เผยความคืบหน้าคดีกล่าวหา 'ศุภชัย หล่อโลหการ' อดีต ผอ.นวัตกรรมแห่งชาติ คัดลอกงานวิจัยผู้อื่นไปพิมพ์จำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แถมใช้งบหลวงจัดจ้างทำวิจัยไปคัดลอกเป็นวิทยานิพนธ์ ป.ป.ช.ฟ้องเองไม่ผ่าน อสส. ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้ ยกฟ้อง หลังโดนโทษจำคุกหนัก 8 ปี เนื่องจากช่วงกระทำความผิด สนง.ยังมิได้จัดตั้งเป็นนิติบุคคล ไม่ได้มีสถานะเป็นพนง.ของรัฐ
สืบเนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้ากรณี นายศุภชัย หล่อโลหการ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นำผลงานวิจัยของผู้กล่าวหาไปพิมพ์จำหน่ายในนามของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้งบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดจ้าง ผู้รับจ้างทำการวิจัยเพื่อนำไปคัดลอกเป็นวิทยานิพนธ์ของตน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2558 และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลางเอง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) ตั้งแต่ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา
โดย ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษ จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี
ขณะที่ นายศุภชัย หล่อโลหการ ยังถูกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงมติเพิกถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิต ของนายศุภชัย หลังมีการตรวจพบว่าวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัยมีการคัดลอก หรือลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) และการเพิกถอนปริญญาครั้งนี้ ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
- คุก 8 ปี! ป.ป.ช.ฟ้องเอง 'อดีตผอ.นวัตกรรมแห่งชาติ' ใช้งบหลวง-คัดลอกงานวิจัย
- ก่อนโทษคุก 8 ปี! 'ศุภชัย หล่อโลหการ' โดนเพิกถอนปริญญาไปแล้ว ครั้งแรกประวัติศาสตร์จุฬาฯ
สำนักข่าวอิศรา รายงานความคืบหน้าคดีลล่าสุด ว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง นายศุภชัย หล่อโลหการ จำเลยในคดีนี้ เนื่องจากเห็นว่าในขณะที่กระทำความผิด สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังมิได้จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล และจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิใช่เป็นพนักงานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องแต่อย่างใด
โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และเป็นพนักงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงนในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หรือไม่
เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65 บัญญัติว่า "นิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น" เมื่อได้ความว่าสำนักงานนวัฒกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติว่า "เมื่อรัฐบาลมีแผนงานหรือนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ และมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่แตกต่างไปจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยมีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จะจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้" และตามมาตรา 6 บัญญัติ "ให้องค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคล"
เมื่อตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ในมาตรา 6 บัญญัติให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ 1 กันยายน 2552 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงเริ่มเป็นนิติบุคคลมหาชนตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2552 เป็นต้นไป
แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ให้จัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ก็คงมีฐานะเป็นเพียงหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น และแม้จำเลยจะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ก่อนการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2552 โดยได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการดำเนินการของจำเลยยังต้องอยู่ภายใต้ระเบียบกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พ.ศ. 2546 รวมถึงมีหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมายวัตถุประสงค์ของสำนักงาน ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ
ทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกตำแหน่ง ตามระเบียบคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติพ.ศ. 2546 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 และในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมีอำนาจอนุมัติเงินสนับสนุนโครงการนวัตกรรม ในวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท ตามระเบียบคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติว่าด้วยการสนับสนุนโครงการนวัตกรรม พ.ศ. 2547 และได้รับเงินเดือนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จำเลยก็เป็นเพียงผู้รับจ้างจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติมิใช่เป็นพนักงาน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 4 ด้วย
เมื่อตามคำฟ้องกล่าวหาว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2549 จนถึงเดือนธันวาคม 2550 จำเลยอาศัยโอกาสที่ตนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ใช้เงินงบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอนุมัติสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย (Challenges Opportunities of Organic Asparagus Production : Implication for Thailand) ให้แก่บริษัทสวิฟท์ จำกัด เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ และตามคำฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยใช้เงินงบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติที่จำเลยมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลและอนุมัติจัดจ้างโดยวิธีการตกลงราคาไปจัดพิมพ์เอกสารวิจัยเรื่อง Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture เพื่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบ อันมีความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 8, 9, และ 11
เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังมิได้จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล และจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มิใช่เป็นพนักงานตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามคำฟ้องทั้งสองข้อหาดังกล่าวแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น อุทธรณ์ข้ออื่นไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัย จึงไม่วินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด 1 ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 8 กับฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 11 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานข่าวว่า ป.ป.ช. จะยื่นฎีกาสู้คดีต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหากระทำความผิดของนายศุภชัย หล่อโลหการ ใน 3 กรณี คือ 1. กรณีใช้เงินงบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ไปจัดพิมพ์เอกสารวิจัยเรื่อง Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture เพื่อประโยชน์ของตนเอง และกรณีใช้เงินงบประมาณของสำนักงานฯ สนับสนุนงานวิจัยเรื่องโครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ให้แก่ บริษัท สวิฟท์ จำกัด เพื่อประโยชน์ของตนเอง
- มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สําหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการ ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 11
2. กรณีทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างผู้กล่าวหาเป็นที่ปรึกษาโดยมิชอบ และนําผลงานวิจัยของผู้กล่าวหาไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์โดยมิชอบ
- มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย ทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานใน องค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
3.กรณีกล่าวหาว่าเบียดบังเวลาของหน่วยงานไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกโดยไม่ได้รับอนุญาต
- มีมูลความผิดทางวินัย ฐานจงใจไม่ปฏิบัติ ตามระเบียบแบบแผนของหน่วยงานไม่อุทิศเวลาให้แก่หน่วยงาน ส่วนความผิดทางวินัย เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2552 มิได้กําหนดในเรื่องการดําเนินการทางวินัยกับผู้อํานวยการสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติไว้ ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากตําแหน่งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2557 ไม่อาจที่จะดําเนินการทางวินัยต่อไปได้ จึงให้ยุติ การดําเนินการทางวินัย
ขณะที่ ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยนำข้อมูลในโครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย ซึ่ง บริษัท สวิฟท์ จำกัด จะเสนอขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมการแห่งชาติไปเสนอเป็นโครงร่างวิทยานิพทธ์ของการกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของตนอนุมัติเงินทุนสนับสนุนของสำนักงานนวัตตกรรมแห่งชาติ ให้แก่ บริษัท สวิฟท์ จำกัด เพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำวิทยานิพนธ์ของจำเลยเองโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อันเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
นอกจากนี้ จำเลยจัดพิมพ์เอกสารงานวิจัย เรื่อง Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture ครั้งที่สาม โดยใส่ชื่อจําเลยเป็นชื่อแรกเพื่อนํามาแสดงแก่คณะกรรมการสอบว่าผลงานดังกล่าวเป็นของ จําเลย จําเลยมีเจตนาอนุมัติให้จัดพิมพ์ ผลงานวิจัย เรื่อง Strengthening the Export Capacity of Thailand's Organic Agriculture ครั้งที่สาม โดยใช้เงินงบประมาณของสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อประโยชน์ของตนเองในการไปแสดงต่อคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ว่า จําเลย ไม่ได้คัดลอกผลงานผู้อื่นแต่เป็นผลงานของตนเอง
ศาลฯ จึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 8 มาตรา 11 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 8 และมาตรา 11 รวม 2 กระทง กระทงละ 6 ปี
ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage