ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา พ.ท.นพ. ปริวรรต อุดมศักดิ์ อดีตนายกเทศฯ ปากแพรก อำเภอทุ่งสง นครศรีธรรมราช ทุจริตก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนลงโทษกลุ่มผู้รับเหมา จำคุก 4 ปี 'พิษณุหรือกฤศกร เชิงสมอ' เจ้าของ บ.อีแพ็ค ปรับเอกชนอีกราย 260,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา พ.ท.นพ.ปริวรรต อุดมศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลปากแพรก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับพวก ทุจริตในโครงการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลตำบลปากแพรก
ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 ประกอบมาตรา 86 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) มาตรา 11 และ 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559
ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่พิพากษาว่า นายพิษณุหรือกฤศกร เชิงสมอ กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท อีแพ็ค จำกัด จำเลยที่ 1, บริษัท อีแพ็ค จำกัด จำเลยที่ 2, บริษัททุ่งสงสี่สวัสดิ์ จำกัด จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 151 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 11 และ 12 ประกอบมาตรา 86 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ที่มีบทลงโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามมาตรา 11 ที่เป็นบทหนักสุด
จำคุก นายพิษณุหรือกฤศกร เชิงสมอ กรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัท อีแพ็ค จำกัด จำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี
ปรับ บริษัท อีแพ็ค จำกัด จำเลยที่ 2 , บริษัททุ่งสงสี่สวัสดิ์ จำกัด จำเลยที่ 3 รายละ 260,000 บาท
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ส่วน พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 11 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้ใด โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 12 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิดฐานกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
อ่านข่าวในหมวดเดียวกัน