คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบหลักการพิจารณาให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น วางเกณฑ์ป่วยใหม่ไม่เกิน 10,000 รายต่อวัน อัตราป่วยตายน้อยกว่า 0.1% ฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงเข็ม 2 ครอบคลุม 80% เตรียมตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ ตั้งเป้าทำให้ได้ในปี 2565
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ เข้าร่วมการประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี
ในวันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจึงได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
-
เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่า 0.1% การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10% และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80% เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
-
เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น
วางเกณฑ์โควิดสู่โรคประจำถิ่น ตั้งเป้าทำให้ได้ในปีนี้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวเสริมว่า การพิจารณาโรคโควิด เป็นโรคประจำถิ่นนั้น สืบเนื่องมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวความคิดว่าขณะนี้โรคโควิดระบาดมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และลักษณะการระบาดมีทิศทางดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีลักษณะรุนแรงและเป็นตามหลักวิชาการ
และประเทศไทยไม่ต้องการปล่อยระยะเวลาไปแล้วให้โรคกลายเป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นต่อไป ซึ่งต้องมีการกำหนดเกณฑ์ โดยหลักการกว้างๆ ของโรคประจำถิ่น คือ ไม่ค่อยรุนแรงแต่ระบาดได้ มีอัตราเสียชีวิตที่ยอมรับได้ มีการติดเชื้อเป็นระยะๆ ได้ โรคไม่รุนแรงเกิน คนต้องมีภูมิต้านทานพอสมควร ระบบดูแลรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพ
หลักการกว้างๆ ของโรคประจำถิ่นดังกล่าว ต้องแปลงเป็นตัวเลขขึ้นมา โดยใช้ 3 หลัก ได้แก่ 1.อัตราป่วยเสียชีวิตไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน ต้องบริหารจัดการไม่ให้เกินอัตรา ถ้าเกินก็แสดงว่ายังรุนแรง 2.มีการสร้างเสริมให้คนมีภูมิต้านทานมากขึ้น ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งสำหรับโอไมครอน ถ้าได้รับวัคซีน 2 เข็ม 80% ก็ถือว่ามีภูมิต้านทานพอสมควรแล้ว และ 3.ประสิทธิภาพการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งจะดูความสอดคล้องการระบาดที่จะต้องเป็นระบาดทั่วไป ที่เป็นประจำถิ่นด้วย แต่ปัจจุบันยังเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก และโรคติดต่ออันตราย ซึ่งเมื่อมีกรอบหลักเกณฑ์แล้ว สธ.ก็จะไปจัดทำแนวทาง และแผนงานเพื่อบริหารจัดการให้เป็นไปตามเกณฑ์ ก่อนจะประกาศเป็นโรคโควิดเป็นโรคติดต่อทั่วไป ที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งจะให้ได้ภายในปี 2565
ยันเปิด Test & Go ระบบสาธารณสุขรองรับได้
ส่วนการจะให้ถอดหน้ากากอนามัยได้เลยหรือไม่นั้น นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ถ้าเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะกำหนดอีกครั้ง ระยะนี้ยังต้องฉีดวัคซีนต่อไปอีกระยะใหญ่ๆ ให้คนมีภูมิต้านทานต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือประชาชนที่ถึงเวลาในการฉีดเข็มกระตุ้นแล้วให้ไปรับวัคซีนตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิชาการ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวถึง การเปิดลงทะเบียนเดินทางเข้าประเทศไทยแบบ Test & Go ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ อีกว่า ก็ดำเนินการภายใต้กรอบมาตรการที่ ศบค.เห็นชอบ และจำต้องพิจารณากำหนดจำนวนคนที่เข้ามาต่อวันด้วย คงไม่ได้มีการอนุญาตให้เข้ามาวันละเป็นแสนราย ที่สำคัญ คนที่เข้ามาแล้วก็ยังอยู่ในระบบติดตาม มีการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง ถ้าเข้ามาในลักษณะและมาตรการที่มีการกำหนด ระบบสาธารณสุขน่าจะสามารถรองรับได้
ร้านนั่งดื่มแพร่เชื้อ จ่อ'Target Lockdown'
สำหรับสถานการณ์หลังผ่อนคลายให้จังหวัดในพื้นที่สีฟ้า และสีส้มนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ถึง 23.00 น. วันนี้พบว่ามีรายงานการติดเชื้อมาเพียง 1 จังหวัด ถือว่าพบน้อยลง แต่ไปพบมากขึ้นในตลาด อย่างไรก็ตามจะต้องมีการเข้มงวดเรื่องของ COVID-free setting หากพบร้านที่มีปัญหาทำให้เกิดการแพร่เชื้อจะใช้มาตรการ 'Target Lockdown' ทันที และขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันสอดส่องหากพบร้านที่ไม่ดี ก็ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ใส่หน้ากากอนามัย เข้ารับการฉีดวัคซีน และตรวจ ATK ต่อเนื่อง
"ขณะนี้ สธ.ยังประกาศเตือนภัยโควิดที่ระดับ 4 เหมือนเดิม ก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน แต่ขอให้คุมเข้ม และเน้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่สีฟ้าที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยว" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ทยอยส่งวัคซีนเด็กล็อตแรกทุกสัปดาห์
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวนทั้งสิ้น 5,800,000 ราย ขณะนี้มีวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.ไทย ส่งมอบล็อตแรกแล้วเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 จำนวน 300,000โดส และจะทยอยจัดส่งต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมฉีดให้เด็กจำนวน 2 เข็ม
โดยจะเริ่มในกลุ่มเด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รักษาในโรงพยาบาล (Hospital-based vaccination) เพื่อป้องกันเด็กป่วยและบุคลากรทางการแพทย์จากการแพร่และรับเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.นี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และขยายไปยังเด็กกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งให้บริการที่โรงเรียน (School-based vaccination) ในระดับประถมศึกษา สังกัดหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงเด็กที่เรียนผ่านระบบ home school ด้วย
เตรียมวัคซีนข็มกระตุ้นแล้วรวม 90 ล.โดส
ส่วนผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นพ.โอภาส กล่าวว่า จะฉีดให้ตามสูตรที่กำหนด เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี รวมทั้งได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60,000,000 โดส และไฟเซอร์อีก 30,000,000 โดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือน ก.พ. จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น
ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด