‘วิสาร’ ส.ส.เพื่อไทย ถาม ครม. รับไว้หรือไม่ กรณีตั้งบิ๊ก สนง.ศาลยุติธรรม นั่งสารพัดบอร์ด ทั้งที่ถูกสอบวินัยร้ายแรงคดีศาลพระโขนง
ผู้สื่อข่าวารายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2565 สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายเป็นการทั่วไป แบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 โดยเมื่อเวลา 21.30 น. นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอื่น ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกสอบวินัยร้ายแรง กรณีการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนงเป็นศาลแพ่งและศาลอาญาพระโขนง วงเงิน 42.3 ล้านบาท
นายวิสาร กล่าวว่า ปัจจุบันบุคคลดังกล่าว นั่งเป็นกรรมการบอร์ด รวม 10 บอร์ด และตำแหน่งเดิมเป็นอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จึงไม่แปลกที่คนเป็นนักกฎหมาย มีตำแหน่งเทียบเท่าปลัดกระทรวงจะสามารถนำความรู้ความสามารถไปช่วยงานได้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า กรณีนี้ มีอดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และผู้พิพากษาอาวุโสอีกหลายท่าน ได้แจ้งไว้ว่า บุคคลนี้ถูกประธานศาลฎีกา ตั้งกรรมการสอบเรื่องการก่อสร้างศาลพระโขนง จริงหรือเท็จไม่รู้ แต่เป็นเรื่องมัวหมองแน่นอน
- ฉบับเต็ม! สำนวน-ข้อกม. 'ศรีอัมพร-ผู้พิพากษา' ยื่น ป.ป.ช.สอบ 'บิ๊กตู่-วิษณุ' ปม 'สราวุธ'
- ครบทุกฉาก! มหากาพย์ปรับปรุงศาลพระโขนง 42.3 ล.สะเทือนเก้าอี้ ‘บิ๊กศาล ยธ.’
- ให้รอผลสอบวินัยร้ายแรงก่อน! มติ ก.ต. 8 ต่อ 7 ไม่พักราชการ 'สราวุธ' คดีศาลพระโขนง
นายวิสาร กล่าวอีกว่า การแต่งตั้งบุคคลให้นั่งในบอร์ดต่างๆ ต้องผ่านมติ ครม. ซึ่งทั้ง ครม.ต้องรับผิดชอบ โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 ประธานศาลฎีกามีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง แต่หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยังไปแต่งตั้งบุคคลนี้มาเป็นบอร์ดการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงนั่งในบอร์ดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องโปรดเกล้าฯ ขอถามว่า เรื่องนี้ รัฐมนตรีจะรับไว้หรือไม่ ถ้ามีอะไรผิดพลาดมาจะทำอย่างไร
“ถ้านายกรัฐมนตรีจริงจังและมีความจริงใจในการปราบปรามทุจริต ขอให้ท่านบอกให้บุคคลเหล่านี้ลาออกจากตำแหน่ง ก็ถือว่าแก้ปัญหาได้แล้ว” นายวิสาร กล่าว
สำนักข่าวอิศรา รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 มีกลุ่มผู้พิพากษา นำทีมโดย นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ข้าราชการตุลาการบำนาญ (อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา) , นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายนรพัฒน์ สุจิวรกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แก่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ว่า มีพฤติการณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการศาลยุติธรรม ประเทศชาติและประชาชน และกระทำการที่เป็นการขัดต่อนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
กรณีการแต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจกุล ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 กรณี คือ การเสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีชื่อ นายสราวุธ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุติรวมอยู่ด้วย ,กรณีการแต่งตั้งให้ นายสราวุธ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการ (คนที่ 1 ) ในคณะอนุกรรมการ ก.ตร , และกรณีการแต่งตั้ง นายสราวุธ เป็นกรรมการไฟฟ้านครหลวง
ทั้งที่ นายสราวุธ อยู่ระหว่างถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง รวมทั้งศาลจังหวัดตลิ่งชั้นและศาลจังหวัดมีนบุรี ตามคำสั่งประธานศาลฎีกา และมีการส่งเรื่องมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ให้รับดำเนินการสอบสวนแล้ว
อนึ่ง เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับเรื่องของ ป.ป.ช.เท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่