ครม.อนุมัติแผนพัฒนาและฟื้นฟูฯ ‘คลองแสนแสบ’ ระยะเวลา 11 ปี ทุ่มงบ 8.25 หมื่นล้านบาท สร้างโรงบำบัดนำเสีย-สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองฯ พร้อมผลักดันโครงการ ‘เดินเรือไฟฟ้า’ 12 ลำ ในคลองแสนแสบ ‘ส่วนต่อขยาย’ 10 กิโลเมตร
................................
เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการแผนพัฒนา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ.2564 - 2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำลำคลอง
สำหรับแผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ ซึ่งน้ำเสียส่วนใหญ่ หรือคิดเป็น 70% เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ขณะที่ในปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตร/วัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกหรือบีโอดี (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9 -12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร
“น้ำเสียในคลองแสนแสบ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เนื่องจากคลองแสนแสบมีความยาวตลอดสาย 74 กิโลเมตร อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 47.5 กิโลเมตร และจังหวัดฉะเชิงเทรา 26.5 กิโลเมตร” น.ส.รัชดากล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2564) ระยะกลาง (พ.ศ.2565 - 2570) และระยะยาว (พ.ศ.2571 - 2574) ซึ่งจะดำเนินการโดย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
โดยมีโครงการภายใต้แผนพัฒนาฯ รวม 84 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น
ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณภายใต้แผนพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ วงเงิน 82,563 ล้านบาท จะมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.งบประมาณแผ่นดิน 81.40% 2.งบกรุงเทพมหานคร 3.50% และ3.เงินจากเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 15.10%
น.ส.รัชดา ระบุว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาฟื้นฟูฯ อาทิ 1.แก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
2.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเร่งการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่ ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่
3.พัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำ มีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบใน กทม. ทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้ารองรับการใช้บริการ 800-1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือ