“…ถ้าทุกคนภายในประเทศติดโอไมครอนหมด เราคงไม่ฉีดใหม่แล้ว ยกเว้นฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ วัคซีนรุ่นเก่าคงจะเหลือจำนวนมาก เพราะปัจจุบันฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3-4 กันแล้ว คงไม่มีใครอยากกระตุ้นเข็มที่ 5-6 อีก ยกเว้นเด็กเกิดใหม่ที่อาจจะยังต้องฉีด ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิด อาจจะเแค่ตรวจเฉพาะคนที่สงสัย มีอาการเท่านั้น การตรวจเชิงรุกกลุ่มสัมผัสเสี่ยงต่างๆ คงไม่มีแล้ว… ”
คำว่า ‘โรคประจำถิ่น’ กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง หลังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งเป้าปี 2565 ประกาศ “โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น”
โดยผู้เชี่ยวชาญและบางสถาบันการวิจัยมองว่าการเข้ามาของโควิดสายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ อาจเป็นตัวปิดเกมการระบาดใหญ่ เพราะสามารถแพร่ระบาดได้เร็ว แต่อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้า
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และนักวิทยาศาสตร์บางคนแตกเป็นอีกเสียง แสดงความเห็นว่าการคาดการณ์ว่าปีนี้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น อาจเร็วเกินไป เพราะหลายประเทศทั่วโลกยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งโอไมครอนอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็อาจมีโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์อื่นเกิดขึ้นมาเป็นตัวคุมเกมแทนได้ เพราะไวรัสนี้ยังคงกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
-
จับตาสถานการณ์โลก โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นภายในปี 65 ได้หรือไม่
-
โควิดใกล้จบเกม! ศูนย์จีโนมฯเผยเริ่มเห็นแสงสว่าง กลายเป็นโรคประจำถิ่น
-
ผู้เชี่ยวชาญชี้โควิดยังอยู่อีกนาน กลายเป็นโรคประจำถิ่น อาจคล้ายไข้หวัดใหญ่-โรคหัด
ดังนั้นแล้วโอไมครอนจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในปีนี้หรือไม่ และหากไทยก้าวเข้าสู่การมีโรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ประชาชนจะมีวิถีชีวิตอย่างไรต่อไป สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมนานาทัศนะจากบุคลากรการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดของโควิดภายในประเทศไทย มีข้อมูลดังนี้
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยว่า ภายในปีนี้โควิดอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ สอดคล้องกับความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาหลายคน หรืออย่างบิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีเจ้าของ Microsoft ผู้สนับสนุนด้านสาธารณสุขมาโดยตลอดก็มองว่าหากโลกผ่านสายพันธุ์โอไมครอนไปได้ จากนี้ไปโควิดจะเป็นแค่โรคประจำถิ่น
“เพราะโอไมครอน เชื้อนี้ติดกันง่ายมาก แต่ไม่รุนแรง ดังนั้นเมื่อเชื้อแพร่กระจายไปหมดแล้ว สุดท้ายการระบาดก็จะจบลง แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน” นพ.มนูญ กล่าว
การที่โรคระบาดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ มักจะสังเกตเห็นเมื่อมีการระบาดของเชื้อที่สูง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับลดลงเร็วอย่างมากจนนิ่ง และท้ายที่สุดจะหยุดไป ซึ่งคล้ายกับการระบาดของโควิดในปัจจุบันที่พบว่าหลายประเทศอย่างแอฟริกาใต้ อังกฤษ อิหร่าน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง
ส่วนการเกิดเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่อีกระลอก คงมีโอกาสเกิดขึ้นยากมาก เพราะเชื้อไวรัสนั้นจะต้องเก่งมาก คือ ต้องแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ที่พบในปัจจุบัน ขณะเดียวกันหากย้อนดูการเกิดสายพันธุ์ใหม่อย่างสายพันธุ์ B1.640.2 ที่พบในฝรั่งเศส ก็ยังไม่พบสัญญาณว่าจะเอาชนะโอไมครอนได้ ซึ่งในปัจจุบันโอไมครอนในฝรั่งเศสมีสัดส่วนการระบาดคิดเป็น 60% ของการติดเชื้อใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ จะต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกด้วย เพราะจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ถ้าเราจำ ‘โรคไข้หวัดสเปน’ ได้ จะเห็นว่าในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีก่อนที่โรคนี้จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น คือ ในการระบาดรอบสุดท้าย ทุกคนติดกันหมดจึงมีภูมิคุ้มกัน และโรคนี้ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นหลังจากนั้นไม่นาน
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
ชีวิตหลังโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ทุกปี-ไร้ตรวจเชิงรุก
เมื่อไทยก้าวเข้าสู่เส้นทางโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น แล้วการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น นพ.มนูญ เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป แต่ก็หวังว่าเราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้
“ตอนนี้ตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่อนาคตที่แน่ ๆ คือผู้ผลิตวัคซีนอาจไม่รุ่งเหมือนปีก่อนๆ การฉีดวัคซีนก็คาดว่าอาจจะฉีดในทุกๆ ปี โดยหากดูแนวโน้มตอนนี้เราอาจได้ฉีดเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ หรืออาจเป็นวัคซีนผสมกับไข้หวัดใหญ่ก็ได้ แต่ถ้าทุกคนภายในประเทศติดโอไมครอนหมด เราคงไม่ฉีดใหม่แล้ว ยกเว้นฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ วัคซีนรุ่นเก่าคงจะเหลือจำนวนมาก เพราะปัจจุบันฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3-4 กันแล้ว คงไม่มีใครอยากกระตุ้นเข็มที่ 5-6 อีก ยกเว้นเด็กเกิดใหม่ที่อาจจะยังต้องฉีด” นพ.มนูญ กล่าว
ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR หรือ ATK อาจจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการตรวจเฉพาะคนที่สงสัย มีอาการเท่านั้น การตรวจเชิงรุกกลุ่มสัมผัสเสี่ยงต่างๆ คงไม่มีแล้ว
นพ.มนูญ กล่าวย้ำอีกว่า ต่อให้มีการประกาศว่าโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว แต่เราก็ต้องระมัดระวังตัวให้ดี ไม่ปล่อยให้เกิดการระบาดในวงกว้างอีก ย้ำว่าจะไม่มีประเทศใดปลอดภัยหากทั่วโลกไม่ปลอดภัยพร้อมกัน
ซูเปอร์วัคซีนตัวปิดเกมโควิดที่แท้จริง
แต่สิ่งที่จะคำตอบสำหรับการระบาดของโควิดจริงๆ นพ.มนูญ เปิดเผยว่า คือ การมีวัคซีนสำหรับโคโรนาไวรัสที่สามารถป้องกันได้ทั้งชนิดดั้งเดิมไปจนถึงโควิด เพราะโคโรนาไวรัสนั้นมีหลายสายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดในเด็ก โรคซาร์ส โรคเมอร์ส และโรคโควิด รวมทั้งจะต้องมีวัคซีนป้องกันโคโรนาไวรัสหลายๆ สายพันธุ์ในสัตว์ด้วย เพื่อป้องกันการระบาดทั้งจากสัตว์สู่คน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยกองทัพบกวอลเตอร์รีด (WRAIR) กำลังเตรียมเปิดตัว 'ซูเปอร์วัคซีน' หรือ 'Pan-Coronavirus Vaccine' ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านโคโรนาไวรัสทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอน นับเป็นความหวังใหม่ที่จะปิดเกมการระบาดของโควิดในอนาคตอย่างแท้จริง
นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ชี้หากไม่มีสายพันธุ์ใหม่ ปีนี้โควิดไทยจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น
ด้าน นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงสถานการณ์โควิดไทยสู่โรคประจำถิ่นด้วยว่า การที่โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวแปรเดียว คือ มีโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นมาอีกหรือไม่ หากไม่มี ภายในปีนี้สถานการณ์โควิดของไทยก็อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้
“การเป็นโรคประจำถิ่น หมายถึงการระบาดใหญ่จะต้องสิ้นสุด เหมือนกับไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออกที่จะไม่พบการป่วยที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดังนั้นโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้ต่อเมื่อไม่มีการระบาดเวฟใหม่แล้ว แต่ตัวเลขอาจจะคงที่ และค่อยๆ สิ้นสุดลงในที่สุด” นพ.มานพ กล่าว
ทำงานที่บ้าน-สวมแมสก์-ฉีดบูสเตอร์อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป
นพ.มานพ กล่าวถึงการจะผ่อนคลายมาตรการในภาพใหญ่ คือ ในส่วนของรัฐและส่วนบุคคลว่า เราจะกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงเดิมได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลกระทบการติดเชื้อ ว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากน้อยเพียงใด และมีความรุนแรงมากหรือไม่ เพราะหากประชาชนชาวไทยฉีดวัคซีนโควิดในสัดส่วนที่มาก และฉีดเข็มกระตุ้นแล้ว คนที่ป่วยเอง เขาจะติดเชื้อไม่รุนแรง มีอาการน้อย
ตรงนี้การทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือสวมใส่หน้ากากอนามัยคงไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการจะผ่อนคลายมาตรการก็ต้องทำเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่แบบปุบปับ
ทั้งนี้โควิดสายพันธุ์โอไมครอน เป็นเชื้อที่แพร่ได้ง่าย การฉีดวัคซีนในสัดส่วนที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้จะต้องฉีดให้ได้มากที่สุด ซึ่งตนเองมองว่าควรจะฉีดให้ครอบคลุมอย่างน้อย 90-95%
“การปฏิเสธวัคซีนวัคซีนอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การกลายเป็นโรคประจำถิ่นชะลอไป เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการมีภูมิคุ้มกัน หากสังเกตในทุกรอบการระบาดและในทุกๆ ประเทศจะพบว่าการระบาดจะไปได้ไวในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันน้อย” นพ.มานพ กล่าว
ส่วนวัคซีนโควิดจะต้องฉีดกระตุ้นในทุกๆ ปีหรือไม่นั้น นพ.มานพ กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นเช่นกันเมื่อสถานการณ์โควิดสงบลง ซึ่งไข้หวัดใหญ่เอง แม้เราจะเน้นให้ฉีดทุกปี แต่หากหลายคนไม่ได้มีความเสี่ยง ไม่ได้ฉีดทุกปี ผู้ที่ไม่ได้ฉีดกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไร
แต่หากยังพบการระบาดต่อเนื่อง ไม่หยุดสักที เราจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นต่อไป เพราะการฉีดบูสเตอร์โดสก็เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอในการรับมือการระบาด
ขณะที่การรักษาผู้ป่วยโควิด หลังโรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็จะเน้นการรักษาตัวที่บ้านไม่ต่างจากคนเป็นหวัด เพราะคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว เขาจะไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจมีคำแนะนำสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูง ที่อาจมีอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น อาจจะต้องไปตรวจกับแพทย์แล้วรอรับยาเลย