สธ.เผยมีผู้เสียชีวิตจากวัคซีนโดยตรง 1 ราย เหตุเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ หลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก 6 วัน ขณะที่รอผลสรุปอีก 122 ราย สรุปไม่ได้ 12 ราย ชี้ไฟเซอร์ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบมากในเด็กชาย ย้ำวัคซีนยังมีประโยชน์มากกว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ยังแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์
……………………………………………..
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2564 กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าวเรื่องเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน โดย นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเราฉีดวัคซีนรวมสะสม 37,461,284 โดส แบ่งเป็น ผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 25,954,106 ราย คิดเป็น 36% และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 10,900,001 ราย คิดเป็น 15.1% โดยเป็นวัคซีนซิโนแวค จำนวน 15,782,518 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 16,155,027 โดส วัคซีนซิโนฟาร์ม 4,606,199 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 917,540 โดส
สำหรับวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองให้ใช้ในสภาวะฉุกเฉิน ขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนซิโนฟาร์ม และวัคซีนซิโนแวค ซึ่งต่างเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ทุกบริษัท (COVAX)
แต่ในส่วนของวัคซีนซิโนแวค ที่ไทยเริ่มใช้มาตั้งแต่เกิดการระบาด พบว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ ลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโควิดได้ โดยในช่วงเกิดการระบาดของสายพันธุ์ G ที่ จ. สมุทรสาคร เดือน ธ.ค.2563-มี.ค.2564 วัคซีนซิโนแวคช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตของประชาชนและบุคลากรการแพทย์ให้ปลอดภัย วัดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ 90.5% ขณะที่ในการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ใน กทม.และปริมณฑล เดือนเม.ย.-พ.ค.2564 วัคซีนซิโนแวคสามารถช่วยควบคุมการระบาดในพื้นที่ วัดประสิทธิภาพของวัคซีนได้ 90.7%
ต่อมาในการระบาดของสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ที่โรงพยาบาลเชียงราย เดือน มิ.ย.2564 วัคซีนซิโนแวคช่วยปกป้องบุคลากรการแพทย์ไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต วัดประสิทธิภาพวัคซีนได้ 82.8% และการระบาดใน กทม.เป็นวงกว้างของสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และเดลต้า (อินเดีย) เดือน เม.ย.-ก.ค.2564 วัคซีนซิโนแวคช่วยลดการป่วยหนัก และป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนและบุคลากร
“วัคซีนซิโนแวคแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% การเข้ามาของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ แม้จะลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่จากผลการศึกษาของบุคลากรแพทย์และประชาชน พบว่ายังสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 75% เป็นที่มาของวัคซีนสูตรไขว้ เข็มแรกเป็นวัคซีนซิโนแวค ตามมาด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 2 ป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ดีกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 เข็มด้วยซ้ำ” นพ.จักรรัฐ กล่าว
เปิดผลการศึกษาอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน
นพ.จักรรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน จากระบบเฝ้าระวังของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า วัคซีนซิโนแวค จากผลสำรวจ 2,411 ราย มีอาการเวียนศีรษะนำ ตามมาด้วยอาการคลื่นไส้ ปวดหัว อาเจียน และอ่อนเพลียเป็นส่วนใหญ่ ตามลำดับ และมีรายงานผู้แพ้วัคซีนรุนแรง 24 ราย คิดเป็น 0.16 ต่อแสนโดส
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากผลสำรวจ 2,734 ราย มีอาการไข้นำ ตามมาด้วยอาการปวดหัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอ่อนเพลียเป็นส่วนใหญ่ ตามลำดับ และมีรายงานผู้แพ้วัคซีนรุนแรง 6 รายคิดเป็น 0.04 ต่อแสนโดส นอกจากนั้นยังมีรายงานผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกร็ดเลือดต่ำ (VITT) 5 ราย คิดเป็น 0.03 ต่อแสนโดส
วัคซีนซิโนฟาร์ม จากผลสำรวจ 154 ราย มีอาการเวียนศีรษะนำ ตามมาด้วยอาการปวดหัว อาเจียน คลื่นไส้ และมีไข้เป็นส่วนใหญ่ ตามลำดับ
วัคซีนไฟเซอร์ จากผลสำรวจ 68 ราย มีไข้นำ ตามมาด้วยอาการปวดศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ และเวียนศีรษะเป็นส่วนใหญ่ ตามลำดับ และมีรายงานผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจักเสบ 1 ราย คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส
กรณีเป็นวัคซีนไขว้ สูตรวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า จากผลสำรวจผู้ป่วยใน 289 ราย และผู้ป่วยนอก 502 ราย มีอาการไข้นำ ตามมาด้วยอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และคลื่นไส้ คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 3 ราย ไม่สามารถสรุปได้ 3 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 32 ราย
และกรณีเป็นวัคซีนบูสเตอร์โดส สูตรบูสเตอร์ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 จากผลสำรวจผู้ป่วยใน 88 ราย พบมีอาการปวดศีรษะนำ ตามมาด้วยอาการมีไข้ คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ และอาเจียน ขณะที่ผู้ป่วยนอก 205 ราย พบมีอาการไข้นำ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน 2 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 1 ราย ส่วนสูตรบูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์นั้น จากผลสำรวจผู้ป่วยใน 18 ราย พบมีไข้นำ ตามมาด้วยอาเจียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และเวียนศีรษะ ส่วนผู้ป่วยนอก 98 ราย พบมีอาการคลื่นไส้นำ ตามมาด้วยการมีไข้ ปวดหัว มีผื่น เวียนศีรษะ และมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้ว ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมมูล 2 ราย
เผยมีผู้เสียชีวิต 1 ราย หลังฉีดแอสตร้าฯเข็มแรก 6 วัน
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิดว่า ตอนนี้ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 628 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแล้ว 416 ราย โดย 249 ราย ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น ได้แก่ โรคติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง เลือดออกในสมอง เส้นเลือดสมองอุดตัน ปอดอักเสบรุนแรง ลิ่มเลือดอุดตันในปอด โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งปอด ส่วนอีก 32 ราย ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ สรุปไม่ได้ 12 ราย รอสรุปผลอีก 122 ราย และมีเพียง 1 ราย ที่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนจากสาเหตุภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกร็ดเลือดต่ำ (VITT) เป็นหญิงอายุ 28 ปี พื้นที่นนทบุรี เกิดอาการหลังรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก 6 วัน
สำหรับการเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) ภายหลังได้รับวัคซีนในประเทศไทย พบผู้ป่วยสงสัย 5 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 3 ราย ในจำนวนนี้ 3 ราย มีอายุระหว่าง 21-40 ปี คิดเป็น 0.06 ต่อแสนโดส ส่วนอีก 1 ราย มีอายุ 41-60 ปี คิดเป็น 0.02 ต่อแสนโดส และมีอีก 1 ราย มีอายุ 61-80 ปี คิดเป็น 0.02 ต่อแสนโดส อาศัยอยู่ในพื้นที่กทม. 3 ราย นนทบุรี 1 ราย และนราธิวาส 1 ราย จากผู้ป่วยงสัยทั้งหมด หายเป็นปกติ 2 ราย และเสียชีวิต 3 ราย ทั้งนี้ทุกรายมีประวัติอาการภายหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแข็มแรก ช่วงระยะเวลาตั้งแต่รับวัคซีนถึงเริ่มมีอาการ 3-15 วัน
อย่างไรก็ตาม นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า การเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) ในประเทศไทย คิดเป็น 0.03 ต่อแสนโดส ขณะที่ในยุโรป แคนาดา และออสเตรเลียพบอุบัติการณ์ 0.73 ต่อแสนคนที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ซึ่งอังกฤษพบการรายงานในคนอายุน้อยมากกว่าคนสูงอายุ โดยผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คิดป็น 1รายต่อแสนโดส และอายุน้อยกว่า 50 ปี 1 รายต่อ 5 หมื่นโดส ซึ่งจะเห็นว่าในประเทศอังกฤษเกิดมากกว่าไทยถึง 30 เท่า ในประเทศไทยถือว่าเกิดน้อยมาก
“ภาวะ VITT เกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากประชาชนมีอาการดังนี้ข้อใดข้อหนึ่ง คือ ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรงหรือแน่นหน้าอก แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออกคล้ายไข้เลือดออกแต่ไม่มีไข้ ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และควรแจ้งประวัติการรับวัคซีน โดยนำบัตรนัดหรือบัตรฉีดวัคซีนไปด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้เร็วจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ รวมถึงแพทย์จะต้องนึกถึงภาวะนี้หากคนไข้เข้ารับการรักษาและมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับประวัติรับวัคซีน และย้ำว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังมีประโยชน์มากกว่าการติดเชื้อ”นพ.จักรรัฐ กล่าว
ชี้ ‘ไฟเซอร์’ ทำกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบมากในเด็กชาย
สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่เกิดจากวัคซีนโควิดชนิด mRNA ซึ่งปัจจุบันมี 2 ตัว คือไฟเซอร์และโมเดอร์นา มีโอกาสเกิดประมาณ 16 ราย ใน 1 ล้านโดส ซึ่งพบในเพศชายเป็นส่วนใหญ่ โดยเพศชายที่อายุ 12-17 ปีจะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาช่วงอายุ 18-24 ปี ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานในผู้สูงอายุ อาการดังกล่าวพบได้ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ส่วนใหญ่จะพบภายใน 7 วัน และพบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1
ทั้งนี้ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ดังนั้นหากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย หรือใจสั่น ภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีน ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ กส่วนรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนเข้รับวัคซีนโควิด ชนิด mRNA
“เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่ยังมีมากกว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จึงยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิด แล้วมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน”นพ.จักรรัฐกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage