‘กพช.’ ไฟเขียวยกเลิกเพดาน ‘กู้เงิน’ หวังเพิ่มความยืดหยุ่นในการตรึงราคา ‘ดีเซล’ ที่ 30 บาท/ลิตร ขณะที่ ‘ก.พลังงาน’ ทำแผนรับมือน้ำมันพุ่งเกิน 150 ดอลลาร์/บาร์เรล
................................
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบการปรับแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง โดยให้ยกเลิกการกำหนดเพดานวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร จากเดิมที่กำหนดเพดานเงินกู้ฯไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท
“ถึงแม้จะมีการปลดเพดานตรงนี้ไป แต่ก็ต้องมีกรอบอยู่ดี เพราะอยู่ๆจะไปกู้ 5 หมื่นล้าน 6 หมื่นล้าน 7 หมื่นล้าน โดยไม่ได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง หรือความสามารถชำระหนี้คืนคงไม่ได้ เราต้องมีจุดหยุด และแบงก์เองเขาจะให้กู้ได้อย่างไร ถ้าความสามารถในการชำระหนี้ไม่มี ขณะที่การยกเลิกกรอบเพดานกู้เงิน 4 หมื่นล้านบาทตรงนี้ ก็เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น ไม่ใช่ต้องมาเข้า ครม.ทุกครั้ง และเราเราก็มีจุดยืนในใจว่า เราจะกู้ไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับมาตรการรับมือหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นในระดับต่างๆ เช่น หากน้ำมันดิบอยู่ที่ 100-130 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะมีมาตรการอย่างไร ,หากราคาอยู่ที่ 130-150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะมีมาตรการอย่างไร และหากราคน้ำมันดิบไปอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลขึ้นไป จะมีมาตรการอย่างไร แต่คงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอาจทำให้เกิดการกักตุน
“เรื่องราคาน้ำมัน เราเตรียมแผนรองรับไว้หมดแล้ว และเราได้กราบเรียนนายกฯแล้ว ท่านก็รับทราบแล้ว และบอกว่าขอให้ดูแลความเดือดร้อนของประชาชนอันเนื่องจากวิกฤตพลังงานในครั้งนี้ เพราะเราเองไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออย่างไร อย่างวันนี้ (9 มี.ค.) น้ำมันดิบอยู่ที่ 122 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เราก็เตรียมการไว้แล้วว่าจะมีมาตรการอะไร และเราเตรียมการไปถึงว่า ถ้าเกิน 150 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะทำอย่างไร” นายกุลิศ ระบุ
นายกุลิศ กล่าวว่า ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงานจะแถลงเกี่ยวกับวิกฤตพลังงาน และมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล การดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ใช้น้ำมันเบนซิน เป็นต้น รวมถึงมาตรการในการประหยัดพลังงาน โดยจะมี ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานในกระทรวงพลังงานทุกกรม เข้าร่วมแถลงข่าว
นายกุลิศ ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาล โดย กพช.ได้เห็นชอบมาตรการเพื่อรับมือกับวิกฤตราคาพลังงานหลายมาตรการ เช่น การทำแผนฉุกเฉินเพื่อรับมือกรณีก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง ,การรับมือหากแหล่งก๊าซในเมียนมาร์ถูกแซงชั่น ,การจัดการก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ,การเลื่อนแผนการปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ,การรับซื้อพลังงานทดแทนเพิ่ม จากผู้ผลิตไฟฟ้า SPP VSPP ,การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว และการรับซื้อซื้อพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เป็นต้น
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะแก้ไขปัญหาพลังงานให้ดีที่สุด ภายใต้งบประมาณที่มีอย่างจำกัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณในด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท ไปก่อน จนกว่าไม่สามารถจะรับได้ ที่ผ่านมาในหลายรัฐบาลก็ราคาสูง แต่เป็นการสูงระยะสั้น ไม่ใช่สูงแบบนี้ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย และการที่ประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นมาก ผลกระทบมันต้องมากขึ้นตามมาด้วย เป็นเรื่องธรรมดา
"ตรึงไปก่อนที่ 30 บาท จนกว่าไม่สามารถจะรับได้ ก่อนหน้านั้นในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็สูง แต่เป็นการสูงในระยะสั้น ไม่ใช่สูงแบบนี้ ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย วันนี้ ประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นมาก ผลกระทบมันต้องมากขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่วันนี้ปัญหาของเรา คือ งบประมาณมีอยู่จำกัด แต่พยายามจะทำให้ดีที่สุดสุด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในการประชุม กพช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้มีวิกฤตด้านพลังงานจากสถานการณ์นอกประเทศ ที่มีผลกระทบกับไทยในหลายมิติด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับแผน พัฒนาแผนต่างๆ รวมถึงแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ มีหลายเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ไม่เฉพาะเรื่องของพลังงานและน้ำมันเท่านั้น
“เรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน รวมทั้ง LPG และ NGV ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ซึ่งต้องหามาตรการที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยได้มีการดำเนินการทั้งในเรื่องของภาษี และจัดหาเงินมามาทดแทนกองทุนพลังงานที่มีน้อยลงและอยู่อย่างจำกัด โดยดำเนินการภายใต้สมมติฐาน และบริบทที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
เช่น การพิจารณาราคาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันว่าจะสามารถอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไปได้เป็นระยะเวลาเท่าใดในราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวมถึงการคาดการณ์ไปถึงว่าหากราคาเกินกว่าที่กำหนดไว้จะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไรต่อไป และท้ายที่สุดหากราคาน้ำมันสูงต่อเนื่องขึ้นไปอีก ณ เวลานั้นก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะหลายประเทศก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน” นายธนกร กล่าวอ้างคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์
นายธนกร ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า หากเทียบราคาน้ำมันและราคาก๊าซของประเทศไทยกับหลายประเทศอาเซียนแล้ว ราคาน้ำมันและก๊าซในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำถึงแม้จะไม่ได้ต่ำที่สุด เพราะมีบางประเทศที่มีแหล่งพลังงานในประเทศด้วย จึงขอให้ทุกคนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะแก้ไขได้ ประชาชนก็ต้องมีความเข้าใจและฟังเหตุผลด้วยว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือตรงไหนอย่างไร ถ้านำงบประมาณมาทุ่มตรงนี้ทั้งหมด อย่างอื่นก็จะไปไม่ได้ ยืนยันว่ารัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ นายกฯยังกล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โดยขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้มีผู้เข้าร่วมโครงการตามเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล การสูบน้ำเพื่อการเกษตร บ้านเรือนประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลดโลกร้อนด้วย
สำหรับ มติที่ประชุม กพช. ที่สำคัญ มีดังนี้
1.เห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน โดยมีหลักการนำต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลและ LNG นำเข้าของกลุ่ม Regulated Market มาเฉลี่ยกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas เพื่อให้ต้นทุนการผลิตของภาคไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมในกลุ่ม Regulated Market อยู่ในทิศทางและแนวปฏิบัติเดียวกัน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิงคิดเป็นหน่วยราคา/ความร้อน (บาท/MMBTU) และช่วยลดภาระค่า Ft ที่ส่งผลถึงผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง
2.เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 จังหวัดระยอง (T-2) ในแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ที่มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ จากเดิมวงเงิน 38,500 ล้านบาท เป็นวงเงินไม่เกิน 41,400 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมจากเดือนพฤศจิกายน 2565 มาเป็นเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้สามารถรองรับการนำเข้า LNG ได้เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติจากการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยที่ประชุมได้ให้ กกพ. พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุน โครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
3.เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 ซึ่งได้พิจารณาเพิ่มเติมให้มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม จากผู้ผลิตไฟฟ้าประเภทชีวมวลหรืออื่น ๆ นอกจากชีวมวลจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สามารถรองรับได้
โดยเป็นการรับซื้อปีต่อปีไม่เกิน 2 ปี ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ที่กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าสูงสุด ไม่เกิน Avoided cost และมอบหมายให้ กกพ. รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า โดยให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) บริหารให้เป็นไปตามนโยบายต่อไป โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีการผลิตและใช้เองอยู่แล้วในปัจจุบันและมีพลังงานส่วนเหลือที่จะจำหน่ายเข้าสู่ระบบ รวมทั้งกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าและเงื่อนไขอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเสนอ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
4.เห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาท/หน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญาและได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ. สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS - PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 US Cents/หน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ที่ผ่านการพิจารณาจาก อส. แล้ว ทั้งนี้ หาก อส. และ กพช. มีความเห็นให้แก้ไขร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS - PIP ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเห็นควรให้ กฟผ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้
5.เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา ดังนี้ 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชนประเภท บ้านอยู่อาศัย (โซลาร์ภาคประชาชน) ให้มีการรับซื้อต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป โดยกำหนดเป้าหมาย การรับซื้อปีละ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 2.20 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายการรับซื้อ มอบให้ กบง. พิจารณากำหนด เป้าหมายดังกล่าวได้ 2. โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ปี 2565 กำหนดเป้าหมายการรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ (MWp) ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 1.00 บาทต่อหน่วย และระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
6.มีมติเห็นชอบทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563–2567 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เพื่อรองรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการดำรงชีพ เนื่องจากความผันผวนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
อ่านประกอบ :
‘บิ๊กตู่’เรียกถก‘กพช.’ 9 มี.ค.นี้ หลังราคาน้ำมันดิบพุ่ง-รบ.ยันตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท