'กรมพัฒนาสังคมฯ' แจงอิศรา หลังถูก สตง.วิจารณ์ใช้จ่ายงบ ช่วยขอทาน-คนไร้ที่พึ่ง 4.3 พันล. ซ้ำซ้อน ชี้ที่ผ่านมาได้ปรับบปรังตามข้อเสนอแนะ สตง.แล้ว 5 ประการ เน้นพัฒนาระบบสารสนเทศ จ่ายเงินออนไลน์ ทำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบาง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าสืบเนื่องจากที่สำนักข่าวได้นำเสนอข่าวกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปตรวจสอบโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 ที่ได้รับการจัดสรรประมาณรวมกว่า 4,306.20 ล้านบาท
จนกระทั่ง สตง.ได้พบปัญหาว่าการพิจารณาให้เงินสงเคราะห์ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และส่วนใหญ่ไม่มีการติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงิน โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบางแห่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่บุคคลเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง ในขณะที่บางแห่งให้เพียงครั้งเดียว ซึ่งพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลในระบบซ้ำจำนวน 1 แห่ง และอีก 1 แห่งพบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายบุคคลเดียวกันซ้ำซ้อน
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวว่าจากกรณีดังกล่าว ล่าสุดทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ส่งจดหมายมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา ลงนามโดยนายอนุกุล ปิดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ โดยมีรายละเอียดคำชี้แจงดังนี้
ตามที่ สํานักข่าวอิศรานําเสนอข่าว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2565 กรณี “สตง. ชําแหละงบส่งเสริม คนไร้ที่พึ่ง ขอทาน 4.3 พันล. พบปัญหาสั่งรื้อระบบจ่ายเงินซ้ําซ้อน” นั้น
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขอเรียนว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นรายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และ ประสิทธิภาพการดําเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2559 – 2563) ซึ่งสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ซึ่งกรมฯ ได้ดําเนินการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
1. พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศตั้งแต่ปี 2562 สําหรับบันทึกและจัดเก็บข้อมูล กลุ่มเป้าหมายผู้ประสบปัญหาทางสังคม เพื่อตรวจสอบและลดความซ้ําซ้อนในการช่วยเหลือ
2. กําหนดเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ โดยมีนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสอบข้อเท็จจริง เพื่อประเมินและวินิจฉัยให้ความช่วยเหลือร่วมกับทีมสหวิชาชีพ และ มีคณะกรรมการระดับจังหวัด เป็นกลไกหลักในการพิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน
3. กําหนดมาตรการและแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ โอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบ ออนไลน์ (Krungthai Corporate Online) ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561
4. ได้นําข้อมูล TPMAP เป็นฐานข้อมูลหลักในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามโครงการพัฒนา คุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน
5. การพัฒนาระบบ Telemedicine ในการส่งเสริมการฟื้นฟูทางด้านสุขภาพร่างกาย และจิตใจ แก่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการวางแนวทางการประสานส่งต่อกลุ่มเป้าหมายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้ความสําคัญในการติดตาม ตรวจสอบการทํางาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเข้มงวดในการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรฐาน การให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ ยังมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. ซึ่งเป็นเครือข่าย จิตอาสาในพื้นที่ ให้ความช่วยเหลือและติดตามผลการดําเนินงานหลังจากการจ่ายเงินสงเคราะห์แล้ว