สตง.สั่งผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ชะลอใช้งบ 75 ล้าน บริหารจัดการอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า หลังสอบพบปัญหาเพียบ พื้นที่บริเวณโดยรอบถูกทิ้งร้าง สิ่งก่อสร้างประติมากรรมปูนปั้นชำรุด ครุภัณฑ์ถูกลักขโมย สภาพภายในบางส่วนชำรุดเสียหาย ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดให้บริการ จี้ตั้งคณะทำงานวางแผนแก้ไขปัญหาด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ (หลังเก่า) ของสำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์ โดยใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 2557-2562 รวมทั้งสิ้น 75,470,000 บาท ปรับปรุงอาคารศาลาประชาคม จัดสร้างพิพิธภัณฑ์อารยธรรม ศูนย์การเรียนรู้ TK-PARK สร้างห้องชมภาพยนตร์ 360 องศา สร้างรูปปั้นประติมากรรม รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์
โดยพบว่า อาคารและพื้นที่บริเวณโดยรอบมีสภาพถูกทิ้งร้าง สิ่งก่อสร้างประติมากรรมปูนปั้นชำรุด ครุภัณฑ์ถูกลักขโมย สภาพภายในอาคารบางส่วนชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมากโดยไม่มีการรักษาทรัพย์สินของทางราชการ ซึ่งปัจจุบันผ่านมา 8 ปี ยังไม่สามารถเปิดให้บริการ ส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์
สตง.ระบุว่า สาเหตุเป็นเพราะจังหวัดบุรีรัมย์ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์ ระเบียบแบบแผน ของทางราชการ ส่งผลกระทบทำให้งบประมาณที่ใช้ก่อสร้างปรับปรุงรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75,470,000 เกิดความสูญเปล่าและทำให้จังหวัดบุรีรัมย์เสียโอกาสนำเงินงบประมาณไปพัฒนาในด้านอื่นที่เหมาะสม รวมทั้งเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศตั้งแต่เปิดอาคารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 - เดือนมีนาคม 2564 เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 5,797,000 บาท และมูลค่าเสียโอกาสอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้เปิดให้บริการ ถึงเดือนละ 341,000 บาท
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ (หลังเก่า) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่า สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่กำหนดในโครงการ สตง.ภาค 4 จังหวัดนครราชสีมา มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เร่งรัดให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานในการบริหารจัดการอาคารศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์(หลังเก่า) โดยให้สำนักงานจังหวัดบุรีรัมย์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนทางเลือกการบริหารจัดการและพิจารณาข้อมูลจากประเด็นข้อตรวจพบของสตง.มาประกอบการจัดทำแผนทางเลือกอย่างละเอียดรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่โครงการกำหนด ความสมบูรณ์ครบถ้วน ผลดีผลเสียความเป็นไปได้ของการบริหารจัดการ และงบประมาณในการบริหารจัดการในอนาคต เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจเลือกแนวทางการบริหารจัดการ
ตามที่คณะทำงานเสนอ ให้คำนึงถึงศักยภาพและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานผู้รับผิดชอบระหว่างหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมทั้งกำชับการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยเคร่งครัด
นอกจากนี้ ยังให้พิจารณาชะลอการดำเนินการในการจัดตั้งงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ (หลังเก่า) จนกว่าการดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุจะแล้วเสร็จ เพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และยับยั้งการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่ไม่เกิดความคุ้มค่า
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage