ปลัด สธ.เผย กรมควบคุมโรคตั้งเป้าปี 2565 ประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เหตุเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกัน และมาตรการสาธารณสุขชะลอการระบาดได้เป็นอย่างดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิดทั่วโลก ว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 1.7 ล้านราย แต่ยอดผู้เสียชีวิตมีเพียง 3,189 ราย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อพบว่ามีอัตราที่ลดลง ส่วนผู้ป่วยอาการรุนแรงเราพบว่าลดลงมาโดยตลอด ส่วนประเทศไทย มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,926 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 13 ราย จะเห็นได้ว่าแม้จะติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับทั่วโลก คือ สัดส่วนผู้เสียชีวิตลดลง เป็นการบอกว่า โรคนี้อาจจะติดง่าย แต่ว่าการทำอันตรายจนถึงเสียชีวิตได้ลดความรุนแรงลงไปมาก
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับการคาดการณ์ 3 ฉากทัศน์ของกรมควบคุมโรคที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ พบว่าการแพร่โรคค่อนข้างเกิดขึ้นเร็ว เป็นไปตามเส้นสีเทา คือ พบการติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 15,000 – 30,000 ราย ซึ่งหากมาตรการที่เรามีอยู่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ก็จะสามารถควบคุมโรคได้ดี ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขพยายามกดการติดเชื้อให้ลดลงตามลำดับ ส่วนการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิต เรายังทำได้ดีคือมีตัวเลขต่ำกว่าเส้นสีเขียวเล็กน้อย หรือลี่ยวันละ 20-60 ราย ซึ่งถือว่ามีอัตราที่ลดลง
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า การระบาดระลอกนี้ เพิ่มขึ้นหลังจากมีสายพันธุ์โอไมครอน ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค. และยังพบว่าเกิดจากร้านอาหารกึ่งผับเป็นส่วนใหญ่ การสังสรรค์ และไม่ได้มีมาตรการที่พอเพียงก็ทำให้เกิดการระบาดได้ รวมถึงเรื่องของโรงงานที่จะทำให้เกิดการระบาดในระยะถัดไป ขอให้ผู้ประกอบการเคร่งครัดการทำบับเบิ้ล แอนด์ ซีลต่อไป
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวย้ำว่า เราต่อสู้กับโควิดมาแล้ว 3 ปี และเข้าสู่ปี 2565 มีการระบาดระลอกใหม่ เป็นเชื้อโรคกลายพันธุ์ มีระดับความรุนแรงน้อย แพร่ได้เร็ว แต่ยังมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาว่าน่าจะมีการบริหารจัดการดำเนินการให้ระบาดครั้งนี้เข้าสู่เรื่องของโรคประจำถิ่นได้แล้ว คือ เชื้อลดความรุนแรงด้วยของเขาเอง ประชาชนทุกคนในประเทศร่วมมือร่วมใจฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดี และมีการบริหารจัดการเรื่องดูแลการรักษา ชะลอการระบาดได้เป็นอย่างดี
“ยุทธศาสตร์ปีนี้ คือการชะลอการแพร่ระบาด คือ การติดเชื้อไม่รุนแรง ก็จะไม่น่ากลัว แต่เรากลัวการแพร่ระบาดที่รวดเร็วเกินไป อาจทำให้มีการล้นของระบบสาธารณสุข และอาจทำให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ได้อีก ดังนั้นต้องชะลอการระบาดและค่อยๆรับมือ ตรงนี้ก็จะเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินการต่อไป ส่วนผู้ติดเชื้อเนื่องจากไม่มีอาการุนแรง ก็คงจะวางมาตรการที่สำคัญเรื่องการแพทย์การสาธารณสุขต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนรับมือโควิด ระลอก ม.ค.2565 จะประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก ดังนี้
-
มาตรการสาธารณสุข คือ ชะลอการระบาด ระบบสาธารณสุขดูแลได้ ฉีดวัคซีนเพิ่มภูมิต้านทาน คัดกรองตนเองด้วย ATK และติดตามเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
-
มาตรการการแพทย์ คือ ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ระบบดูแลที่บ้านและชุมชน ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์
-
มาตรการสังคม คือ ประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) และสถานบริการปลอดความเสี่ยงโควิด (COIVD Free Setting)
-
มาตรการสนับสนุน คือ ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่างๆ
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวย้ำว่า เราคาดว่าปีนี้ เราจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นและสามารถดำเนินกิจกรรมได้ดีขึ้น ขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการร่วมมือร่วมใจทำตามมาตรการสาธารณสุข ระยะการระบาดตอนนี้เราจะเน้นการตรวจ ATK เป็นหลัก จากผลการศึกษาที่เราใช้ไปหลายล้านชิ้นพบว่ามีประสิทธิภาพและสามารถดักจับโควิดได้ดีมาก สามารถใช้ในการตรวจปฏิบัติการประจำป้องกันการติดเชื้อไม่ให้เกิดการระบาดได้