สธ.เร่งฉีดวัคซีน 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวรับเปิดเมือง หลังบางพื้นที่เข็ม 1 ไม่ถึง 50% เผยสูตรไขว้ แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ จะเข้า ศบค. 14 ต.ค.นี้ ยันวัคซีนสูตรไขว้ทุกสูตรใช้ได้ปลอดภัย-ใช้ได้ดี ผ่านผู้เชี่ยวชาญพิจาณา ปชช.ห้ามเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยว่า พบการติดเชื้อใหม่ 9,445 ราย หายป่วย 11,452 ราย เสียชีวิต 84 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 1,730,364 ราย ภาพรวมการรายงานแต่ละวันแบ่งกลุ่ม ได้แก่ กทม. และปริมณฑล คิดเป็น 21% จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 22% และจังหวัดอื่นๆ 57%
สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2,954 ราย ลดลงต่อเนื่องจาก 3,200 กว่ารายตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2564 แบ่งเป็นจากพื้นที่ กทม. และปริมฑล 1,084 ราย ภาคใต้ใน 4 จังหวัด 232 ราย จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด 673 ราย และจังหวัดอื่นๆ 965 ราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 660 ราย ลดมาจาก 729 ราย
“การรายงานแกว่งตัวอยู่บ้าง แต่ภาพรวมทิศทางลดลง แนวโน้มการระบาดน่าจะรับมือได้อย่างดี และค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ การโฟกัสพื้นที่ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่อง พบใน 4 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ต้องมีมาตรการระดมลงไปสนันสนุนเพื่อควบคุมโรค”
นพ.เฉวตสรร รายงานสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ในวันนี้มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 805,146 โดส สะสม 61,033,251 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 35.4 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร 49.2% วางแผนว่าปลายเดือน ต.ค.นี้ จะได้ครอบคลุมครบ 50% แต่น่าจะถึงก่อนกำหนด ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 23.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 33% โดยวัคซีนไหว้สูตรหลักที่ฉีดเป็นเข็มที่ 1 ซิโนแวค และอีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น หมายความว่าตัวเลขเข็มที่ 2 ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านโดส และเข็มที่ 3 อีก 1.7 ล้านโดส คิดเป็น 2.5%
สำหรับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนอายุ 12-17 ปี ดำเนินการฉีดไปแล้วเกือบ 5 แสนโดส ซึ่งเป็นการฉีดในหน่วยบริการนอกสถานพยาบาล รายงานจึงอาจไม่ได้เข้าระบบทันที ทั้งนี้ขอให้นักเรียน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมในโลกโซเซียล เนื่องจากข่าวที่ไม่มีความจริง จะสร้างความวิตกกังวล
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงกรณีในการประกาศเปิดประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่แถลงไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในไทยปลายปีนี้ ว่า จะต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งการกำหนดประเทศที่จะเดินทางมาในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงมาตรการในพื้นที่ที่ต้องฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง
รายงานสถานการณ์วัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ภาพรวมวัคซีนเข็มที่ 1 อยู่ที่ 70% โดยเป็นการฉีดมากที่สุดใน กทม. สูงเกินกว่าฐานในทะเบียนประชากรเป็น 102.8% ซึ่งอาจรวมประชาชนที่มาจากปริมณฑลด้วย ส่วนพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวอีก 16 จังหวัด มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ดังนี้ ภูเก็ต 80.1% สุราษฎร์ธานี 43% กระบี่ 41.9% พังงา 57.5% ประจวบคีรีขันธ์ 49.3% เพชรบุรี 54% ชลบุรี 71.7% ระนอง 56.1% สมุทรปราการ 68.8% ระยอง 51.7% ตราด 45.6 เชียงใหม่ 45.3% เลย 37.3% บุรีรัมย์ 49.1% หนองคาย 38.8% และอุดรธานี 38.1%
“ไม่ต้องห่วง เพราะพื้นที่เหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ติดตามข้อมูลข่าวสารในจังหวัด เพื่อติดต่อรับวัคซีน เพื่อพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา เชื่อว่าหลังประกาศนโยบายวันเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ประชาชนจะสนใจการฉีดวัคซีนกันเยอะ สามารถเร่งฉีดให้ตามเป้าหมายได้”
นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปฉีด 1.5 ล้านคน จากฐานประชากร 3.5 ล้านคน คิดเป็น 42.4% เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 260,739 คน คิดเป็น 58% กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 143,784 คนคิดเป็น 51.2% จะลดหลั่นตามพื้นที่ และในช่วงนี้จะมีการเร่งจัดสรรวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ได้รับนโยบายจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ระบบเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วให้ได้เป้าหมาย 70% ของประชากร คาดว่าจะทำได้ปลายเดือน ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ตอนล่างที่มีระบาดสายพันธุ์เบต้า แอลฟ่า และเดลต้า จึงมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้จัดสรรจัดส่งไปแล้ว
นพ.เฉวตศรร กล่าวถึงการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ว่า ตอนนี้สูตรวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นสูตรไขว้หลัก คือ เข็ม 1 ซิโนแวค ต่อด้วยเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ทางฝ่ายวิชาการได้มีการพิจารณาสูตรไขว้ในหลายๆ สูตร สำหรับการพิจารณาวัคซีนสูตไขว้ เข็มที่ 1 แอสตร้าเซเนก้า เข็มที่ 2 ไฟเซอร์ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ทางอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาข้อมูลวัคซีนต่างๆ โดยได้ข้อสรุปสูตรไขว้แล้ว แต่อยู่ระหว่างให้ ศบค. พิจารณาในวันที่ 14 ต.ค.นี้
การฉีดวัคซีนสูตรไขว้แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ ทางคณะกรรมการจะพิจารณาจากปัจจัยหลายด้านทั้งการสร้างภูมิคุ้มกัน ความปลอดภัยรวมถึงจำนวนวัคซีนที่สามารถจัดหาได้ในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งในกรณีการใช้วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าไขว้กับไฟเซอร์นั้น มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีสามารถใช้ได้
“สูตรที่ปรากฎในข่าว เป็นเรื่องความมั่นใจทางวิชาการ แต่ในส่วนที่ใช้สูตรไขว้ปัจจุบัน ศบค.จะประเมินและประกาศใช้สูตรใดบ้าง และไม่จำเป็นต้องมีสูตรเดียว แต่โดยทั่วไปเพื่อไม่ให้สับสนในทางปฏิบัติ ก็จะระบุให้ชัดเจนและมีหนังสือสั่งการออกไป ในเวลาที่มีหลายสูตร ประเทศที่มีการบริหารจัดการเหมือนเรา จะใช้วิธีให้สาธารณสุขกำหนดสูตร จะไม่ให้ประชาชนเลือกสูตรไขว้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าสูตรที่ประกาศใช้ได้ ฉีดได้เลยไม่ควรรอ"
สำหรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชนที่ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค และเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วนั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ตอนนี้ภูมิคุ้มกันยังคงอยู่ระดับสูงอยู่ ยังไม่ต้องกังวลที่จะรับเข็ม 3 ในช่วงเวลานี้ แต่อนาคตจะมีการพิจารณาในอานาคต หากผ่านไป 3-6 เดือน
"คนที่ฉีดเข็มไขว้ ซิโนแวคแอสตร้าฯ ภูมิจะสูงและเพิ่งฉีดมาไม่นาน ตอนนี้ไม่ต้องร้อนใจ ภูมิยังสูงอยู่และที่สำคัญ ไม่ว่าจะฉีดสูตรไหน มาตรการต้องเข้มข้น การ์ดยังต้องสูง ป้องกันตัวเองสูงสุดกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา”
นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่าเดือน ต.ค.นี้ ไทยได้รับวัคซีนเข้ามาแล้วบางส่วน ส่วนเดือน พ.ย.และ ธ.ค. อยู่ในแผน ได้รับการส่งมอบในปริมาณตามแผน และเมื่อไทยได้รับวัคซีนมาแต่ละล็อตแต่ละช่วงต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพทุกครั้ง ยอดรวมปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข จัดหาวัคซีน 127.1 ล้านโดส และวัคซีนทางเลือกอีกรวม 179.1 ล้านโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage