ศบค.ปรับเกณฑ์ UCEP Plus ครอบคลุมผู้ป่วยโควิด-19 ให้เข้าถึงระบบรักษามากขึ้น ย้ำขอสงวนเตียงให้กลุ่มสีเหลือง-แดง ส่วนกลุ่มไม่มีอาการ โทรเข้าระบบ 1130 ยันระบบ สธ.ยังสามารถรองรับได้ จับตาชุดใหญ่ถกผ่อนคลายกิจการ-กิจกรรม 18 มี.ค.นี้
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ศบค.ชุดเล็กมีความกังวลว่า ผู้เสียชีวิตวันนี้ 69 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ถึง 61 ราย และมีถึง 26 ราย ยังไม่ได้วัคซีนเลยแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 8 ราย ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แต่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ ยังมีผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และผู้สูงอายุที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 เกิน 3 เดือนไปแล้ว อยากให้เข้ามรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเพราะเมื่อสำรวจการให้บริการวัคซีนกลุ่มเป้าหมายหลัก ผู้สูงอายุ 12.7 ล้านคน ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 32% หรือประมาณ 4 ล้านคน ขอให้ลูกหลานเร่งนำญาติผู้ใหญ่มารับวัคซีนโดยเฉพาะผู้สูงอายุกว่า 2 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว
“ค่ากลางจากวันที่รู้ว่าติดเชื้อจนถึงเสียชีวิต คือ 5 วัน หมายถึง ตรวจพบว่าติดเชื้อล่าช้า ทำให้มีมากถึง 15 คน เข้าสู่การรักษาช้า บางคนรับเชื้อโดยไม่รู้ว่าป่วย ทำให้เมื่อเข้ารับการรักษา 1-3 วัน ก็เสียชีวิต บุคลากรการแพทย์ช่วยชีวิตไว้ไม่ทัน ดังนั้น หากมีไข้ ไอ มีอาการทางระบบหายใจ หรือไม่มีอาการแต่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ขอให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด โดยระบบจะติดจ่อกับภายใน 6-24 ชม. เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้ป้วยลงทะเบียนเข้าระบบสูงถึง 4-5 หมื่นคนต่อวัน" พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ในกรณีที่รอการติดต่อกลับจาก สปสช. มีระเบียบการประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 หรือ UCEP Plus ที่ก่อนหน้านี้ ศบค.ขอความร่วมมือประชาชนว่า หากเป็นผู้ป่วยสีเขียวขอให้เข้าระบบ 1330 ตามปกติ เพื่อสงวนเตียงสีเหลือง สีแดง สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ และขอให้ทางสถานพยาบาล ศึกษาหลักเกณฑ์ให้ดี เพราะไม่ใช่สีแดงอย่างเดียวแล้ว ทาง สธ.มีการปรับเกณฑ์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ขอความกรุณา สงวนเตียง ระดับ 2-3 สีเหลือง สีแดง ให้ผู้ป่วยมีความจำเป็นจริงๆ
ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนในปัจจุบัน หากเทียบความรุนแรงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงเดือน ส.ค. 2564 กับ มี.ค.2565 จะพบว่าเป็นช่วงที่ผู้ป่วยมากที่สุดใกล้เคียงกัน แต่อัตราครองเตียงต่างกันมาก โดยในช่วง ส.ค.2565 อยู่ที่ประมาณ 5 พันราย แต่ มี.ค.2565 อยู่ที่ 900-1,000 ราย ทำให้อัตราครองเตียงในระบบสาธารณสุขยังไปได้อยู่ ยืนยัน ระบบ สธ.ยังสามารถรองรับได้
"อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 มี.ค. จะมีการนัดประชุม ศบค.ชุดใหญ่ แม้มีสถานการณ์ติดเชื้อเพิมขึ้น แต่ก็อย่างที่ชี้แจงระบบสธ.ยังสามารถรองรับได้ ดังนั้นเป็นไปได้ มีโอกาสผ่อนคลายกิจการ กิจกรรม เพื่อให้ทุกท่านกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นปกติ รวมถึงคนรอบข้างด้วย แต่ขอเน้นย้ำ ต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันขั้นสูงสุดด้วย" พญ.อภิสมัย กล่าว