ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง! ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปม ส.ว.ไม่แต่งตั้ง ‘รัชนันท์ ธนานันท์’ เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขีดเส้น 15 วันให้วุฒิสภายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
.......................................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายกรณี โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เรื่องพิจารณาที่ ต.20/2564 กรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) โดยการร้องเรียนของนายรัชนันท์ ธนานันท์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่วุฒิสภา (ส.ว.) ผู้ถูกร้อง ไม่ให้ความเห็นชอบนายรัชนันท์ (ผู้ร้องเรียน) ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดต่อหลักความเสมอภาคและความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 และมาตรา 198 และขอให้สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้อง ได้รับคำร้องเรียนจากผู้ร้องเรียนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2564 เป็นการยื่นคำร้องเมื่อพ้นระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้องจากผู้ร้องเรียนตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากผู้ร้องเรียนเอกสารที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาจากผู้ถูกร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้ถูกร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารต่อผู้ร้องเพื่อพิจารณาเมื่อพ้นระยะเวลา 60 วันดังกล่าวแล้ว ครั้นผู้ร้องได้รับเอกสารก็รีบพิจารณาโดยเร็ว และส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 31 ให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องของผู้ร้องตามมาตรา 46 และ 48
และเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องมีความเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้อันเป็นผลจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 46 และ 48 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย และส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กรณีดังกล่าวที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นชอบให้นายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด รวม 2 ครั้ง โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ส.ว. ไม่เห็นชอบนายรัชนันท์ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพราะอ้างว่าเมื่อปี 2558 ครั้งนายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ เคยไปต้อนรับ และถ่ายภาพคู่กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้หลบหนีคดีทุจริตหลายคดี เมื่อครั้งไปเยือนฟินแลนด์
ต่อมานายรัชนันท์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติของ ส.ว. ดังกล่าว อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายรัชนันท์ จาก https://www.tigernews.tv/, ภาพศาลรัฐธรรมนูญ จาก https://storage.thaipost.net/
อ่านประกอบ :
ศาล ปค.ไม่รับคำฟ้อง‘รัชนันท์’ปม ส.ว.ไม่ตั้งเป็นตุลาการศาลสูงเหตุเคยถ่ายภาพคู่‘แม้ว’
หลังฉาก ส.ว.ค้านนั่งตุลาการศาลสูง! ‘รัชนันท์’แจงภาพคู่‘แม้ว’-ตอบปมไม่ส่งตัวข้ามแดน?
‘รัชนันท์’ฟ้อง ส.ว.ปมไม่เห็นชอบตั้งตุลาการศาล ปค.สูงสุด-โฆษกฯปัด ก.ศป.งัดข้อสภาสูง
ตีตกซ้ำสอง! ส.ว.ไม่เห็นชอบ‘รัชนันท์’เป็นตุลาการศาล ปค.สูงสุด เหตุเคยถ่ายรูปคู่‘แม้ว’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage