจำนวนมากกว่าสองกลุ่มแรกมาก จึงจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการรับฟังเสียงประชากรกลุ่มต่างๆอย่างรอบด้านและออกแบบนโยบายที่มีส่วนร่วมจากกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบคอบ ทั้งนี้มีเหตุผลสี่ประการที่บ่งชี้ว่าควรจะต้องชะลอการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดเพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนี้ คือ
หนึ่ง สังคมยังสับสนว่านโยบายที่ออกมาเป็น “กัญชาทางการแพทย์” หรือ “กัญชาเสรี” เนื่องจากการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาของประเทศไทย มีการให้เหตุผลเพื่อผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์มาโดยตลอด แต่นโยบายที่เกิดขึ้นเป็นนโยบายกัญชาเสรี (เช่น ช่อดอกซึ่งมีสารเมา THC สูง ไม่เป็นยาเสพติด ทำให้การเสพช่อดอกกัญชาไม่ผิดกฎหมาย) ความขัดแย้งระหว่างการให้เหตุผลที่มาของการกำหนดนโยบายกับนโยบายที่กำหนดขึ้นจริงนี้ ส่งผลให้เกิดความสับสนในสังคมว่าจริงๆแล้วสังคมควรมีนโยบายนโยบายกัญชาเสรีแล้วหรือยัง ดังที่นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา (และอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ว่า “เหมือนขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน แต่พอลงท้ายเป็นมะลิลา” และในความเป็นจริงมีผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาทางการแพทย์ที่ใช้อย่างถูกต้องแต่ไม่ยอมรับนโยบายกัญชาเสรีอีกเป็นจำนวนมากในสังคมไทย ดังเช่น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำการสำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,257 ราย เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการใช้กัญชา โดยเก็บข้อมูลทางโทรศัพท พบว่า มีประชาชนถึงร้อยละ 96.6 ที่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ปลูกกัญชาทางการแพทย์ได้เสรีตามบ้าน และการศึกษาเพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาของประชาชนโดยการเก็บข้อมูลแบบตัวต่อตัว ในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป จำนวน 5,439 คน จาก 20 จังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) พบเช่นเดียวกันว่า ประชากรส่วนใหญ่มีแนวโน้มเห็นด้วยต่อการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำดับดูแล และไม่สนับสนุนการนำกัญชามาใช้เพื่อนันทนาการ รวมไปถึงการปลูก-ซื้อ-ขายกัญชาโดยเสรี
สอง การออกแบบรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 จะส่งผลให้เกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มากและยากต่อการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 กำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีระดับ THC >ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด แต่หากสารสกัดนั้นมี THC ไม่เกิน ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก และตัวพืชกัญชา (ซึ่งรวมช่อดอกกัญชา) ไม่เป็นยาเสพติด ทำให้เกิดความยากลำบากในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การศึกษาวิจัยของศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำการสุ่มสำรวจระดับสาร THC ในอาหารและเครื่องดื่มที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2565 จำนวนตัวอย่าง 29 รายการ พบว่ามีหกรายการ หรือ ร้อยละ 20 ที่มีสาร THC สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเกิดคำถามว่าอาหารและเครื่องดื่มในท้องตลาดจะมีปริมาณ THC ปนอยู่เท่าใด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ค้าขายอาหารหรือเครื่องดื่มสามารถปลูกกัญชาไว้หลังบ้านได้อย่างเสรี) และ หากมีเด็กและเยาวชนอาจนำช่อดอกกัญชาที่ปลูกไว้ในบ้านไปเสพใช้โดยที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ทราบ โดยให้เหตุผลว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด และที่ใช้นั้นเป็นการใช้สมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ได้ใช้เพื่อนันทนาการ จึงเกิดคำถามว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าการเสพกัญชานั้นเพื่อสุขภาพหรือเพื่อนันทนาการ การออกแบบนโยบายเช่นนี้ก่อให้เกิดความยากลำบากในการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด (ดูภาคผนวก 3)
สาม มาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มีลักษณะหละหลวมหลายประการ เมื่อเปรียบเทียบมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย กับมาตรการที่ใช้ในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย จะพบว่ามาตรการที่เสนอในประเทศไทยนั้นมีลักษณะหละหลวมหลายประการ ทั้งการปลูกในครัวเรือนได้อย่างเสรีไม่จำกัดจำนวน ขอเพียงแค่จดแจ้งเท่านั้น (คือไม่ต้องขออนุญาต) (จากคำสัมภาษณ์ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงในเว็ปไซด์ voice plaza วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2565 : https://voicetv.co.th/read/IryQmfBsT) การควบคุมการครอบครอง การจำหน่าย การโฆษณา และ ที่สำคัญคือมาตรการปกป้องเยาวชนที่จะใช้กัญชาในทางที่ผิด (ดูภาคผนวก 4)
สี่ การปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ให้ใช้สำหรับวัตถุประสงค์อื่นได้นอกจากเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เป็นการกระทำผิดต่อการเป็นสมาชิกของอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับปี ค.ศ.1961, 1971 แล 1988 ซึ่งกำหนดให้การใช้กัญชาโดยทั่วไปเพื่อนันทนาการยังเป็นความผิดฐานใช้ยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ได้เท่านั้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้ประเทศไทยสามารถถูกคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่งประเทศ (INCB หรือ International Narcotics Control Board) เรียกไปสอบถาม ตักเตือน ตำหนิ แนะนำ หรืออาจจะตอบโต้ได้ ดังที่เคยตอบโต้บางประเทศมาแล้ว เช่น การตัดการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ยาบางชนิด ซึ่งจะทำให้ยาที่จำเป็นชนิดนั้นขาดแคลนได้ในประเทศไทย
เหตุผลทั้งสี่ประการนี้บ่งชี้ว่าควรมีการชะลอการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดไว้ก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่รอบคอบรัดกุมเพียงพอ
4. บทสรุป
กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ ประเทศไทยจะต้องออกแบบนโยบายให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดและลดโทษที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด การออกแบบนโยบายกัญชาต้องใช้มุมมองด้านสาธารณสุขร่วมด้วย ไม่เพียงใช้มุมมองด้านเศรษฐกิจ การออกแบบนโยบายกัญชาต้องรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านและออกแบบนโยบายร่วมกัน เพื่อที่จะรักษาประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่และปกป้องลูกหลานเยาวชนของประเทศไทย โดยประเทศไทยจะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างรอบคอบรัดกุมก่อนที่จะมีการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดอย่างเป็นทางการ และ การเสนอให้ชะลอการปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ไม่ใช่การขัดขวางการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ใช้อย่างถูกต้อง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้สังคมหาทางออกในลักษณะ “ทางสายกลาง” ระหว่างการควบคุมกัญชาแบบเข้มงวดเกินไป และ การปล่อยกัญชาให้แพร่หลายในสังคมแบบหละหลวมเกินไป อันจะส่งผลให้เกิดการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้มากในอนาคต
ภาคผนวก
ภาคผนวก 1 กัญชามีทั้งประโยชน์และโทษ
กัญชากับประโยชน์ในทางการแพทย์
กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ในระดับบุคคล เช่น แพทยสภาออกคำแนะนำว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สามารถใช้รักษาภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อยา อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis) ภาวะปวดปลายประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองได้ และ การติดตามลักษณะการใช้และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้น้ำมันกัญชา (สูตรอ.เดชา ศิริภัทร) ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2562 ถึงสิงหาคม 2563 พบว่า น้ำมันกัญชาสามารถช่วยให้ผู้ป่วยทานอาหารได้ นอนหลับ ลดปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ โดยมีผลข้างเคียงไม่มาก เป็นต้น การศึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและเป็นวัยกลางคน การใช้กัญชาทางการแพทย์สามารถลดการใช้อนุพันธ์ฝิ่นลงได้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ลดการใช้อนุพันธ์ฝิ่นในการรักษาผู้ป่วยลงได้ในระดับรัฐ และลดการเสียชีวิตจากการใช้อนุพันธุ์ฝิ่นเกินขนาดในระดับรัฐลงได้ด้วย ในประเทศแคนาดา ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งระบุว่าใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อทดแทนการใช้อนุพันธ์ฝิ่น การดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ยากล่อมประสาทชนิด benzodiazepines และยาต้านการซึมเศร้า (หมายเหตุ: เป็นเจตนาการใช้กัญชา แต่ไม่ได้หมายถึงว่าใช้กัญชาแล้วได้ผลหรือไม่อย่างไร)
กัญชาทางการแพทย์มีประโยชน์ด้านสุขภาพในระดับสาธารณะ เช่น และในประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สามารถลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการใช้เฮโรอีนลงได้ และรัฐ (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สามารถลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ทดแทนได้
กัญชากับผลกระทบด้านลบต่อระบบสาธารณสุขและสังคม
อย่างไรก็ตาม กัญชาทางการแพทย์มีผลกระทบด้านลบหรือโทษด้วย เช่น การศึกษาผลกระทบด้านสาธารณสุขและสังคมจากการมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ พบว่า การมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโรคหัวใจ การมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาสัมพันธ์กับการลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาสุรา (ซึ่งหมายถึงการใช้กัญชาถูกใช้ทดแทนการใช้สุรา และ ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์มักจะใช้อยู่ที่บ้านจึงลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มักดื่มจากผับบาร์แล้วขับรถกลับบ้าน) ส่วนในประเทศแคนาดากลับพบว่ามีการตรวจพบการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นในผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรที่ตรวจพบสารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง การศึกษาแบบ meta-analysis พบว่าการขับขี่ยานพาหนะภายใต้ฤทธิ์กัญชาเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจราจร โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงจนถึงเสียชีวิต รัฐที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอัตราการเสียชีวิตจาก opioid overdose ต่อ 100,000 ประชากรลดลงในช่วงปีแรกๆ แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นเพิ่มขึ้น รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์พบว่ามีการก่ออาชญากรรมลดลงแต่ยังไม่พบความสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่ชัดเจน และการมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้มีผลต่อการจ้างงานโดยตรง แต่พบมีความสัมพันธ์กับค่าแรงที่ลดลงของกลุ่มผู้ชายอายุ 30,39 ปี
ผลกระทบด้านการใช้สารเสพติดในกลุ่มประชากรทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนจากการมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ พบว่า ผู้ป่วยนิยมไปรับบริการกับสถานบริการกัญชาทางการแพทย์ที่เข้มงวดน้อยกว่า (เช่น ไม่สอบถามอาการป่วยมาก ให้ยาง่าย และให้มาก) เนื่องจากรับกัญชาทางการแพทย์ได้ง่ายกว่า การทำให้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่งใช้ประโยชน์ได้ในทางการแพทย์ส่งผลให้เกิดการยอมรับการใช้สารเสพติดนั้นมากขึ้น การมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับการถูกจับกุมคดีครอบครองกัญชาซึ่งผิดกฎหมายมากขึ้น การผ่อนคลายการควบคุมการสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ส่งผลให้เกิดผู้สมัครใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้เกิดผลกระทบเช่นการเกิดการใช้กัญชาเกินขนาดและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น การอนุญาตให้ผู้ป่วยปลูกได้ในบ้านเพิ่มความถี่ของการใช้กัญชา ส่วนการอนุญาตให้มีร้านจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายเพิ่มจำนวนการเข้าโรงพยาบาลด้วยการใช้กัญชาผิดปกติ
มีการศึกษาทั้งที่พบว่าผู้ใหญ่มีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น และไม่เพิ่มขึ้น ในรัฐที่มีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาที่พบว่าการมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุเกี่ยวกับกัญชามากขึ้นในประเทศแคนาดา
ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ต่อเยาวชน พบว่า การมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับการใช้เวลาเรียนที่ลดลงและการใช้เวลาเพื่อความบันเทิงที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา การมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์สัมพันธ์กับการมีทัศนคติยอมรับกัญชาที่มากขึ้นในกลุ่มเยาวชน สัมพันธ์ต่อการเริ่มต้นใช้กัญชาที่มากขึ้น และ สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการใช้กัญชาที่เพิ่มขึ้น แต่บางการศึกษาไม่พบว่ามีผลให้เยาวชนใช้กัญชามากขึ้น
รัฐที่เยาวชนเสพกัญชาในสัดส่วนที่สูงกว่าจะผ่านกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ก่อนรัฐที่เยาวชนเสพกัญชาในสัดส่วนที่ต่ำกว่า แต่ผลที่ตามมาคือรัฐที่มีความชุกของการเสพกัญชาในกลุ่มเยาวชนสูงกว่าร้อยละ 8 จะมีเยาวชนเสพกัญชาน้อยลง ส่วนรัฐที่มีความชุกของการเสพกัญชาในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่าร้อยละ 8 จะมีเยาวชนเสพกัญชามากขึ้นหลังจากมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ (หมายเหตุ: ประเทศไทยมีความชุกของผู้เสพกัญชาทุกกลุ่มอายุเพียงร้อยละ 0.2 ในปี พ.ศ.2554 จึงมีโอกาสสูงมากที่เยาวชนและประชาชนทั่วไปจะมีการเสพกัญชามากขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายกัญชาทางการแพทย์)
นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบที่ไม่คาดคิดอีกประการหนึ่ง คือ การรับประทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี Lubitz et al. (2020) ศึกษาการรับประทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เปรียบเทียบระหว่างรัฐที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์และรัฐที่ไม่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ฐานข้อมูลระดับประเทศเกี่ยวกับการได้รับพิษ (National Poison Data System) ระหว่างปี 2000 ถึง 2017 พบว่าจำนวนเด็กที่ทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจเริ่มเพิ่มขึ้นในปี 2009 และเพิ่มขึ้นปีละร้อยละ 27 ขึ้นไปจนถึง 742 คนต่อปีในปี 2017 จากการที่จำนวนผู้ป่วยเด็กที่ทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งในมีจำนวนคงที่ในระดับต่ำกว่า 100 ราย/ปีในช่วงปี 2000-2009 ดังรูปภาพที่ 2
ภาพที่ 2 จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่รับประทานกัญชาโดยไม่ได้ตั้งใจ เปรียบเทียบระหว่างรัฐที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์และรัฐที่ไม่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกัญชา
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สรุปโดยย่อได้ดังนี้ กัญชามีหลายสายพันธุ์และมีสารสำคัญมากกว่า 500 ชนิด โดยแบ่งเป็นสารกลุ่ม cannabinoids ประมาณ 120 ชนิด และ non-cannabinoids ประมาณ 445 ชนิด กัญชาที่พบในประเทศไทย คือ สายพันธุ์ที่เรียกว่า Cannabis Sativa เป็นสายพันธุ์ที่พบสาร cannabinoids หรือ delta 9 – THC ในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะในช่อดอก delta 9 – THC เป็นสารที่มีทั้งประโยชน์ในการรักษาหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็มีอาการข้างเคียงที่ต้องคำนึงถึงดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ หลังจากที่ได้รับ delta 9 – THC เข้าไปในร่างกายไม่ว่าจะโดยการสูบ การรับประทาน หรือ การหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้น delta 9 – THC จะเข้าไปออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับของมันที่ชื่อ cannabinoid (CB) receptor ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ CB1 และ CB2 receptor ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกาย การออกฤทธิ์ของ delta 9 – THC ต่อ CB1 receptor ที่สมองและระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อจับแล้ว จะส่งผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเซลล์หรืออวัยวะที่มี CB1 receptor นั้น และส่งผลให้เกิดผลต่อร่างกายโดยสรุป ดังนี้
ด้านประโยชน์ ได้แก่ (1) ที่สมองส่วน hypothalamus มีผลลด serotonin ซึ่งเป็นสารที่สมองที่ทำให้รู้สึกอิ่ม จึงมีผลกระตุ้นให้มีความอยากอาหาร (2) ที่สมองส่วน vomiting center มีการยับยั้งการกระตุ้น vomiting center จึงทำให้ลดอาการอาเจียนได้ (3) ที่สมองส่น dorsal horn ของ spinal cord มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่ง glutamate จากปลายประสาท c-fiber จึงทำให้ delta 9 – THC มีฤทธิ์แก้ปวด (แต่ไม่แรงเทียบเท่า morphine) และ (๔) ที่สมองส่วน limbic ทำให้ delta 9 – THC มีฤทธิ์ผ่อนคลาย อย่างไรก็ตามฤทธิ์ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ไม่ได้ดีไปมากกว่ายาแผนปัจจุบันที่มีใช้ และจากการศึกษาทางคลินิกในทุกข้อบ่งใช้ พบว่า delta 9 – THC มีประสิทธิภาพต่ำกว่ายาแผนปัจจุบันที่มีใช้ทั้งหมด
ส่วนในด้านโทษ ได้แก่ (1) ที่สมองส่วน frontal cortex มีผลลดการทำงานของสมองส่วนนี้ ทำให้ลดพุทธิปัญญา (การู้คิด) ลดความไวในการวางแผนและตัดสินใจ (2) ที่สมองส่วน hippocampus มีผลทำให้การเก็บความจำลดลง (3) ที่สมองส่วน nucleus accumben มีผลทำให้เกิดอาการเคลิ้มสุข (euphoria) และประสาทหลอน (hallucination) รวมทั้งเกิดอาการหวาดระแวง (paranoid) ได้ จึงห้ามใช้กัญชาที่มี delta 9 – THC สูงในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคจิตเภทหรือมีประวัติติดยามาก่อน และอาจนำไปสู่การเป็นโรคจิตอย่างถาวรได้ (4) ที่สมองส่วน basal ganglion และ cerebellum มีผลทำให้ลดการทำงานของ motor coordination (5) ที่ oligodendrocyte มีผลลดการสร้าง myelin ทำให้พัฒนาการของสมองลดลง จึงห้ามใช้ในผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า ๒๕ ปี และห้ามเปิดใช้เสรี เพราะจะกระทบในวงกว้างต่อสุขภาพของสมองของเยาวชนของประเทศ (6) ผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด มีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrial fibrilliation, ventricular tachycardia, vasospasm และ postural hypotension ได้ ดังนั้นจึงต้องหลีกเลี่ยงการใช้ delta 9 – THC ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังพบรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยสาเหตุของระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานผิดปกติอีกด้วย และ (7) delta 9 – THC ยังมีผลยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในการทำงายยาอื่น เช่น CYPIA2, CYP2C9, CYP2D6, CYP3A4 และ p-glycoprotein อีกด้วย ดังนั้น delta 9 – THC จากน้ำมันกัญชา จึงมีผลทำให้ระดับยาอื่น เช่น warfarin, amlodipine, haloperidol จะเพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้
กัญชากับพัฒนาการของสมอง
กัญชามีผลทำให้พัฒนาการทางสมองของเยาวชนผิดปกติเพราะว่าสมองของวัยรุ่นอ่อนไหวต่อกัญชามากกว่าสมองผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบ endocannabinoid system (ระบบที่สารกัญชาออกฤทธิ์) มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองในช่วงวัยรุ่น การใช้กัญชาที่มากและต่อเนื่องในช่วงวัยรุ่นจะมีผลต่อ “การตัดแต่งจุดเชื่อมระหว่างเซลประสาทที่เกินความจำเป็น (synaptic pruning)” และ “การสร้างส่วนของสมองเนื้อขาว (white matter development)” (หมายเหตุ: สมองเนื้อขาวทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลที่ประมวลผลจากสมองเนื้อเทาแล้ว (gray matter) ไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการรู้คิดและอารมณ์ มีหลักฐานจากการศึกษาด้านจิตวิทยาระบบประสาทแสดงให้เห็นว่าจะเริ่มมีหลักฐานแสดงให้เห็นร่องรอยว่ามีการสูญเสียการรู้คิด (cognitive deficit) หลังจากใช้กัญชาอย่างหนัก (heavy cannabis use) ไปแล้วเจ็ดวัน และการศึกษาภาพถ่ายการทำงานของสมองพบว่าการใช้กัญชาทำให้การทำงานของสมองเปลี่ยนไป และ การศึกษาภาพถ่ายโครงสร้างสมองแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ที่ใช้กัญชาจะมีความผิดปกติของปริมาณของสมองส่วน hippocampus (ซึ่งมีตัวรับ CB1 receptor มาก) และ ความหนาแน่นของสมองส่วนสีเทาลดลง (gray matter density)
ในรายงานการวิจัยเปรียบเทียบทุนชีวิต (developmental assest) กับปัจจัยด้านครอบครัวและสังคมที่เป็นระบบนิเวศน์ของเด็กต่อการเสพสารเสพติด ATOD (alcohol, tobacco, and other drugs) พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบมีทุนชีวิตที่ต่ำ (เช่น ครอบครัวมีความขัดแย้ง หรือ อยู่ในสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนา) จะมีความเสี่ยงต่อการติดสารเสพติดทุกตัว (ทั้งสุรา บุหรี่ และสารเสพติดอื่นๆ) 3-10 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ถูกเลี้ยงแบบมีต้นทุนชีวิตที่สูง เมื่อมาผนวกกับงานวิจัยของ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และคณะ ที่ทำทั่วประเทศมาเป็นระยะเวลา 10 ปี ที่พบว่าเด็กและเยาวชนไทยโดยภาพรวมมีทุนชีวิตที่กำลังอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ.2564-พ.ศ.2565 ประกอบกับรายงานสถานการณ์คุณธรรมในผู้ใหญ่ทุกกลุ่มสาขาอาชีพทั่วประเทศในปี พ.ศ.2564 พบว่า คุณธรรมหมวดความซื่อสัตย์ สุจริต โดยเฉพาะประเด็นความละอายในการทำผิดและการยึดมันในความดี กำลังส่งสัญญาณเตือนในทางลบ รวมถึงวินัยในประเด็นการรู้จักควบคุมตนเอง (self regulation) ก็ต่ำเช่นเดียวกัน จึงน่าเป็นห่วงว่าหากมีการประกาศให้ปลูกกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แบบเสรี โดยปราศจากการควบคุมที่เพียงพอ จะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นระบบนิเวศน์ต้นทุนชีวิตของการพัฒนาเด็กอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งจะส่งผลอันเลวร้ายต่อการพัฒนาการของเด็กและการพัฒนาสมองของเยาวชน และคุณธรรมของประชากรไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การใช้กัญชานำไปสู่การเสพติดกัญชา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจทางระบาดวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (NESARC, 2001-2005) พบว่า สัดส่วนร้อยละ 8.0 ของผู้เสพกัญชาในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา สัดส่วนร้อยละ 17.0 ของผู้ที่เสพกัญชาทุกสัปดาห์ และ สัดส่วนร้อยละ 18.8 ของผู้ที่เสพกัญชาทุกวัน จะกลายเป็นผู้เสพติดกัญชา (cannabis dependence) ภายในระยะเวลา 1 ปี ดังนั้น ความถี่ของการเสพกัญชาทำให้อัตราของการเสพติดกัญชาเพิ่มมากขึ้น และ จากการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจทางระบาดวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (NHSDA, 2001) พบว่าการเสพกัญชาตั้งแต่อายุ 11-13 ปี เพิ่มความเสี่ยงสัมพัทธ์ (relative risk) ของการเสพติดกัญชาเป็น 10.8 เท่า การเสพกัญชาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี เพิ่มความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการเสพติดกัญชาเป็น 12.0 เท่า ดังนั้น การเริ่มเสพกัญชาตั้งแต่วัยรุ่นยังเพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดมากยิ่งขึ้น ในปัจจุบัน กัญชาและสารสกัดมีความแรงและวิธีการเสพที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น คาดการณ์ว่าอัตราการเสพติดในปัจจุบันน่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับอดีต
กัญชาอาจเป็นประตูสู่การใช้สารเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า
กัญชาอาจเป็นประตูสู่การใช้สารเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่า เพื่อตอบคำถามว่าการใช้กัญชานำไปสู่การใช้สารเสพติดอืนที่ร้ายแรงกว่าหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขของจังหวัด Ontario ประเทศแคนาดา ทำการทบทวนองค์ความรู้ พบว่า แม้ว่าทฤษฎี “ประตูสู่การใช้ยาเสพติด (gateway hypothesis)” ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ยอมรับชัดเจน แต่เป็นไปได้ที่ผู้ใช้สารเสพติดต่างๆจะเริ่มใช้สารเสพติดที่หาได้ง่ายก่อน เช่น กัญชา บุหรี่ และสุรา และที่มีหลักฐานชัดเจนซึ่งพบว่าการใช้กัญชาบ่อยๆหรือการเริ่มใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อยมีโอกาสสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดอื่นๆตามมา ทั้งนี้การใช้สารเสพติดต่างๆมีส่วนจากอิทธิพลอื่นๆ เช่น ประสบการณ์เลวร้ายในวยเด็ก หรือ แรงกดดันทางสังคมอื่นๆ (เช่น เพื่อน) ส่วนองค์กร National Institute on Drug Abuse ประเทศอเมริกา ทำการทบทวนองค์ความรู้เช่นกันและได้สรุปว่า การใช้กัญชามีผลเช่นเดียวกับอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม และการใช้บุหรี่และสุรา ต่อการใช้ยาเสพติดอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ในการศึกษาระบาดวิทยาของการใช้สุราและสารเสพติดอื่นๆในผู้ใหญ่ที่ใช้การสำรวจแบบต่อเนื่องหลายครั้ง พบว่า ผู้ใหญ่ที่ใช้กัญชาในการสำรวจครั้งแรกจะกลายเป็นผู้ที่เสพติดสุราภายในสามปีมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชา มีการศึกษาในหนูที่พบว่าหนูที่ได้รับสารสกัดกัญชา (cannabinoids) ตอนเป็นวัยรุ่น จะทำให้สมองส่วนรางวัลความสุขจากสารโดปามีน (brain dopamine reward centers) จะทำงานลดลงเมื่อหนูตัวนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงหนูจะมีความสุขน้อยลง ต้องใช้สารเสพติดช่วยให้มีความสุขเพิ่มขึ้น เช่น มอร์ฟีน
กัญชากับอาการทางจิต
หลักฐานทางวิขาการจำนวนมากสนับสนุนว่า การใช้กัญชา โดยเฉพาะ THC เป็นเหตุให้เกิดอาการโรคจิต (เช่น หูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท หลังการเสพกัญชา เนื่องจาก THC จะเข้าไปจับกับตัวรับของสารกัญชาในสมองทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณสารโดปามีน และส่งผลห้เกิดอาการโรคจิตขึ้นได้ ผู้ที่เคยเสพกัญชาเสี่ยงต่อการมีอาการโรคจิตมากกว่าผู้ที่ไม่เคยเสพ 1.4 เท่า และผู้ที่เสพกัญชาบ่อยจะมีความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 2.1 เท่า ในการติดตามผู้ใช้ยาเสพติดหลายชนิดนานหลายปี ผู้ที่มีประวัติเคยใช้กัญชามีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภทมากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติดใดๆ ถึงเท่า ซึ่งตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับค่าคววามเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภทของผู้ที่มีประวัติการเสพเมทแอมเฟตามีน
ผลการศึกษาในประเทศเดนมาร์กเมื่อไม่นานมานี้ก็สนับสนุนว่า การเสพกัญชาเพิ่มขึ้นในประชากรชาวเดนมาร์กในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เป็นผลจากการเสพกัญชาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 8 และได้มีการคาดการณ์ว่า หากประเทศเดนมาร์กควบคุมการใช้กัญชาและมีการใช้กัญชาที่เข้มข้นลดลง ประเทศเดนมาร์กน่าจะมีผู้ป่วยโรคจิตเภทลดลงได้
โรคจิต โดยเฉพาะโรคจิตเภทที่ผู้ป่วยมักมีอาการโรคจิตไปตลอดชีวิต เป็นโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยมักไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ การมีผู้ป่วยโรคจิตเภทแต่ละราย เป็นการสูญเสียที่สำคัญของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม หากประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคจิตเภทเพิ่มขึ้น ประเทศจะสูญเสียประชากรที่มีคุณภาพ การไม่สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม รวมทั้งประเทศต้องจัดหาสวัสดิการและการดูแลรักษาโรคผู้ป่วยโรคจิตเภทไปตลอดชีวิต
ภาคผนวก 2 ตัวอย่างการทบทวนองค์ความรู้ผลกระทบของการมีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการในประเทศสหรัฐอเมริกา
1. Steigerwald et al. (2021) ทำการศึกษากลุ่มประชากรที่เป็นตัวแทนระดับประเทศในทางออนไลน์ในประเทศสหรัฐอเมริการจำนวน 16,280 คน เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้กัญชา เปรียบเทียบรัฐมีกฏหมายให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการและรัฐอื่นๆ พบว่า ประเด็นต่อไปนี้มีในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ รองลงมาคือรัฐที่อนุญาตให้ใชกัญชาในทางการแพทย์ และรัฐที่ห้ามใช้กัญชาเพื่อการใดๆ ตามลำดับ ได้แก่ กัญชาสามารถใช้ลดปวดได้ ลดความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้า เพิ่มความอยากอาหาร และเชื่อว่าการสูบกัญชาวันละหนึ่งมวนอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่วันละหนึ่งมวน การได้รับควันกัญชามือสองอันตรายน้อยกว่าการได้รับควันบุหรี่มือสอง และ ความชุกของพฤติกรรมการใช้กัญชาจริงๆในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาของรัฐทั้งสามประเภท คือ ร้อยละ 21.1, 15.4, และ 11.9 ตามลำดับ สรุปได้ว่ารัฐที่ยิ่งมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรีจะมีการยอมรับและมีพฤติกรรมการใช้กัญชาที่สูงกว่ารัฐที่ควบคุมกัญชมากกว่า
2. Hasin et al. (2021) ทำการศึกษาทางออนไลน์ในประเทศสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้ใหญ่ที่ใช้กัญชาในปี 2017 จำนวน 4,064 คน พบว่าผู้ใช้กัญชาในรัฐที่มีกฎหมายกัญชาเสรีมีโอกาสเสี่ยง (odds ratio) และ ในรัฐที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์อย่างเดียว ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเข้มข้นสูง (high potency) คิดเป็น 2.6 และ 1.6 เท่าของรัฐที่ไม่มีนโยบายกัญชาใดๆ และเมื่อเปรียบเทียบกันเองระหว่างรัฐที่มีนโยบายกัญชา จะพบว่ารัฐที่มีนโยบายกัญชาเสรีจะมีการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาเข้มข้นสูงคิดเป็น 1.7 เท่าของรัฐที่มีนโยบายกัญชาทางการแพทย์
3. Wadsworth และ Hammond (2018) ทำการศึกษาโดยสำรวจทางออนล์ในกลุ่มเยาวชนในประเทศสหรัฐอเมริกาอายุ 16-19 ปี จำนวน 4,097 คน ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2017 พบว่าเยาวชนเยาวชนในรัฐที่มีการอนุญาตให้ใช้แบบเสรีเพื่อนันทนาการสามารถเข้าถึงกัญชาและมีการใช้กัญชาสูงกว่ารัฐที่ไม่ได้อนุญาตให้ใช้เพื่อนันทนาการ ทั้งรัฐที่ให้อนุญาตหลายปีแล้วและรัฐที่เพิ่งอนุญาต ซึ่งหมายถึงว่าการอนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการได้ส่งผลให้เยาวชนใช้กัญชามากขึ้นโดยทันที ทั้งนี้เยาวชนในรัฐที่ห้ามใช้ ในรัฐที่เพิ่งอนุญาต (ตลาดกัญชาเพิ่มเริ่มต้น) และในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อทันทนาการมาหลายปี (ตลาดกัญชาสมบูรณ์) รู้สึกว่าหากัญชาได้ง่ายร้อยละ 59, 67, และ 68 ตามลำดับ และใช้กัญชาในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 13, 18 และ 20 ตามลำดับ
4. Bae and Kerr (2020) ทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้กัญชาในช่วง 30 วันที่ผ่านมาของเยาวชน โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพในกลุ่มนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาใน 587 แห่ง ใน 48 รัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งดำเนินการสำรวจปีละสองครั้งตั้งแต่ปี 2009-2018 รวมเป็นผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 234,669 คนในรัฐที่มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการได้ และ 599,605 คนนัฐที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ ผลการศึกษาพบว่า เยาวชนในรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้มีความเสี่ยง (odds ratio) ในการใช้กัญชาอย่างน้อยหนึ่งครั้งใน 30 วันที่ผ่านมาและในการใช้บ่อย (คือใช้มากกว่า 20 วันใน 30 วัน) สูงเป็น 1.2 เท่าของเยาวชนนรัฐที่ไม่อนุญาตให้ใช้กัญชาเสรีเพื่อนันทนาการ โดยรัฐที่อนุญาตทั้งแต่ปี 2012 `จะเริ่มมีความชุกของพฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่สองจนถึงปีที่หกหลังอนุญาติ รัฐที่อนุญาตตั้งแต่ปี 2015 จะเริ่มมีความชุกของพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งแต่ปีแรกหลังอนุญาตและเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนรัฐที่อนุญาตทีหลังคือระหว่างปี 2016-2017 ก็มีความชุกของพฤติกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นทันทีเช่นกัน ดังรูปที่ 3 จากซ้ายไปขวา คือ รัฐที่อนุญาตตั้งแต่ปี 2012, 2015 และ 2016-2017 ตามลำดับ
ภาพที่ 3 ความชุกของผู้ที่ใช้กัญชาในรอบ 30 วันที่ผ่านมา เปรียบเทียบระหว่างรัฐที่มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการเร็ว กลาง และ ท้ายๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาคผนวก 3: (ก) ตัวอย่างการปลูกต้นกัญชาหลังบ้าน ภาพช่อดอกกัญชา ภาพเด็ก วัยรุ่นและครอบครัวกับกัญชา (ข) ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา และการขายในรูปแบบต่างๆ ของประเทศไทยและประเทศแคนาดา และ (ค) ผลการวิจัยวิเคราะห์ปริมาณสาร THC ในอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ขายรายงานว่ามีกัญชาเป็นส่วนผสมอยู่ โดยศูนย์วจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพจริงถ่ายในประเทศไทยเมื่อต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2565 (ประมาณสองเดือนหลังจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 ประกาศปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด) เป็นภาพเด็กเยาวชนอายุประมาณ 9-12 ปี ในจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือ รวมกลุ่มกันสูบกัญชาที่โดยได้กัญชาจากบ้านเพื่อน สูบด้วยอุปกรณ์ที่ทำขึ้นกันเองโดยดูจาก youtube
(ข) ผลิตภัณฑ์และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในประเทศไทยและประเทศแคนาดา (ปี พ.ศ.2565)
ภาพการขายผลิตภัณฑ์กัญชาริมถนนในประเทศไทย
ผลิตภัณฑ์และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในประเทศแคนาดา (ปี พ.ศ.2565)
ภาพร้านมองจากภายนอก ร้านขายกัญชาโดยเฉพะ ปิดมิดชิด ไม่ให้เยาวชนเห็นผลิตภัณฑ์
ภาพภายในร้าน ห้ามเยาวชนเข้า จะมีการตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าร้าน
บรรจุภัฑณ์ของผลิตภัณฑ์กัญชา จะต้องแสดงข้อมูลรายละเอียดให้ผู้ซื้อเข้าใจตัวผลิตภัณฑ์ให้มากที่สุด เช่น สายพันธุ์กัญชา วันที่บรรจุและวันที่หมดอายุ ปริมาณผลิตภัณฑ์ ปริมาณ THC และ CBD คำเตือน ผู้ผลิต ปริมาณเทียบเท่ากับกัญชาแห้ง (ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่) และ สารประกอบอื่นและสารอาหารที่มีในผลิตภัณฑ์
คำเตือน ทุกผลิตภัณฑ์ต้องมีคำเตือน เช่น “ผลิตภัณฑ์มี THC” “ใช้ THC บ่อยและนานก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้”
แสตมป์ภาษีผลิตภัณฑ์กัญชา ทุกผลิตภัณฑ์กัญชาต้องเสียภาษี
ภาคผนวก 4 มาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มีลักษณะหละหลวมหลายประการ
เอกสารฉบับนี้ได้ทำการเปรียบเทียบมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย กับ มาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดของประเทศแคนาดา และ เปรียบเทียบกับมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย เพื่อที่จะดูว่ามาตรการที่เสนอไว้มีความเข้มงวดหรือหละหลวมหรือไม่อย่างไร (ดูตารางที่ 1 ประกอบ)
1) วัตถุประสงค์ของกฎหมายกัญชา: ประเทศแคนาดา กำหนดกฎหมายกัญชาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ปกป้องสุขภาพของเยาวชนโดยการควบคุมการเข้าถึงกัญชาอย่างเข้มงวด ปกป้องเยาวชนและบุคคลอื่นๆจากการกระตุ้นให้ใช้กัญชา (ที่เกิดจากการโฆษณา) จัดให้มีกัญชาที่ถูกกฎหมายเพื่อลดกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาที่ผิดกฎหมาย และลดภาระของระบบยุติธรรม และเพิ่มการเข้าถึงกัญชาที่มีคุณภาพ และ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการใช้กัญชา ขณะที่ ประเทศไทย พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมายกัญชาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีและบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่นจากการบริโภคกัญชา (ได้แก่ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร)
2) สถานะความเป็นยาเสพติดของกัญชา: ประเทศแคนาดา กำหนดให้มีทั้งกัญชาที่ผิดกฎหมายและกัญชาที่ถูกกฎหมาย โดยที่กัญชาที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามที่กฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดจะเป็นกัญชาที่ถูกกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามนี้จะเป็นกัญชาที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ ประเทศไทย กำหนดให้กัญชา (ซึ่งครอบคลุม ช่อดอก และส่วนอื่นๆ) และสารสกัดกัญชาที่มี tetrahydrocannabinol (THC) < ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่เป็นยาเสพติด มีเพียงสารสกัดกัญชาที่มี THC > ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักเท่านั้นที่เป็นยาเสพติด
3) การอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือน: ประเทศแคนาดา กำหนดห้ามปลูกกัญชาเกินครัวเรือนละ 4 ต้น และห้ามปลูกจากเมล็ดหรือต้นที่ทราบว่าผิดกฎหมาย การปลูกจะต้องปลูกในบริเวณตัวบ้านหรือพื้นที่ติดกับตัวบ้าน แต่ต้องไม่สามารถเห็นได้จากพื้นที่สาธารณะ (เช่น ถนน หรือ สวนสาธารณะ) และต้องไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ปลูก ขณะที่ ประเทศไทย ไม่ได้กำหนดจำนวนที่สามารถปลูกได้ไว้ในร่างกฎหมาย และกำหนดเพียงให้ไปดำเนินการจดแจ้ง และปลูกได้หลังจากได้รับใบรับจดแจ้งแล้ว (คือ ไม่ต้องขออนุญาตปลูก)
4) การควบคุมการครอบครอง กระจาย ผลิต นำเข้า ส่งออก และจำหน่าย: ประเทศแคนาดา กำหนดห้ามครอบครองผลิตภัณฑ์กัญชาใดๆที่มีน้ำหนักเทียบเท่ากับกัญชาแห้ง 30 กรัมในที่สาธารณะ (สำหรับเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปี ห้ามครอบครองเกิน 5 กรัม) และห้ามครอบครองเกินสี่ต้นกัญชาที่ไม่มีดอก หรือ ห้ามครอบครองเกินหนึ่งต้นกัญชาที่มีช่อดอกในที่สาธารณะ ห้ามปลูก/ผลิต/กระจาย/จำหน่าย/นำเข้า/ส่งออกหากไม่ได้รับอนุญาต ห้ามผู้ได้รับอนุญาตฯจาหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่ไม่ได้บรรจุในบรรจุภัณฑ์หรือไม่ได้ติดฉลากตามที่กาหนดในข้อกาหนด และ ห้ามขายผลิตภัณฑ์กัญชาที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์หรือติดฉลากในรูปแบบ/วิธีการ/เนื้อหาที่เยาวชนสนใจ หรือโดยการให้บุคคลใดกล่าวสนับสนุน โดยการใช้บุคคล/สัตว์/ลักษณะใดๆไม่ว่าจะเป็นบุคคลจริงหรือบุคคลในแนวนวนิยาย และ โดยวิธีการเชื่อมโยงการใช้กัญชากับความสาเร็จ/การพักผ่อน/ความตื่นเต้น/ความท้าทาย/หรือความกล้าหาญ ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชา หรือ บรรจุภัณฑ์ หรือ สลาก ให้เยาวชนเห็น ส่งผลให้มีแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งห้ามเยาวชนเข้า (ไม่มีการขายผลิตภัณฑ์กัญชาให้เห็นได้ทั่วไป) และห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีส่วนผสมของ บุหรี่ / กาแฟ / หรือ แอลกอฮอล์ ขณะที่ ประเทศไทย กำหนดว่าผู้ใดประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ ขาย ต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตไว้ในมาตรา 15 แต่เขียนมาตรา 16 ตามมาว่า บทบัญญัติมาตรา 15 ไม่ใช้บังคับแก่ การขาย ส่วนของกัญชา กัญชง สารสกัดหรือกากจากการสกัด ตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกาหนด ซึ่งหมายถึงเปิดโอกาสให้มีการยกเว้นการควบคุมในอนาคต ซึ่งจะทำให้มาตรการควบคุมจะอ่อนลงอีกในอนาคต
5) การควบคุมการโฆษณา: ประเทศแคนาดา หากไม่ได้รับอนุญาต ห้ามโฆษณา โดยการใช้ข้อมูลราคา โดยรูปแบบ/วิธีการ/เนื้อหาที่เยาวชนสนใจ โดยการให้บุคคลใดกล่าวสนับสนุน โดยการใช้บุคคล/สัตว์/ลักษณะใดๆไม่ว่าจะเป็นบุคคลจริงหรือบุคคลในแนวนวนิยาย และ โดยวิธีการเชื่อมโยงการใช้กัญชากับความสาเร็จ/การพักผ่อน/ความตื่นเต้น/ความท้าทาย/หรือความกล้าหาญ ขณะที่ ประเทศไทย กำหนด ห้ามผู้ใดโฆษณา เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ไว้ในมาตรา 28 แต่เขียนมาตร 30 ตามมาว่า บทบัญญัติ 28 ไม่ใช้บังคับแก่การโฆษณาส่วนของกัญชา กัญชง สารสกัดหรือกากจากสารสกัด ตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกาหนด และ ไม่ได้กำหนดบทลงโทษใดๆสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรการห้ามโฆษณา
6) การปกป้องเยาวชนและกลุ่มเสี่ยงอื่น: ประเทศแคนาดา กำหนดห้ามจาหน่ายแก่เยาวชนอายุ 18/19 ปี แล้วแต่จังหวัดของแคนาดา (province) จะกำหนด ห้ามการโฆษณาที่เห็นได้โดยเยาวชน ห้ามโฆษณาที่ใช้วิธี/รูปแบบที่เป็นที่สนใจโดยเยาวชน ห้ามประชาชนทั่วไปครอบครอง / ครอบครองเพื่อจาหน่ายหรือกระจายในที่สาธารณะ ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชา หรือ บรรจุภัณฑ์ หรือ สลาก ให้เยาวชนเห็น ส่งผลให้มีแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งห้ามเยาวชนเข้า (ไม่มีการขายผลิตภัณฑ์กัญชาให้เห็นได้ทั่วไป) ห้ามจำหน่ายด้วยเครื่องจาหน่ายอัตโนมัติ และห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีส่วนผสมของ บุหรี่ / กาแฟ / หรือ แอลกอฮอล์ ขณะที่ ประเทศไทย กำหนดเพียงมาตรการห้ามผู้รับอนุญาตขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภค แก่ (1) บุคคลซึ่งมีอายุต่ากว่ายี่สิบปี (2) สตรีมีครรภ์ (3) สตรีให้นมบุตร และ (4) บุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกาหนด (โดยกำหนดเพียงให้ผู้รับอนุญาตขายมีหน้าที่ติดประกาศหรือแจ้ง ณ สถานที่ขาย)
7) มาตรการทางภาษี: ประเทศแคนาดา กำหนดให้มีการเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์กัญชา และผลิตภัณฑ์กัญชาต้องติดแสตมป์ภาษี โดยเขียนไว้ในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต ซึ่งมาตรการทางภาษีนี้สามารถสร้างรายได้ให้รัฐ และใช้เพื่อควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้ ขณะที่ ประเทศไทย ยังไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นนี้และได้มีการเสนอปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิตในประเด็นนี้แต่อย่างใด
8) ลักษณะความเข้มหรือความหละหลวมของวิธีการเขียนกฎหมาย: ประเทศแคนาดา กำหนดรายละเอียดของมาตรการควบคุมที่เข้มข้นหลายประการไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เช่น การจำกัดจำนวนปลูกได้ในครัวเรือน จำกัดจำนวนการครอบครองกัญชาในที่สาธารณะ การห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชาใดๆให้เยาวชนเห็น และ การห้ามโฆษณาที่มุ่งเป้าหมายเยาวชน เป็นต้น เมื่อดูวิธีการเขียนกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย จะพบว่ามีการกำหนดห้ามโฆษณาโดยสิ้นเชิงไว้ในตัวกฎหมาย และมีการกำหนดห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะไว้ชัดเจนในพื้นที่หลายประเภท เช่น โรงเรียน สวนสาธารณะ เป็นต้น และยังเขียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการประกาศพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้มีมาตรการปกป้องผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้เข้มข้นมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ในด้านการควบคุมกัญชา ประเทศไทย ไม่มีการจำกัดจำนวนการปลูกกัญชาในครัวเรือนไว้ในตัวกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ มีการกำหนดควบคุมการจำหน่ายและโฆษณากัญชาโดยต้องขออนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้ แต่กระนั้นกลับเขียนกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดยกเว้นการควบคุมการจำหน่ายและการโฆษณาของชิ้นส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัดหรือกากจากการสกัดได้ในภายหลัง โดยสามารถออกเป็นระดับประกาศกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดหละหลวมลงไม่อีกในอนาคต หากได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มีมุมมองส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดในอนาคต
เมื่อดูข้อมูลเปรียบเทียบความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดของประเทศไทยและประเทศแคนาดาแล้วจะพบว่ามาตรการที่เสนอไว้ในร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ.... ยังมีลักษณะหละหลวมหลายประการ