คืบหน้าคดีเปิดหน้าดิน 'เขาหัวโล้น' จุดชมวิวเสม็ดนางชีพังงา ล่าสุด ป่าไม้นัดตรวจสอบเอกสารสิทธิ์กลุ่มทุนใหญ่ 20 เม.ย.นี้ เผยเจ้าของเป็นนักการเมือง - แฉป่าอ่าวพังงา อ.ตะกั่วทุ่ง ถูกบุกรุกเกลื่อน กลุ่มคนมีตั้งแต่ นักธุรกิจ นายทุน การเมือง อดีต สว. ยันเจ้าของบริษัทใหญ่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าทำการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณีร้องเรียนการเปิดหน้าดินตั้งแต่ชั้นล่างภูเขาซึ่งติดกับทางหลวงชนบทช่วง บ้านหล่อยูง-บ้านคลองเคียน ในพื้นที่ ม. 2 บ้านหินร่ม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา จนกระทั่งถึงพื้นที่ยอดเขาที่มีความลาดชันมาก โดยสภาพที่ดินที่ถูกเปิดหน้าดินมีการเว้นระยะไม้ยืนต้นไว้ประปราย ด้านหน้าเขาเป็นจุดชมวิวชื่อดังของจังหวัดพังงา ที่เรียกว่า “เสม็ดนางชี” ซึ่งช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ยังคงมีเครื่องจักรกลหนักทำงานต่อเนื่องมีทั้งรถแบ็คโฮ และรถบรรทุกขนขุดขนย้ายหน้าดิน
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ 8 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีหนังสือถึง นายวัฒนา ณ นคร เจ้าพนักงานที่ดินพังงา สาขาตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เพื่อขอสาระบบที่ดินตรวจสอบว่าเอกสารสิทธิ์ที่อ้างถึงออกชอบด้วย พ.ร.บ.ที่ดินหรือไม่
ขณะที่ในวันที่ 20 เมษายน 2565 นี้ ตัวแทนกรมป่าไม้ ได้นัดหมายเจ้าของที่ดินจุดชมวิวเสม็ดนางชี ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่และเป็นนักการเมือง ให้นำเอกสารสิทธิ์ที่อ้างถึงมานำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมทั้งให้แต่งตั้งบุคคลหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเองมาชี้แนวเขตพื้นที่ที่ถูกเปิดหน้าดินจนเป็นภูเขาหัวโล้นที่มีความสูงชัด
แหล่งข่าวในชุดตรวจสอบ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า พื้นที่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง เป็นพื้นที่ที่มีการร้องเรียนสูง เนื่องจากผู้ที่บุกรุกครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่เกษตรกรหรือชาวบ้านธรรมดาล้วนแล้วแต่เป็นนายทุน กลุ่มทุน ทั้งในพื้นที่ พังงา ภูเก็ต หลายรายเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีทั้งเป็นนักการเมือง อดีต สว.อดีตประธานกรรมาธิการท่องเที่ยว นักธุรกิจ เจ้าของบริษัทใหญ่ หุ้นส่วนบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทมหาชน
"สืบเนื่องจากการเปิดแหล่งท่องเที่ยวเสม็ดนางชี เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้มีอันจะกินที่พรางตัวเอง เป็นเกษตร เข้ายึดถือครอบครองเปลี่ยนมือจากการบุกรุกของชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากจุดเสม็ดนางชีแล้วพื้นที่ฝั่งที่ติดกับเกาะภูเก็ตก็มีภูมิทัศน์ที่สวยงานเช่นกัน ซึ่งการบุกรุกมีมาต่อเนื่องตลอด แต่พื้นที่นี้ เป็นมุมอับของจังหวัดพังงา" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า "ในอดีตผู้ที่ยึดถือบุกรุกครอบครองก็ล้วนแต่เป็นผู้มีอันจะกิน สังเกตได้จากให้ห้องของผู้มีอำนาจในขบวนการยุติธรรมจะมีแอร์ยี่ห้อคนดังพวกนี้ประดับในห้องและเขียนข้อความชัดอภินันทนาการจากใคร นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการส่งรายเดือน รายสะดวก รายข่มขู่บังคับ แต่เนื่องจากพื้นที่ที่มีการบุกรุกเข้าถึงพื้นที่ยากและมีปริมาณที่มากพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัด พื้นที่โดยรอบภูเขาเป็นเอกสารสิทธิ์และเป็นเจ้าของรายเดียวและไม่มีข้าราชการหน่วยงานไหนก้าวข้ามเงินไปได้ บริเวณนี้จึงกลายเป็นพื้นที่หากินของหลายส่วน แม้แต่ กอ.รมน.เคยทำหนังสือถึงหน่วยป้องกันรักษาป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงา ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 และหน่วยงานอื่นๆอีกหลายหน่วย แต่การตรวจสอบไม่เคยบรรลุเป้าหมาย”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ยกตัวอย่าง หนังสือ ที่ ทส 1635.705/265 ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 ที่หน่วยงานของกรมป่าไม้ในพื้นที่ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาตะกั่วทุ่ง ให้ตรวจสอบการบุกรุกของเอกชนรายหนึ่งที่ครอบครองที่ดิน 1,000 ไร่ ปรับพื้นที่ทำเกษตรกรรมบนภูเขาริมทางหลวงชนบท 1004 ต.ท่าอยู่ อ.ตะกัวทุ่ง กลายเป็นหนังสือที่ยังหาจุดจบไม่ได้และอาจเป็นช่องทางให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
“วันนี้ต้องการให้ผู้บริหารของกรมป่าไม้ลงมาบริหารพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีความชัดเจนว่าพื้นที่ป่าไม้ ในอำเภอตะกั่วทุ่งนายทุน ต่าง ๆ มีสิทธิ์ครอบครองหรือไม่ เพื่อความชัดเจนให้กับผู้ปฎิบัติในพื้นที่ มิฉะนั้น ผู้บริหารจะต้องถูกกลุ่มคนอ้างชื่อเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับล่างละเว้นปฎิบัติหน้าที่ตลอดเวลา” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกลุ่มทุนรายหนึ่ง ทางการระบุว่าครอบครองที่ดินกว่า 1,000 ไร่ ก่อนหน้านี้หน่วยงานกรมป่าไม้มีหนังสือถึงเอกชนรายดังกล่าวหลายครั้งให้มาชี้แนวเขต แต่ไม่ให้ความร่วมมือ
ส่วนพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหลายป่า ได้แก่ ป่าควนช้าง-เขาทองหลาง ,ป่าบ้านบางหลาม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงาเป็นต้น