สธ.เผยผลวิจัยฉีดวัคซีนกระตุ้นในผิวหนัง ใช้วัคซีนน้อย-สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี เป็นอีกตัวช่วยหากวัคซีนมีจำกัด ย้ำปัจจุบันยังฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข้ากล้ามเนื้อ แต่อาจมีการพิจารณาฉีดวัคซีนในผิวหนังเมื่อมีงานวิจัยรองรับเพียงพอ หรือต้องการเร่งฉีดวัคซีน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2564 กระทรวงสาธารณสุขจัดงานแถลงข่าวผลการวิจัยภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข้าในผิวหนัง โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกายมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ การฉีดเข้ามกล้ามเนื้อ (Intramuscular) ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous) และฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (Intradermal) ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในที่นี้หมายถึงการฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนัง
การฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนัง คือ การฉีดวัคซีนเข้าไปในชั้นผิวหนังเอียง 25 องศา เพียง 1 มิลลิเมตร ต้องใช้ทักษะในการฉีด จึงมีความยากลำบากกว่าอีก 2 วิธี เพราะถ้าหากฉีดเข้าไปแล้วทะลุเลยไปใต้ผิวหนัง จะไม่ได้ผล ซึ่งวัคซีนที่เรามีประสบการณ์แล้ว คือ วัคซีนป้องกันความรุนแรงของวัณโรค และวัคซีนพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนในรูปแบบนี้ จะใช้วัคซีนในปริมาณที่น้อยกว่าถึง 1 ใน 5 ของปริมาณการฉีดวัคซีนเดิม กล่าวคือเดิมฉีดได้ 1 คน อาจจะฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนังได้ถึง 5 คน นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายประเทศเริ่มคิดเรื่องนี้
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ศึกษาการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 จากประชาชนอายุ 18-60 ปี ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จำนวน 95 คน พบว่า หลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นในผิวหนังปริมาณ 0.1 มิลลิตร 14 วัน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันแอนติบอดี (Antibody Response) ได้ดี โดยมีภูมิขึ้นมา 1,300 AU ใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อที่อยู่ในระดับ 1,652 AU ในขณะที่การฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม มีภูมิขึ้นมาเพียง 128 AU เท่านั้น
"ถ้าฉีดวัคซีนกระตุ้น ไม่ว่าจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าในผิวหนัง ใน 4-8 สัปดาห์ หรือหลังจากนั้นนิดหน่อย จะเกิดภูมิขึ้นมาใกล้เคียงกัน ดังนั้นจะประหยัดวัคซีน คือ ฉีดแค่ 1 ใน 5 แต่ได้ภูมิค่อนข้างสูง" นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนการกระตุ้นภูมิเพื่อสู้กับสายพันธุ์เดลต้านั้น พบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากระตุ้นในผิวหนังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในช่วง 4-8 สัปดาห์ ได้ 234.4 AU และในช่วง 8-12 สัปดาห์ได้ 172.1 AU ซึ่งมากกว่าการฉีดซิโนเแวค 2 เข็มหลายเท่าตัว
ด้าน ดร.นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์วิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการวัดการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์ (T-Cell Response) พบว่า การฉีดวัคซีนในผิวหนังสามารถกระตุ้นให้เซลล์สามารถจัดการโควิดได้ดี โดยวัดได้ในระดับ 52 AU ซึ่งเท่ากับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ แต่มากกว่าการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ที่สามารถกระตุ้นภูมิได้ 32 AU
สำหรับอาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดในผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ผู้เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่มีจุดแดงคล้ายมดกัด แต่สามารถหายไปได้ภายใน 7 วัน ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศรีษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้าม โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนขณะนี้ ยังเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยกเว้นแต่ในพื้นที่ที่ต้องการเร่งฉีดวัคซีนและมีความพร้อม เนื่องจากการฉีดในผิวนั้นจะต้องใช้บุคลากรการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง และใช้เวลาในการฉีดมากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อไม่ให้เข็มทะลุลงไปใต้ผิวหนัง ทั้งนี้หากวัคซีนมีไม่เพียงพอและประเทศต้องการเร่งฉีดวัคซีน หรือมีผลการวิจัยที่มากเพียงพอแล้ว อาจมีการพิจารณาให้ฉีดในผิวหนังต่อไปได้ ขอให้รอติดตามกันต่อไป ส่วนภูมิคุ้มกันในการฉีดในผิวหนังนั้นจะอยู่ได้นานหรือไม่นั้น เนื่องจากงานวิจัยตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ แต่ทางกรมวิทยาศาสตร์จะติดตามผลอย่างต่อเนื่อง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage