กระทรวงการต่างประเทศ แพร่ถ้อยแถลงผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อ ยูเอ็น ท่าทีสงครามยูเครน-รัสเซีย เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการปะทะทางอาวุธโดยทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ คำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทย โดย นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 (11 th Emergency Special Session of the United Nations General Assembly) กรณีเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ลงมติประณามรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครน
1.ไทยเฝ้าติดตามสถานการณ์ในยูเครนด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรง ซึ่งคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
2.ไทยสนับสนุนความพยายามในการหาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติผ่านการเจรจาที่เป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
3.ไทยสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติในการหาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี ตามแนวทางของข้อตกลงมินสก์ รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกในระดับภูมิภาค รวมถึงองค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป หรือ โอเอสซีอีและนอร์มังดี ฟอร์แมต เพื่อลดความตึงเครียดและหาข้อยุติอย่างยั่งยืน
4.ไทยยังคงกังวลด้านมนุษยธรรมและร่วมเรียกร้องกับประชาคมระหว่างประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุด รวมถึงการให้ความมั่นใจว่าจะปกป้องคุ้มครองประชาขนและโครงสร้างพื้นฐานฝ่ายพลเรือน
ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ ยังเผยแพร่ถ้อยแถลงนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 11 มีรายละเอียด ดังนี้
1.ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการสถานการณ์ความรุนแรงและการปะทะระหว่างกันที่แย่ลง ซึ่งเป็นผลจากการใช้กำลังทหารในยูเครน ที่ส่งผลให้มีการสูญเสียชีวิต รวมถึงชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์และความเสียหายของทรัพย์สินและสาธารณูปโภคของพลเรือน
2.รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ในยูเครน เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565 ตั้งแต่นั้น การปะทะด้วยอาวุธยังคงดำเนินต่อไป โดยมีผู้เสียชีวิต
ซึ่งรวมถึงพลเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
3.สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัย และผู้หนีการสู้รบมีความน่ากังวลเป็นพิเศษ ประเทศไทยชื่นชมประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนและรัฐอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในส่วนของประเทศไทย จะให้ความร่วมมืออย่างสุดความสามารถเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง และผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
4.ประเทศไทยเคารพหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติ และกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และความเป็นเอกราชของรัฐ รวมทั้งการละเว้นการใช้กำลังหรือการขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น เราจึงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและการปะทะทางอาวุธโดยทันที สถานการณ์ที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมความเปราะบางด้านมนุษยธรรม และเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด ในขณะนี้
5.ประเทศไทยขอย้ำคำเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อหาข้อยุติโดยสันติวิธี และมีทางออกที่ยั่งยืน ผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกระดับภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในการนี้ ประเทศไทยยินดีต่อการหารือทวิภาคีล่าสุดระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าจะมีผลสำเร็จ
6.ในฐานะประเทศที่รักความสงบ มีความศรัทธาในเจตนาดีของชาติต่าง ๆ และความเข้าอกเข้าใจกันของมวลมนุษยชาติ เราจึงจะยังสานต่อความหวังว่า ในที่สุด ทุกฝ่ายจะกลับเข้าสู่เส้นทางของสันติภาพ ความปรองดอง และความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี