"...ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบางแห่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่บุคคลเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง ในขณะที่บางแห่งให้เพียงครั้งเดียว ซึ่งพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลในระบบซ้ำจำนวน 1 แห่ง และอีก 1 แห่งพบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายบุคคลเดียวกันซ้ำซ้อน..."
โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 ที่ได้รับการจัดสรรประมาณรวมกว่า 4,306.20 ล้านบาท ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาสำคัญ 3 ประการ คือ การพิจารณาให้เงินสงเคราะห์ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และส่วนใหญ่ไม่มีการติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงิน โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบางแห่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่บุคคลเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง ในขณะที่บางแห่งให้เพียงครั้งเดียว ซึ่งพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลในระบบซ้ำจำนวน 1 แห่ง และอีก 1 แห่งพบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายบุคคลเดียวกันซ้ำซ้อน
ขณะที่การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และไม่สามารถสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม การบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ในระบบงานบริการทางสังคมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า โครงการฯ นี้ เป็นโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐ ที่มุ่งตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในเรื่องการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะและทุกกลุ่ม และลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง ซึ่งโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานดำเนินกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ได้แก่ การให้บริการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในรูปแบบเงินสงเคราะห์ และการให้บริการในรูปแบบการคุ้มครอง ในกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าว
สตง. ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ในกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 ได้รับการจัดสรรประมาณรวมทั้งสิ้น 4,306.20 ล้านบาท เพื่อทราบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการ ตลอดจนมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพต่อไป
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่งและคนขอทาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 โดยสุ่มตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง10 แห่ง สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 5 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต 2 แห่ง และนิคมสร้างตนเอง (บ้านน้อยในนิคม) 4 แห่ง
พบประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ 3 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การพิจารณาให้เงินสงเคราะห์ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และส่วนใหญ่ไม่มีการติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงิน
1.1 การพิจารณาให้เงินสงเคราะห์บางกรณีของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีความแตกต่างกัน
จากการตรวจสอบผลการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่สุ่มตรวจสอบ พบรายละเอียดดังนี้
(1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแต่ละแห่งมีอัตราการจ่ายเงินแตกต่างกัน โดยมีอัตราการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งที่หลากหลาย ช่วงระหว่าง 1,000–3,000 บาท โดยพิจารณาจากสภาพความเดือดร้อนของกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก อย่างไรก็ตามพบว่าบางจังหวัดให้เงินสงเคราะห์โดยอาจไม่ได้พิจารณาตามสภาพปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มเป้าหมาย
(2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแต่ละแห่งมีการกำหนดอายุกลุ่มเป้าหมายสำหรับการพิจารณาให้เงินแตกต่างกัน ได้แก่ บางแห่งกำหนดให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ในขณะที่บางแห่งกำหนดอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และบางแห่งกำหนดอายุตั้งแต่ 18-59 ปี
(3) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบางแห่งมีการแบ่งจ่ายเงิน ในขณะที่บางแห่งจ่ายครั้งเดียว โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจำนวน 1 แห่ง ที่มีการจ่ายเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพ ซึ่งดำเนินการเบิกจ่ายให้กลุ่มเป้าหมายรายละ 5,000 บาท โดยดำเนินการแบ่งจ่ายเป็น 2 ครั้งต่อบุคคล คือ ครั้งละ 3,000 บาท และ 2,000 บาท ให้แก่กลุ่มเป้าหมายจำนวน 10 ราย
(4) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งบางแห่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่บุคคลเดียวกันมากกว่า 1 ครั้ง ในขณะที่บางแห่งให้เพียงครั้งเดียว ซึ่งพบว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการบันทึกข้อมูลในระบบซ้ำจำนวน 1 แห่ง และอีก 1 แห่งพบว่าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีการให้เงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายบุคคลเดียวกันซ้ำซ้อน
(5) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทุกแห่งให้เงินสงเคราะห์แก่บุคคลเดียวกันมากกว่า 1 ประเภทต่อปีงบประมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของหน่วยงานส่วนกลาง โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่สุ่มตรวจสอบมีการให้เงินสงเคราะห์ 2 ประเภทแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลเดียวกัน โดยส่วนใหญ่จำนวน 9 แห่ง มีการให้เงินประเภทเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง และเงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว รองลงมาเป็นการให้เงินสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว และเงินสงเคราะห์ด้านเงินทุนประกอบอาชีพ แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคลเดียวกันการพิจารณาให้เงินสงเคราะห์บางกรณีของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีความแตกต่างกันอาจส่งผลกระทบให้เกิดความเหลื่อมล้ำจากการพิจารณาให้เงินที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเป้าหมายบางส่วนเสียโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือ สืบเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานไม่มีแนวทางปฏิบัติงานที่ชัดเจน ทำให้ต้องวินิจฉัยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายโดยใช้ดุลพินิจในการจ่ายเงินทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวเกิดจาก ระเบียบที่เกี่ยวข้องมีหลักเกณฑ์หรือแนวทางการจ่ายเงินที่ยังไม่ครอบคลุมในบางกรณีรวมถึงไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางการพิจารณาจ่ายเงินที่ชัดเจนจากหน่วยงานส่วนกลาง
1.2 การจ่ายเงินสงเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีการติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงิน
จากการตรวจสอบเอกสารการจัดทำแผนสำหรับการลงตรวจสอบในพื้นที่เพื่อติดตามและประเมินผลการจ่ายเงิน พบว่า ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งส่วนใหญ่จำนวน 8 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 80.00 ไม่มีการจัดทำแผนการลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามผลการดำเนินงานหลังการจ่ายเงินเชิงคุณภาพว่ากลุ่มเป้าหมายมีการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาความเดือดร้อนจริงหรือไม่
การจ่ายเงินสงเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีการติดตามประเมินผลเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงินอาจส่งผลกระทบให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการไม่ทราบผลการดำเนินงานว่า กลุ่มเป้าหมายได้นำเงินไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์การขอรับความช่วยเหลือและเกิดผลสัมฤทธิ์หรือไม่ และหน่วยงานส่วนกลางไม่มีข้อมูลผลการติดตามการจ่ายเงินเชิงคุณภาพที่ใช้ในการวิเคราะห์หรือประเมินผลการดำเนินงานสำหรับการทบทวน วางแผน หรือแก้ไขปัญหาการจัดสวัสดิการสังคม
ข้อตรวจพบที่ 2 การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และไม่สามารถสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม
2.1 ผู้ใช้บริการไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผู้ใช้บริการที่เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิตและนิคมสร้างตนเอง (บ้านน้อยในนิคม) มีจำนวน 4,887 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายหรือภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน จำนวน 4,373 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 89.48 ของจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2563 ยังพบผู้ใช้บริการไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่สุ่มตรวจสอบทุกปี โดยในปีพ.ศ. 2563 มีผู้ใช้บริการที่ไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด จำนวน 1,425 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 84.17 ของผู้ใช้บริการทั้งหมดในปีงบประมาณดังกล่าว
การรับผู้ใช้บริการไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน อาจส่งผลกระทบต่อคนไร้ที่พึ่งที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงปฏิเสธการเข้ารับการคุ้มครอง เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยหากต้องอาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วย ความสามารถในการรองรับผู้ใช้บริการรายใหม่ที่เป็นกลุ่มคนที่ตรงกลุ่มเป้าหมายหรือภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องใช้จ่ายงบประมาณกับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีกฎหมายเฉพาะให้การคุ้มครองซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน
สาเหตุของปัญหาเกิดจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไม่สามารถประสานส่งต่อผู้ใช้บริการที่มีกฎหมายเฉพาะให้การคุ้มครองไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายเฉพาะ และผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่งไม่สามารถตีความให้เป็นกลุ่มคนตามกฎหมายเฉพาะใดได้ ประกอบกับหน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะไม่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้จึงทำให้ต้องรับกลุ่มคนดังกล่าวไว้คุ้มครองในหน่วยงาน
2.2 การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานไม่สามารถสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม
จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่สุ่มตรวจสอบ ให้ความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ผู้ใช้บริการยังไม่เหมาะสมตามเกณฑ์ เนื่องจากผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริม และพัฒนาทักษะชีวิตจึงยังไม่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการ เนื่องจากการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของหน่วยงานขาดแนวทางในการดำเนินการจัดกิจกรรมที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานเดียวกันจากส่วนกลาง และผู้ใช้บริการบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ เนื่องจากข้อจำกัดในการสืบเสาะข้อมูลในการพิสูจน์สิทธิและสถานะทางทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและคนขอทานไม่สามารถสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบให้ผู้ใช้บริการยังไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการที่เหมาะสมตามสิทธิที่พึงจะได้รับ เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคมของประเทศ
สาเหตุของปัญหาเกิดจากหน่วยงานไม่มีความพร้อมทั้งด้านอาคาร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรในการคุ้มครองหรือดูแลผู้ใช้บริการที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ตรงตามภารกิจของหน่วยงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการรอส่งตัวกลุ่มคนดังกล่าวไปยังหน่วยงานตามกฎหมายเฉพาะ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพยังขาดแนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท
ข้อตรวจพบที่ 3 การบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ในระบบงานบริการทางสังคมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน
จากการตรวจสอบข้อมูลจากระบบงานบริการทางสังคม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2563 ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า การบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน ส่วนใหญ่พบในกรณีการไม่บันทึกอายุ การบันทึกอายุไม่สอดคล้องกับคำนำหน้า การไม่บันทึกวันที่จ่ายเงิน และการบันทึกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ครบถ้วน 13 หลัก การบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ในระบบงานบริการทางสังคมไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เป็นปัจจุบัน อาจทำให้ข้อมูลในระบบงานบริการทางสังคมไม่มีความน่าเชื่อถือและไม่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรายงานผลการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับ
ข้อเท็จจริงมีความเสี่ยงต่อความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน และส่งผลให้การนำข้อมูลในระบบงานบริการทางสังคมไปใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ถูกต้องและไม่มีความน่าเชื่อถือ สาเหตุของปัญหาเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลลงระบบ นอกจากนั้นในขั้นตอนการสอบทาน อาจเป็นการสอบทานและตรวจสอบที่ยังไม่รอบคอบและถี่ถ้วน จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว
ข้อเสนอแนะ
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์แนวทางการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ที่อาจส่งผลต่อความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติงานให้มีความครอบคลุมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน รวมทั้งจัดให้มีการจัดอบรมหลักเกณฑ์แนวทางการเบิกจ่ายเงินแก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติงานและเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้มีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์เป็นไปอย่างถูกต้อง
2. ให้เร่งสรุปความเห็นของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต่อแบบฟอร์มหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยที่ประสบความเดือดร้อนหรือผู้ไร้ที่พึ่ง รวมถึงให้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาทางสังคม(ส่วนภูมิภาค) ต่อแบบฟอร์มหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย เพื่อให้ได้ความเห็นที่ครอบคลุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้เกิดการยอมรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่กำหนดขึ้น และให้ประกาศใช้แบบฟอร์มหลักเกณฑ์ที่ผ่านการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขแล้วไว้ในคู่มือแนวทางการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์เพื่อให้หน่วยงานระดับพื้นที่มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจ่ายเงินที่ชัดเจนและเพื่อให้การจ่ายเงินมีมาตรฐานเดียวกัน
3. สั่งการให้มีการติดตามผลการดำนินงานเชิงคุณภาพหลังการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ของหน่วยงานระดับพื้นที่ รวมถึงให้หน่วยงานส่วนกลางกำกับ ดูแล และติดตามให้หน่วยงานระดับพื้นที่ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงาน และกำหนดให้มีการรายงานผลการติดตามและประเมินผลการจ่ายเงินเชิงคุณภาพของหน่วยงานระดับพื้นที่มายังหน่วยงานส่วนกลางเป็นระยะอย่างต่อเนื่องรวมทั้งให้หน่วยงานส่วนกลางประเมินผลการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์เชิงคุณภาพในภาพรวมของประเทศว่า สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายให้ดีขึ้นได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
4. ให้สำรวจสภาพปัญหาของการติดตามผลการดำเนินงานเชิงคุณภาพ โดยอาจขอความร่วมมืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้ช่วยเหลือในการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานหลังการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ และให้จัดส่งรายงานผลการติดตามไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงจัดให้มีการอบรมเรื่องการติดตามผลการดำเนินงานหลังการจ่ายเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์แก่ อพม. เพื่อให้เข้าใจแนวทางการปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่มีไม่เพียงพอในการลงพื้นที่เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน
5. ให้มีการหารือและบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายที่มีกฎหมายเฉพาะให้การคุ้มครอง ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ใช้บริการ ผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถตีความเข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ตามกฎหมายเฉพาะใดได้เนื่องด้วยสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อน ให้เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต เพื่อให้หน่วยงานสามารถประสานส่งต่อผู้ใช้บริการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้และเพื่อลดความซ้ำซ้อนของกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้เมื่อหน่วยงานสามารถประสานส่งต่อได้ จะช่วยลดความแออัดของผู้ใช้บริการในหน่วยงานและสามารถรองรับผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ รวมถึงหน่วยงานจะสามารถใช้ทรัพยากรในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงตามภารกิจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. ให้กำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ใช้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจากส่วนกลาง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภทโดยกำหนดให้มีกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องสามารถพัฒนาและยกระดับผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้อจำกัดในการคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการที่อยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะในกรณีที่เห็นว่าไม่สามารถส่งต่อได้ อาจประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความชำนาญในการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยทางจิต และผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับสิทธิสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม และเพื่อให้การคุ้มครองดูแลผู้ใช้บริการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
7. สั่งการให้หน่วยงานระดับพื้นที่ทุกแห่งที่ใช้งานระบบงานบริการทางสังคม ดำเนินการสอบทานข้อมูลที่ได้บันทึกในระบบว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนให้รีบดำเนินการแก้ไข รวมถึงกำชับให้มีการสอบทานข้อมูลภายหลังการนำข้อมูลเข้าระบบทุกครั้ง โดยเฉพาะความถูกต้องตรงกันของข้อมูลในระบบและเอกสารการเบิกจ่าย นอกจากนั้นให้หน่วยงานส่วนกลางสอบทานหรือตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่หน่วยงานระดับพื้นที่บันทึกในระบบให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอีกและเพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือสำหรับการนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป หรืออาจพัฒนาหรือปรับปรุงระบบงานบริการทางสังคมให้สามารถแจ้งเตือนได้เมื่อเกิดข้อผิดพลาดในการบันทึกข้อมูล เช่น แจ้งเตือนกรณีกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน การบันทึกข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงกรณีอายุไม่สอดคล้องกับคำนำหน้าและอายุติดลบ การบันทึกเลขบัตรประจำตัวประชาชนซ้ำ เป็นต้น