ศบค.ชุดใหญ่เตรียมประชุมหารือ 20 ม.ค.นี้ ปรับโซนสีโควิด ประเมินมาตรการเดินทางเข้าประเทศ และมาตรการร้านอาหาร หลังพบร้านกึ่งผับเป็นคลัสเตอร์พบการแพร่เชื้อมากที่สุด ยันดูหลายองค์ประกอบร่วมก่อนพิจารณาผ่อนคลาย แม้ตัวเลขติดเชื้อยังสูง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวถึง การประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค. นี้ ว่า จะมีด้วยกันหลายประเด็น โดยเฉพาะการประกาศปรับระดับพื้นที่สี มาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว มีการหารืออย่างเข้มข้น
สิ่งสำคัญที่ สธ.เป็นห่วงคือปัจจัยหนึ่ง เมื่อเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก บุคลากร เตียง ต้องจัดสรรทุ่มเทไปดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ กระทบต่อการดูแลผู้ป่วยวิกฤติโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น หัวใจ หลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ หรือโรคทั่วไปที่ต้องดูแลสม่ำเสมอ เบาหวาน ความดัน มะเร็ง ไต หากระบบสาธารณสุขเต็มไปด้วยผู้ป่วยโรคติดเชื้อก็จะทำให้ระบบสาธารณสุของค์รวมขัดข้องไปด้วย
หากดูทิศทางในประเทศ พบว่าใกล้เคียงทิศทางโลก คือตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากติดตามคลัสเตอร์หลังปีใหม่ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่สูงตาม ทาง สธ. พยายามดูแลระบบรักษาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ Home Isolation ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี
โดยหากดูจังหวัดติดเชื้อสูง พบว่าจะอยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า ได้แก่ กทม. ภูเก็ต กระบี่ พังงา กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี และชลบุรี หลายท่านมีความเป็นห่วงเพราะหลังปีใหม่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเหล่านี้เลขขยับขึ้น
"แต่หากจะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง ศบค.ชุดเล็ก ชุดใหญ่ คงไม่ได้ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ดูระบบสาธารณสุข ในพื้นที่ว่ารับมืออย่างประสิทธิภาพหรือไม่และต้องมีการลงพื้นที่ดูปัจจัยเสี่ยง และแก้ให้ตรงจุด ดังนั้นการดูตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว คงไม่ใช่ปัจจัยว่าจะผ่อนคลายหรือไม่ ต้องดูทิศทาง และองค์ประกอบทุกมิติร่วมกัน" พญ.อภิสมัย กล่าว
ส่วนการรายงานติดเชื้อ 18 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ที่มีการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในบางพื้นที่ บางอำเภอ ทิศทางที่ สธ. เฝ้ามองอย่างใกล้ชิด ยังทิศทางทรงๆ ยังไม่สูงถึงขั้นที่รับไม่ไหว
ร้านอาหารกึ่งผับคลัสเตอร์แพร่มากที่สุด
พญ.อภิสมัย กล่าวถึงคลัสเตอร์อันดับ 1 หลังปีใหม่ว่า จากข้อมูลการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าคลัสเตอร์ที่พบการติดเชื้อมากที่สุด คือ ร้านอาหาร รวมทั้งสถานบันเทิง ซึ่งสถานบันเทิงกึ่งผับที่เปิดร้านอาหาร มีทั้งคลัสเตอร์ ร้านมูนบาร์ จังหวัดนนทบุรี , ร้านฮันนี่ไนท์ จังหวัดเพชรบุรี และร้านแสงคำ จังหวัดอุบลราชธานี
การลงพื้นที่สำรวจพบว่ามีสถานบันเทิง 21 แห่ง ที่พบการติดเชื้อ ในจำนวนนี้ 7 ร้าน เป็นสถานบันเทิงที่ผ่านการประเมิน COVID Free Setting แต่พบว่าผ่านแล้วก็จริงแต่มีการย่อหย่อนมาตรการ ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ โดยพบในหลายพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น และอีก 14 ร้านเปิดโดยไม่มีการขออนุญาต ไม่ได้ผ่านการประเมิน COVID Free Setting ถือเป็นการเปิดอย่างผิดกฎหมาย และแม้เป็นร้านที่เปิดในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวก็เปิดได้เพียงเวลา 21.00 น. ซึ่งที่กล่าวมานี้ไม่ได้ตำหนิแต่เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ
ส่วนปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การติดเชื้อในร้านเหล่านี้ สธ.รายงานว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ สภาพแวดล้อมไม่มีการจัดการระบบระบายอากาศ ไม่มีจำกัดระยะเวลารับประทาน ไม่มีเว้นระยะห่าง ไม่จำกัดคนเข้าใช้บริการ โดยมาตรฐานที่ สธ. กำหนด คือ เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร หรือ 4 ตร.ม. สำหรับลูกค้า 1 คน
ถัดมา คือ ไม่มีการคัดกรองความเสี่ยงของผู้ให้บริการ หรือ พนักงาน พนักงานฉีดวัคซีนไม่ครบ ไม่มีการตรวจ ATK พนักงานทุก 7 วัน และบางร้านพนักงานเสี่ยงสูงยังมาปฏิบัติงานที่ร้าน และเกือบทุกร้านไม่มีผู้รับผิดชอบ เกี่ยวกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อในร้าน ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ของการติดเชื้อ สุดท้าย ไม่มีการคัดกรองความเสี่ยงผู้มารับบริการ ไม่มีตรวจสอบประวัติลูกค้า อาจจะเป็นความเกรงใจ
แต่หากช่วยกัน ลูกค้าที่ไปใช้บริการอาจมีแบบสอบถามสั้นๆ เช็กประวัติมีอาการไอ ไข้ เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ แต่ร้านเหล่านี้ไม่มีการตรวจสอบ และไม่มีการคัดกรองอุณหภูมิ การฉีดวัคซีน ATK ไม่มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม และการชำระเงินอาจจะทำให้เกิดการสัมผัส ห้องน้ำลูกบิดประตูที่ไม่ได้ทำความสะอาด ขอให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ตรวจสอบ และพิจารณาติดสินใจ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา
นัดประเมินมาตรการเข้าประเทศ
สำหรับประเด็นการเข้าราชอาณาจักรในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันพรุ่งนี้ โดยเฉพาะในระบบ Test & Go ซึ่งระงับไป 22 ธ.ค. 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1-18 ม.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางเข้าประเทศ 130,355 ราย ติดเชื้อ 4,515 ราย คิดเป็น 3.46%
หากแยกกลุ่มที่ติดเชื้อในวันที่ 18 ม.ค. 2565 พบว่า แซนด์บ็อกซ์ ติดเชื้อ 88 ราย Test & Go จำนวน 59 ราย กลุ่มกักตัว 24 ราย เป็นตัวเลขที่ สธ. และหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งพื้นที่จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวต่างๆ มอนิเตอร์ใกล้ชิด
และนอกจากการดูตัวเลขผู้ติดเชื้อ ยังติดตามมาตรการ หากพบปัญหาแต่เนิ่นๆ และพื้นที่ร่วมมือแก้ไข เช่น การติดตามนักท่องเที่ยว ด้วยแอปพลิเคชัน รวมถึงโรงแรม โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วย รวมถึงประชาชนที่เข้าดูแลคนที่เดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ อาจจะเป็นปัจจัยร่วม ที่ ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาให้เกิดการผ่อนคลายในวันพรุ่งนี้เช่นกัน
"สิ่งสำคัญ คือ การดูแลสุขภาพประชาชน ควบคู่กับการดำเนินชีวิตที่ปกติที่สุด และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนได้ ในเงื่อนไขที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้ คงต้องติดตามในวันพรุ่งนี้ว่าผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะเป็นอย่างไร" พญ.อภิสมัย กล่าว