'ไทยร่วมใจ' ฉีดวัคซีนให้คน กทม.แล้ว 1.46 ล้านโดส คิดเป็น 71% เตรียมเปิดลงทะเบียนเพิ่มหลัง 4 ก.ย.2564 พร้อมจ่อฉีดเข็ม 3 ให้ประชาชนในช่วงปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้าด้วย
……………………………………..
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2564 กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดแถลงข่าวผลการดําเนินงานวัคซีนไทยร่วมใจ และการให้บริการวัคซีนในระยะต่อไป ผ่านระบบออนไลน์ Webex Meet โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกทม.ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ผ่านศูนย์กระจายวัคซีนเอกชน 25 ศูนย์ไปแล้ว 1,467,876 ราย คิดเป็น 71% ของ ของยอดจองผ่านโครงการไทยร่วมใจ จำนวน 2,063,923 ราย แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 1,369,254 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 98,546 ราย ที่เริ่มฉีดไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยจะสิ้นสุดวันที่ 4 ก.ย.นี้
ส่วนในกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก ขณะนี้ กทม.กำลังตรวจสอบผู้ลงทะเบียนมารับวัคซีน แต่ไม่ได้มาตามนัดหมาย เพื่อเก็บตกจำนวนวัคซีนที่ยังเหลืออยู่ และจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่ม พร้อมเตรีนมการฉีดเข็มที่ 3 ให้กับประชาชน ซึ่งทางรัฐบาลประกาศไว้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า
ด้าน นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนทั้งข้างต้นนี้ นอกจากจะฉีดวัคซีนได้แล้ว 71% และฉีดวัคซีนให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้ 71,573 คน คิดเป็น 91% ของเป้าหมายทั้งหมด 1,373,250 ราย ถือได้ว่าเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก แม้จะไม่ครบ 100% แต่ด้วยวัคซีนที่มีจำกัด ทำให้เกิดความล่าช้าในการกระจาย จึงส่งผลให้บางส่วนไปรับวัคซีนที่อื่นแทน
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า โครงการไทยร่วมใจได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1,467,876 ราย และในขณะนี้ศูนย์ทุกศูนย์ได้เริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ขณะนี้ทางหอการค้าไทย ได้เสนอรัฐบาลเร่งรัดจัดหาวัคซีนมาฉีดเป็นบูสเตอร์ให้กับประชาชนที่ได้ฉีดวัคซีนไปตั้งแต่เมื่อต้นปี และมีความเสี่ยงที่ภูมิจะเริ่มน้อยลงแล้ว
อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น มาตรการควบคุมโรคบางส่วนในเดือนนี้เริ่มผ่อนคลายแล้ว ภาคเอกชนเห็นด้วยกับรัฐที่เริ่มผ่อนคลายในธุรกิจมากขึ้น ตนเองเชื่อว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี หากสามารถเปิดเมืองเปิดการท่องเที่ยวได้จะยิ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้
@ เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีน-ตรึงกำลังสาธารณสุข จับตาโควิดสายพันธุ์มิว
ในวันเดียวกันนี้ กทม.ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์การระบาด โดย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของ กทม.ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3,000 รายต่อวัน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตที่ยังคงสูง เนื่องจากเป็นตัวเลขสะสมจากผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ดังนั้นต้องอีก 10-15 วัน ตัวเลขถึงจะลดลง แต่หากคำนวณอัตราของผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากรลดลงมาถึง 10-15% จากช่วงที่พบการระบาดที่สูงที่สุดของ กทม.เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.2564 และสถานการณ์การรักษาพยาบาลเริ่มผ่อนคลาย มีเตียงว่างในภาพรวมอยู่ที่ 40% และในศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) เกินกว่า 50%
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า สำหรับการประกาศผ่อนคลายมาตรการที่ผ่านมา การปลดล็อกหลายกิจกรรม อาจทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ตามหลักสถิติ เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่จำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นของ กทม. อาจลดปัญหาในส่วนนี้ได้ ซึ่งตอนนี้เราพยายามทำให้สาธารณสุขและเศรษฐกิจบาลานซ์ไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการ COVID-FREE Setting ซึ่งเป็นแนวนโยบายส่วนหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการ้านค้าจะต้องมีการฉีดวัคซีนและการใช้ชุดตรวจโควิดแบบแอนติเจน (ATK) ขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กำลังพิจารณาการใช้อยู่ ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 อาทิตย์ถึงจะรู้ว่ามีผลบังคับใช้หรือไม่
สำหรับการเปิดกรุงเทพแซนด์บ็อกซ์นั้น จะเปิดได้ในเดือน ต.ค.หรือไม่ ยังต้องรอประเมินสถานการณ์อีก 2-3 อาทิตย์ ว่ายังมีปัจจัยใดที่ต้องคำนึงอีก เช่น ความสามารถในการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอ ความสามารถของรัฐที่สามารถทำให้ประชาชนสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูก รวมถึงการนำวัคซีนมาเพิ่ม เพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม ซึ่ง ศบค.จะเป็นแถลงรายละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากจะไม่ได้ประกาศใช้ใน กทม.อย่างเดียวแต่รวมถึงพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัดด้วย
ส่วนความคืบหน้ารถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า วันพรุ่งนี้จะมีการเช็คความพร้อมเป็นครั้งสุดท้าย คาดว่า 100% ไม่มีปัญหาในส่วนของตู้เก็บความเย็น วัคซีน ระบบทำความเย็น ระบบระบายอากาศ และระบบเก็บอุปกรณ์ทางการแพท์ และในอาทิตย์หน้าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะลงพื้นที่ไปทดสอบระบบ โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่ตั้งเป้าฉีดวัคซีน คือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังในชุมชนที่ยังตกค้าง รวมถึงคนเร่ร่อน
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวถึงการวางแผนป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์มิว (โคลัมเบีย) ด้วยว่า ขณะนี้แม้องค์การอนามัยจะอยู่ระหว่างการศึกษาไวรัสหลายพันธุ์ใหม่ชนิดนี้ว่าจะลดประสิทธิภาพของวัคซีน และแพร่ระบาดได้รวดเร็วกลายเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern) หรือไม่ กทม.เรายังคงเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีน และจากการขยายศูนย์พักคอยที่ผ่านมา ตอนนี้เรามีเตียงรองรับจำนวนมาก ซึ่งเราได้เตรียมเอาไว้อยู่แล้วในการรองรับเหตุการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง
ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สายพันธุ์มิว ตอนนี้เป็นสายพันธ์ที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศออกมาว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ (Variants of Interest) ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย และแม้กรมควบคุมโรคจะมีการกำจัดการเดินทางเข้ามาของผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์มิว อย่างไรก็ตามทางสำนักการแพทย์เราได้เตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดง และเหลือง รวมถึงเครื่องช่วยหายใจ (High Flow) และเครื่องผลิตออกซิเจน (Oxygen Concentrator) นอกจากนั้นยังมีความพร้อมในการขยายเตียงเพิ่มด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/