ศบค.พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 3,899 ราย เสียชีวิต 19 ราย กว่า 84% ยังไม่ได้รับวัคซีน-ฉีดยังไม่ครบโดส ชลบุรียังครองแชมป์ติดเชื้อสูงสุดเป็นครั้งที่สาม 529 ราย ขณะที่นราธิวาส-อำนาจเจริญไร้ป่วยใหม่ พร้อมเปิดชื่อ 10 จังหวัดฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 ยังน้อย ให้เตรียมระบบสาธารณสุขรองรับสู้โอไมครอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานสถานการณ์การระบาดประจำวันเพิ่มเติมว่า จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย และมีผู้เสียชีวิต 19 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุ 14 ราย คิดเป็น 74% และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 16% ซึ่งหากรวมกันพบมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 90% และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาจากคนใกล้ชิดถึง คนรู้จัก และการอาศัยในพื้นที่ระบาด
ทั้งนี้ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด มีจำนวน 16 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนได้เพียง 1 เข็ม ซึ่งยังไม่ครบ คิดเป็น 84% ของผู้เสียชีวิต
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ 10 จังหวัดอันดับสูงสุด ประกอบด้วย ชลบุรี 529 ราย กรุงเทพมหานคร 408 ราย อุบลราชธานี 315 ราย สมุทรปราการ 259 ราย ขอนแก่น 164 ราย ภูเก็ต 138 ราย เชียงใหม่ 135 ราย นครศรีธรรมราช 91 ราย พัทลุง 87 ราย และนนทบุรี 78 ราย ขณะที่นราธิวาสและอำนาจเจริญ ไร้ผู้ป่วยโควิดรายใหม่
ด้านผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เดินทางมาจาต่างประเทศ 169 ราย ทั้งหมดเดินทางเข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว (Test and Go) 114 ราย แบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) 30 ราย แบบกักตัว (Quarantine) 24 ราย และลักลอบ 1 ราย
โดยมีอัตราการติดเชื้อของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 อันดับ ตั้งแต่ 1-4 ม.ค. 2565 ประกอบด้วย สหราชอาณาจักรติดเชื้อ 85 ราย คิดเป็น 5.92% สหรัฐอเมริกาติดเชื้อ 76 ราย คิดเป็น 5.30% เยอรมนีติดเชื้อ 45 ราย คิดเป็น 2.85% สวีเดนติดเชื้อ 38 ราย คิดเป็น 2.33% และฝรั่งเศสติดเชื้อ 28 ราย คิดเป็น 2.17% ตามลำดับ
นอกจากนั้น มีผู้ได้รับวัคซีนโควิดเพิ่ม 20,281 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 2,826 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 7,411 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 10,044 ราย รวมสะสม 104,544,852 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 51,312,938 ราย คิดเป็น 71.2% ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 46,180,074 ราย คิดเป็น 64.1% และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 7,051,840 ราย คิดเป็น 9.8%
สำหรับจังหวัดที่ยังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ได้ต่ำที่สุด 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี จะต้องมีการเตรียมระบบการรักษาให้พร้อมรับมือกับโอไมครอนทั้งการรักษาภายในโรงพยาบาล การรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการรักษาในชุมชน (Community Isolation) หลังพบการระบาดเพิ่มสูงขึ้น
ห่วงคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์เป็นต้นตอการระบาดใหญ่
พญ.สุมนี กล่าวถึงการพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 ว่า ขณะนี้พบหลายคลัสเตอร์ในหลายจังหวัด ประกอบด้วย คลัสเตอร์แคมป์คนงาน เจอในกรุงเทพมหานคร คลัสเตอร์โรงงาน/สถานประกอบการ เจอในขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา พบทั้งในงานแต่งงานและงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ โดยงานแต่งเจอในหนองคาย และชัยภูมิ ส่วนงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เจอในปราจีนบุรี
นอกจากนี้ ยังพบคลัสเตอร์โรงเรียน/สถานศึกษา เจอในกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี คลัสเตอร์ตลาด เจอในระยอง ขอนแก่น กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์และปทุมธานี แต่คลัสเตอร์ที่กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.มีความเป็นห่วงมาก คือ คลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดในร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับบาร์ เจอในเชียงใหม่ พะเยา ขอนแก่น ชลบุรี มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร
“การเจอคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่มีการรายงานเข้ามาช่วงปีใหม่ มีการลงไปสอบสวนโรค พบว่าเป็นการติดเชื้อภายในสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนเปิดให้บริการ โดยมีความเสี่ยง ไม่ได้เปิดภายใต้มาตรการ Covid Free Setting คือ สถานที่มีลักษณะปิดทึบ อากาศไม่ไหลเวียน ไม่มีการจำกัดจำนวนคนเข้ารับบริการ และมีการส่งเสริมการขายสุรา ซึ่งผู้ใช้บริการก็มีการกินดื่มสังสรรค์ พูดคุยเสียงดัง จึงมีความกังวลว่าอาจเป็นต้นเหตุการระบาดไปในวงกว้าง เหมือนกับการระบาดในระลอก 3 ที่เริ่มต้นขึ้นจากการติดเชื้อแถวทองหล่อ ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้” พญ.สุมนี กล่าว
ศบค.ชุดใหญ่นัดถก 3 ประเด็นสำคัญ 7 ม.ค.นี้
พญ.สุมนี กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ด้วยว่า วันนี้ได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด หลังจากผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ชุดใหญ่ ในวันศุกร์ที่ 7 ม.ค.นี้ โดยมีวาระน่าสนใจ 3 เรื่อง ดังนี้
1.จะมีการปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์ สำคัญในเรื่องการจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มในการทำกิจกรรม รวมไปถึงการดื่มสุราในร้านอาหาร
2.การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มจะพิจารณาเปิดสถานบันเทิงหรือไม่ แต่ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จะเห็นว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในคลัสเตอร์ร้านอาหารที่เป็นกึ่งผับบาร์ ข้อมูลนี้จะเป็นตัวตัดสินใจที่สำคัญว่าจะเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะได้หรือไม่
3.จะมีการปรับมาตรการผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศแบบไม่กักตัว หรือ Test and Go ที่เราได้ชะลออกไป
"จะมีการพูดคุยกันใน 3 ประเด็นที่สำคัญ และเรื่องอื่นๆมาตรการเพิ่มเติมสำหรับจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเติม ขอให้ประชาชนละผู้ประกอบการติดตามอย่างใกล้ชิด" พญ.สุมนี กล่าว
ทั่วโลกป่วยเพิ่ม 2.1 ล้าน รวมสะสม 295.55 ล้านราย
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 2,136,935 ราย รวม 295,550,360 ราย อาการหนัก 91,745 ราย หายป่วย 256,083,119 ราย เสียชีวิต 5,473,511 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 567,696 ราย รวม 58,040,720 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,847 ราย รวม 851,439 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 51,729 ราย รวม 35,011,990 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวม 482,017 ราย บราซิล พบเพิ่ม 18,759 ราย รวม 22,323,837 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 181 ราย รวม 619,426 ราย ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 25
ยอดรวมโควิดไทย 5 ม.ค. แตะ 2.21 ล. 'ชลบุรี' ยังครองแชมป์ติดเชื้อสูงสุด
อนึ่งก่อนหน้านี้ เวลา 08.15 น. สำนักข่าวอิศรารายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดประเทศไทย ประจำวันที่ 2 ม.ค.2565 ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย
ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 2,210,612 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 19 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 21,673 รายแล้ว
ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,899 ราย จำแนกเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 169 ราย ติดเชื้อในประเทศ 3,648 ราย มาจากระบบคัดกรองเชิงรุก 14 ราย เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ 68 รายเป็นผู้ป่วยในจังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล 820 ราย ผู้ป่วยในจังหวัดกรุงเทพ 408 ราย ผู้ป่วยในจังหวัดชลบุรี 529 ราย ทำให้จังหวัดชลบุรียังคงเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดของประเทศ ผู้ป่วยใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ 54 ราย เป็นผู้ป่วยในจังหวัดอื่น ๆ 2,788 ราย
ส่วนการรักษา มีผู้หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 2,508 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,154,797 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 34,877 ราย มีผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบ 541 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 149 ราย