ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'จีรวรรณ อุณาพรหม' อดีตเกษตรจังหวัดสุรินทร์ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำเอกสารยืมเงินราชการค่าใช้จ่ายฝึกอบรมเป็นเท็จ-เบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้โทษให้จำคุก 24 ปี 32 เดือน คืนเงิน 138,106 บาท แก่ผู้เสียหาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางสาวจีรวรรณ อุณาพรหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเกษตรจังหวัดสุรินทร์ สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจัดทำเอกสารยืมเงินราชการ และค่าใช้จ่ายในโครงการฝึกอบรมเป็นเท็จแล้วเบียดบังเงินไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตาม ป.อ.มาตรา 147 , 151 , 157 และ 161 และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 90 และ 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยกระทำผิดรวม 8 กระทง รวมจำคุก 24 ปี 32 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 138,106 บาท แก่ผู้เสียหาย
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 147, 151 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกเพียงบทเดียว ตามมาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตาม มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน จำนวน 13 กระทง รวมจำคุก 39 ปี 12 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 662,213 บาท แก่ผู้เสียหาย
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่ฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
สำหรับป.อ. มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
อ่านประกอบ :