นายกฯเรียกประชุม ‘กพช.’ หารือมาตรการด้านพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่ง ยืนยันรัฐบาลตรึง ‘ดีเซล’ ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดใช้ ‘ดีเซล’ เดือน ม.ค.เพิ่ม 24.4%
...............................
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อกำหนดมาตรการด้านพลังงาน จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 มี.ค. เพื่อเร่งรัดให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน
นายธนกร ระบุว่า ในปีนี้ ไทยและทั่วโลกเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต คือ วิกฤตไวรัสโควิด-19 วิกฤตเงินเฟ้อ และวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบราคาพลังงานโลก และอาจได้เห็นราคาน้ำมันโลกที่ 120 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปัจจุบันน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106.58 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะกระทบค่าครองชีพ รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อที่มาพร้อมกับเงินฝืด ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับครอบครัวและมหภาค
นายธนกร ย้ำว่า รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในการประชุมคณะที่ปรึกษานายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนใน 3 แนวทางหลัก คือ ลดภาระค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชน บรรเทาภาระหนี้สิน โดยให้ปีนี้เป็น ‘ปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน’ และเร่งการลงทุนภาครัฐ/เอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ม.ค.2565 ว่า ในเดือน มี.ค. การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ยอยู่ที่ 30.54 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 9.4% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังเทศกาลปีใหม่
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.2565 ปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์อยู่ที่ 29.91 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 12.2% เนื่องจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.04 ล้านลิตร/วัน ,แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.79 ล้านลิตร/วัน ,แก๊สโซฮอล์ อี20 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.13 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.95 ล้านลิตร/วัน
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.63 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาเบนซินที่อยู่ในระดับสูง โดยแตะระดับสูงสุด 42.01 บาท/ลิตร ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565
สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลในเดือน ม.ค.2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.87 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 อยู่ที่ 62.63 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 68.9% ,น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.83 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.23 ล้านลิตร/วัน
“การใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า โดยในเดือน ม.ค.2565 มีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าที่ 6.94 ล้านลิตร/วัน” น.ส.นันธิกากล่าว
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.99 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 75.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับมาตรการปีก่อนหน้า แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน การใช้น้ำมัน Jet A1 จึงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
น.ส.นันธิกา ระบุว่า ในส่วนการใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.19 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.54 ล้านกก./วัน หรือเพิ่มขึ้น 20.9 และการใช้ในภาคขนส่งที่อยู่ที่ 1.90 ล้านกก./วัน หรือเพิ่มขึ้น 16.7% นอกจากนี้ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน หรือเพิ่มขึ้น 7.1% และ 5.78 ล้านกก./วัน หรือเพิ่มขึ้น 1.6% ตามลำดับ
ขณะที่การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.18 ล้านกก./วัน ลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
น.ส.นันธิกา กล่าวต่อว่า สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค.2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,015,944 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 926,590 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 2.6% ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากรัสเซียในสัดส่วน 1.2% มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 81,810 ล้านบาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 77.5%
ด้านการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89,353 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7,468 ล้านบาท/เดือน
ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือน ม.ค.2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 150,897 บาร์เรล/วัน หรือลดลง 0.8% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,575 ล้านบาท/เดือน หรือเพิ่มขึ้น 74.0% โดยมูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเดือน ม.ค.2565
อ่านประกอบ :
สำรองน้ำมัน 640 ล.ลิตร! ‘กลุ่ม ปตท.’มั่นใจ‘พลังงาน’เพียงพอ รับมือวิกฤติยูเครน-รัสเซีย