‘ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา’ แนะทบทวนกระบวนยุติธรรมในแง่ ‘เนื้อหา’ ดูแลลูกหนี้ ‘สุจริต’ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ชี้กฎหมายต้องไม่ซ้ำเติมประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่าเดิม
..........................
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘การผดุงความเป็นธรรมในสังคม โดยกระบวนการยุติธรรมภายใต้วิกฤติโควิด-19’ ในการสัมมนาวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ‘ทางรอดประเทศไทยจากวิกฤติโควิด-19’ ว่า วิกฤติโควิด-19 มีข้อแตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง คือ คนทุกสาขาอาชีพและทุกฐานะ ไม่ว่าจะอยู่ในคฤหาสน์หรือในสลัม ต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า
“ผมอยากเรียกว่าเป็นวิกฤติส้มตำ เพราะส้มตำเป็นอาหารพื้นบ้านของคนทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ ทุกฐานะ มันกระทบกันหมด และถ้าเราไม่จัดการให้ดี วิกฤติส้มตำจะกลายเป็นวิกฤติปลาร้าได้ เพราะมันจะเน่ากันทุกคน” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าวพร้อมระบุว่า “ภายใต้วิกฤติโควิด-19 เราอยู่ในฐานะมวยรอง…ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและรัฐสภา ได้แก้ไขปัญหาโควิดอยู่แล้ว จึงถึงเวลาที่เรา (ฝ่ายตุลาการ) ต้องมาช่วยเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมและเป็นวาระแห่งชาติ”
@หนุนทบทวนกระบวนการยุติธรรมในแง่ ‘เนื้อหา’
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราอาจเห็นกลุ่มทุนต่างประเทศและกลุ่มทุนไทยกว้านซื้อทรัพย์สินต่างๆ และกิจการของคนที่ขาดทุนในการทำกิจการ เช่น โรงแรมต่างๆ ซึ่งภาพจะเหมือนกับวิกฤติต้มยำกุ้ง และเราไม่ควรไปโทษกลุ่มทุน เพราะเขามีสิทธิจะซื้อได้ แต่เราควรต้องมาทบทวนว่าจะทำอย่างไรที่รักษาทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนได้ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะกลายเป็นเมืองขึ้น เสียเอกราชทางเศรษฐกิจและสังคม
“เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรม ผมขอพูดกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีคนที่เกี่ยวข้องทั้งทนายความ ตำรวจ อัยการ ศาล และประชาชน โดยหลังจากเกิดโควิดในช่วงที่ผ่านมานั้น กระบวนการยุติธรรมได้ปรับเปลี่ยนเป็น new normal ในเรื่องของกระบวนการ เช่น การสืบพยานผ่านจอภาพ การแจ้งความร้องทุกข์ผ่านออนไลน์ได้ ซึ่งเป็น new normal ในเรื่องกระบวนการวิธีพิจารณาความ
แต่เรายังไม่เคยพิจารณาเรื่อง new normal ในเรื่องของกฎหมาย ในแง่เนื้อหา หรือเรื่องสารบัญญัติ ทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอาญา ผมจึงอยากชี้ให้เห็นว่า new normal ของกระบวนการยุติธรรม ต้องทบทวนกฎหมายในแง่สารบัญญัติบ้าง ไม่ใช่ว่าไปเน้นย้ำในเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด แต่ไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาถึงแก่นแท้ของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ระบุ
@แนะให้ความสำคัญกระบวนการยุติธรรมเชิง ‘จุลภาค’
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ ยกตัวอย่างแนวทางการแก้ปัญหาแบบ new normal ในแง่กฎหมายสารบัญญัติ ว่า เมื่อพิจารณาคดีความต่างๆที่เกิดขึ้น และพยานหลักฐานที่นำมาตัดสินคดีว่า ใครถูกหรือผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น เป็นเรื่องของกฎหมายบัญญัติว่าอย่างไร ก็ตัดสินตามนั้น เช่น คนลักทรัพย์ต้องถูกจำคุก ไม่รอการลงโทษ เพราะกฎหมายว่าอย่างนั้น เพราะการลักทรัพย์เป็นผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม เรียกว่าเป็นความยุติธรรมเชิงมหภาค หรือ Macro Justice
แต่หากไปพิจารณาว่า การลักทรัพย์นั้นเกิดจากอะไร เราจะเห็นว่าการลักทรัพย์บางคดีเกิดจากความอดอยาก เช่น เราเคยเห็นคดีแม่ไปลักนมผงในห้างสรรพสินค้าเพื่อนำมาให้ลูกกิน เพราะว่าทั้งบ้านไม่มีเงินเลย เราเห็นตรงกันว่า เราคงจะรอการลงโทษจำคุกเขา อันนี้เรียกว่าเป็น Micro Justice หรือเป็นกระบวนการยุติธรรมในเชิงจุลภาค
“ไม่ได้หมายความว่า เราวางหลักว่า ใครไม่มีเงินแล้ว ยากจนแล้ว มีสิทธิ์ไปลักทรัพย์ชาวบ้านเขา ไม่ใช่อย่างนั้น อันนี้เป็นตัวอย่างว่า ศาลจะต้องเข้าไปใช้ดุลพินิจ และตำรวจ อัยการ ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น จะต้องเข้าไปกลั่นกรองในเรื่องความยุติธรรมในเชิงจุลภาค” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ ตั้งประเด็นว่า เมื่อมีคดีขึ้นในศาล ทุกฝ่ายพยายามจะหากฎหมายมาเป็นอาวุธในการเอาชนะอีกฝ่าย ซึ่งการเอาชนะอีกฝ่ายได้ก็ถือว่าเก่ง แต่เราแทบไม่เคยพิจารณาประเด็นอื่นๆเลย นอกจากประเด็นข้อแพ้ชนะในคดี เช่น ไม่เคยดูว่าชาวนาไม่มีเงินชำระหนี้แก่ธนาคาร เพราะเหตุนาล่ม เพราะเหตุอุทกภัย ทำนาไม่ได้ผล ซึ่งเราไม่เคยดูว่า ชาวนาแพ้คดีจะต้องถูกยึดที่นาไป แล้วเขาจะไปทำอะไรกิน และสิ่งที่เราได้มาคุ้มหรือไม่
“เราได้เงินจากการขายทอดตลาดที่ดินที่อยู่ห่างไกลในชนบท บางคดีเราได้เงินมาไม่กี่หมื่นบาท แต่ชาวนาเสียที่ดินไปเป็นสิบๆไร่ เราเสียชาวนาไป เราเสียครอบครัวชาวนาไป มันคุ้มหรือไม่กับเงินที่ได้มาไม่กี่หมื่นบาท เราไม่เคยคิด ซึ่งในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 301 แม้กฎหมายจะบัญญัติว่าห้ามบังคับคดีกับเครื่องมือ เครื่องใช้ ในการประกอบอาชีพที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 แสนบาท แต่ที่นาไม่ใช่ เราจึงเห็นภาพชาวไร่ชาวนาถูกยึดทรัพย์ ถูกยึดที่ไร่ ที่นา ขายทอดตลาดจนเป็นเรื่องปกติ
แต่ในบางประเทศเขามีข้อจำกัดในการบังคับคดี เช่น การบังคับคดีกับที่ทำกินเขา จะต้องเหลือที่ทำกินให้เขาบ้างเป็นบางส่วน เช่น เหลือไว้ 2-3 ไร่ หรือบางประเทศ ถ้าจะยึดบ้านที่ดินไปขาย ถ้ามีราคาทรัพย์สูงมาก ต้องกันเงินบางส่วนคืนให้กับลูกหนี้ไป เพื่อให้เขาไปต่อชีวิต ไปตั้งตัวได้ อันนี้เป็นกระบวนการยุติธรรมในเชิง Micro Justice ซึ่งขอเน้นย้ำว่า เราจำเป็นต้องดูกระบวนการยุติธรรมในเชิงมหภาพและในเชิงจุลภาคไปพร้อมๆกัน” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
@อย่าใช้กฎหมายซ้ำเติมประชาชนที่เดือดร้อนในช่วงโควิด
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ การออกกฎหมายจะอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่การออกกฎหมายตามทฤษฎี ดังนั้น เราต้องออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นธรรม และอย่าใช้กฎหมายซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยที่เขามีความสุจริต ส่วนลูกหนี้บางคนที่มีความไม่สุจริตอันนี้ก็ว่ากันไป แต่หากเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในภาวะที่น่าเห็นใจข้างต้น เราควรมาทบทวนเรื่องกระบวนการยุติธรรมในเชิงจุลภาคหรือไม่
“เมื่อเป็นคดีอยู่ในศาล ผมเรียกว่า มันเป็นประเด็นแห่งชีวิตในโลกความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น อย่างในคดีอาญา ศาลมีอำนาจสืบเสาะความประพฤติของจำเลยได้ เช่น จำเลยยากจน ต้องเลี้ยงดูครอบครัว การจำคุกเลยไม่เป็นประโยชน์ ก็ให้รอการลงโทษได้
แต่ในคดีแพ่ง เราไม่มีการสืบเสาะคดีแพ่ง เรารู้แต่ว่าเป็นข่าว เช่น เราเห็นข่าวคุณยาย 2 คน ซึ่งเป็นแม่ลูกกัน ถูกยึดบ้านที่ดินขายทอดตลาด ถูกคนซื้อทรัพย์ขับไล่ออกจากที่ดิน ซึ่งอันนี้ทำได้ตามกฎหมาย แล้วเราจะปล่อยให้ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นหรือ ผมอยากถามกฎหมายเรามีข้อบกพร่องหรือไม่ เราจึงต้องมาทบทวน” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
@ชี้ช่องโหว่กฎหมายไกล่เกลี่ยคดีก่อนฟ้อง
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ ยังยกตัวอย่างว่า นายเปิ้ล กู้เงินจากธนาคารมาสร้างร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลาย 10ล้านบาท ทำสัญญาเช่าที่ดินล่วงหน้าเป็นเงิน 10 ล้านบาท และจ่ายค่าเช่าอีกเดือนละ 2 แสนบาท นายเปิ้ล จ้างลูกจ้าง 50 คน ซึ่งลูกจ้างแต่ละคนมีภาระค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าของใช้จำเป็น ค่าส่งลูกเรียนหนังสือ ค่าเน็ตให้ลูกเรียนออนไลน์ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด นายเปิ้ล ต้องปิดร้านอาหาร และถูกเจ้าของที่ดินฟ้องเรียกค่าเช่า ส่วนลูกจ้างต้องตกงาน
ดังนั้น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายเปิ้ลและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เราควรมาดูเรื่องความยุติธรรมเป็นรายคดีหรือไม่ เพราะกฎระเบียบหรือสัญญาบางเรื่อง เป็นกฎระเบียบหรือสัญญาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีโควิด ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด
“กฎหมายที่มีอยู่และพอนำมาใช้แก้ปัญหานี้ได้ คือ การไกล่เกลี่ยคดีแพ่งก่อนฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 20 ตรี ที่ให้บุคคลที่อาจถูกฟ้องยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ไกล่เกลี่ยคดีได้ ตั้งผู้ประนีประนอมเพื่อไกล่เกลี่ยคดีได้ อย่างกรณีนายเปิ้ล สามารถร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้ประนีประนอมในการไกล่เกลี่ย ให้เรียกผู้ให้เช่ามา เพื่อไกล่เกลี่ยลดค่าเช่า ทำสัญญาใหม่เพื่อลดค่าเช่าให้เหมาะสม แต่นี่เป็นเรื่องความสมัครใจทั้งสองฝ่ายกฎหมาย ไม่สามารถบังคับได้ จึงเป็นช่องว่างในการใช้กฎหมายในสถานการณ์แบบนี้
ต่างกับในต่างประเทศ ที่เขาบัญญัติว่า การฟ้องคดีต้องผ่านการไกล่เกลี่ยก่อน จึงจะฟ้องคดีได้ แต่บ้านเราการไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องความสมัครใจ ซึ่งปัจจุบันศาลเองได้รณรงค์เรื่องกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องอยู่ ที่มีข้อดี คือ ไม่ต้องฟ้องคดี ฝ่ายลูกหนี้ยื่นขอให้ไกล่เกลี่ยได้ และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จุดอ่อนคือ ต้องได้รับความสมัครใจจากอีกฝ่าย ซึ่งบางครั้งลูกหนี้ไม่ได้ต้องการยกเลิกสัญญา ไม่ได้ต้องการให้ศาลพิพากษาบังคับคดีตามสัญญาทันที แต่อยากให้มีการแก้ไขสัญญาเท่านั้นเอง นี่เป็นจุดอ่อนของกฎหมายฉบับนี้” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
(ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง)
@เสนอแก้กม.ให้ศาลไทยปรับปรุงสัญญาต่างๆช่วงวิกฤติ
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ เสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการแก้ไขกฎหมายว่า ในกรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือมีเหตุที่พ้นวิสัย (Impossibility) และไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ให้ศาลไทยมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงหรือแก้ไขสัญญาของคู่สัญญาได้เหมือนในต่างประเทศ จากปัจจุบันที่กฎหมายไม่ให้ศาลไทยทำเช่นนั้นได้
“สัญญาต่างๆเกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิดนั้น การปฏิบัติตามสัญญา ต้องปฏิบัติในสถานการณ์ที่เกิดโควิด เช่น กรณีนายเปิ้ล เปิดร้านขายอาหาร โดยอาศัยวิวแม่น้ำ ไม่ได้ขายแบบดิลิเวอรี่ และคนให้เช่าที่ดินก็รู้ว่านายเปิ้ลเอาที่ดินไปทำร้านอาหาร ขายวิวแม่น้ำ ให้คนมาถ่ายรูป แต่เมื่อโควิดมา นายเปิ้ลต้องปิดการขายอาหาร ถามว่าเป็นความผิดของใคร เป็นความผิดนายเปิ้ลก็ไม่ใช่ จะเป็นความผิดของผู้ให้เช่าก็ไม่ใช่
ซึ่งโดยปกติแล้ว สัญญาต่างๆนั้น การปฏิบัติตามสัญญาต้องเคร่งครัด สัญญาต้องเป็นสัญญา ความผิดพลาดทางธุรกิจไม่ใช่เหตุที่จะปฏิเสธสัญญา เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่คนค้าขายต้องยอมรับ แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้แตกต่างจากสิ่งที่กล่าวมา จึงความพ้นวิสัยของสัญญา และการไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้…
แต่ในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี เมื่อเกิดเหตุพ้นวิสัย รวมการพ้นวิสัยทางเศรษฐกิจด้วยนั้น หากการชำระหนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ จะส่งผลให้คู่กรณีหลุดพ้นจากความรับผิด และศาลมีอำนาจเข้าไปแก้ไขปรับปรุงสัญญาได้
ส่วนในอังกฤษ ศาลอังกฤษใช้หลักว่า เมื่อมีอุปสรรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติต่างๆที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของสัญญา ซึ่งกระทบต่อสาระสำคัญของสัญญา จนทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ย่อมพ้นความรับผิด ซึ่งถือว่าวิกฤติเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อสัญญา
ขณะที่สหรัฐ เขาถือว่า ศาลสามารถเข้าไปแทรกแซงสัญญาได้ สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนสัญญาได้ สามารถสั่งให้สัญญาเลิกกันได้ โดยอาศัยหลักความสุจริต อันนี้เป็นศาลในระบบ common law (ระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) ซึ่งในอังกฤษและสหรัฐทำได้ง่าย เพราะเขาเป็นระบบที่ศาลวางบรรทัดฐาน โดยไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษร แต่ไทยเราเป็นระบบ civil law (กฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร) จึงทำได้ค่อนข้างยาก…
เช่น กรณีเถ้าแก่อู่แท็กซี่ มีรถเป็นพันคัน แต่ไม่มีคนขับ เพราะคนขับกลับต่างจังหวัดกันหมด แล้วเถ้าแก่จะหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายค่าเช่าซื้อรถ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ยังยืนยันว่า เถ้าแก่จะต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเดิม ตรงนี้จะถือว่าเจ้าหนี้ไม่สุจริตได้หรือไม่ และศาลจะเข้าไปแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้กฎหมายของเรายังไม่ให้อำนาจศาลไทยเข้าไปแก้ไขสัญญาเหมือนกับศาลของอังกฤษ และสหรัฐได้” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศาลไทยเคยตัดสิน โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2546 วินิจฉัยว่า การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยอาจมีผลกระทบต่อลูกหนี้บางคน ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้สินที่ตนมีต่อสถาบันการเงินได้เหมือนเช่นปกติ แต่จะถือว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทำการชำระหนี้พ้นวิสัยเสียทีเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป นี่เป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่พิจารณาในคดีกรณีเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งศาลฎีกาไม่ถึงปฏิเสธ แต่ให้พิจารณาเป็นกรณีๆไป
@เสนอแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับวิกฤติบ้านเมือง
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ ยังยกตัวอย่างกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่า “ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตาย เพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่าต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง ให้มันรู้ไปว่าระเบียบกับความตาย อะไรสำคัญกว่า” อันนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงว่า กฎระเบียบไม่สอดคล้องกับภาวะสังคม เพราะฉะนั้น เรามีหน้าที่ต้องแก้ไขกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความคิดอย่างผู้ว่าสมุทรสาครที่ใช้หลักรัฐศาสตร์ ยกเว้นกฎหมาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงเกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายได้
“นักกฎหมายต้องใช้และตีความกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ให้สอดคล้องกับเทศกาลบ้านเมือง คือ ภาวะบ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติ มีความไม่เป็นธรรม กฎหมายที่มีอยู่ไปไม่ถึง นักกฎหมายมีหน้าที่เสนอกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าว
ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ เห็นว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จำเป็นต้องทบทวนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา เช่น กระบวนการยุติธรรทางแพ่งนั้น เมื่อคดีขึ้นศาล ศาลอาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับกรณีผิดสัญญา การลดดอกเบี้ย ลดการบังคับคดี และการไม่เร่งรัดคดีมากเกินไป ส่วนที่เราพูดว่าความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม คือ ความไม่ยุติธรรมนั้น ต้องมาทบทวนว่า บางครั้งพิจารณากระบวนการพิจารณายุติธรรมในเชิงจุลภาคนั้น อาจต้องใช้เวลา และไม่จำเป็นต้องเร่งรัดคดีมากเกินไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ขณะที่ในคดีอาญานั้น เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ การสั่งไม่ฟ้องของอัยการ เมื่อเป็นคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 21 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า หากพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องเป็นคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของชาติ หรือต่อประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ก็ให้เสนออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดสามารถสั่งไม่ฟ้องได้
ส่วนกรณีพนักงานสอบสวน แม้ว่าเรามี พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาตรา 35 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนไกล่เกลี่ยคดีอาญาได้ แต่กรณีนี้มีจุดอ่อน คือ ไม่ใช่สามารถใช้ได้ทุกคดี
“สถานการณ์โควิดเราไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ไม่ต้องรอให้คลี่คลาย ผมว่านักกฎหมายต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง ได้เวลาแล้ว ที่กระบวนการยุติธรรมต้องรับใช้ประเทศชาติ โดยการทบทวนการใช้กฎหมายว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ และเราควรแก้ไขกฎหมายอะไรบ้าง
ผมเสนอว่า กระบวนการยุติธรรมควรมีการตั้งฮอตไลน์สายด่วน ให้ข้อมูลแก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากการใช้กฎหมายในสถานการณ์โควิด อาจมีการตั้งวอร์รูมเหมือน ศบค. กลั่นกรองแยกประเภทคดีที่มีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เพื่อบริหารจัดการให้เกิดความเป็นธรรม หากมีข้อขัดข้องกฎหมายใดก็ควรแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการออก พ.ร.ก. และทำตามกระบวนการนิติบัญญัติ เช่น การให้ศาลมีอำนาจเข้าไปมีอำนาจในการะบวนการแก้ไข ปรับปรุงสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมได้ ให้มีผลย้อนหลังได้” ศ.พิเศษ ภัทรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
@เสนอสูตรผสาน 6 มิติฟื้นฟูประเทศหลังโควิด
ด้าน นายเสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘การฟื้นประเทศอย่างเป็นธรรม : สูตรผสานหกสถาบัน’ ว่า การพลิกฟื้นประเทศจากโควิด-19 ต้องมองอย่างรอบด้าน และสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้กับฝ่ายต่างๆ ซึ่งตนเสนอว่าการฟื้นฟูประเทศไทยจากโควิด-19 นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของ 6 สถาบัน เพื่อดำเนินการในเรื่องต่างๆ
โดยมีหลักคือร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ โดยจำกัดและควบคุมผลกระทบของโควิด-19 ให้อยู่ระดับที่จัดการได้ ซึ่งมีตัวแปร คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลกลุ่มเปราะบาง
สำหรับสูตรฟื้นประเทศอย่างเป็นธรรม ประกอบด้วย 6 มิติ ได้แก่ 1.มิติด้านเศรษฐกิจและพาณิชย์ เช่น การรักษางานและสร้างงานใหม่ ,ปรับโครงสร้างหนี้และสร้างวินัยเพื่อการก่อหนี้ใหม่ ,สร้าง Safety Net ให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและกลุ่มเปราะบาง และการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ (BCG) 2.มิติด้านตลาดทุน โดยตลาดทุนต้องยกระดับในการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มช่องทางการลงทุน และเพิ่มความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลผ่านกรอบ ESG
3.มิติการบริหารราชการแผ่นดินและธรรมาภิบาล ได้แก่ การยกระดับการบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบใหม่ คือ รัฐบาลดิจิทัล 4.0 และการสร้างธรรมาภิบาลวัคซีน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อนโยบายในการกระจายวัคซีนอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน 4.มิติด้านความมั่นคง โดยกำหนดให้โควิด-19 เป็นประเด็นความมั่นคงในประเทศ การสร้างความมั่นคงในการตรวจเชื้อ ความมั่นคงทางยาและวัคซีน
5.มิติกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ได้แก่ ปรับกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้วิกฤติประเทศและเร่งออกที่เอื้อต่อการฟื้นฟูประเทศ และการปฏิรูประบบราชทัณฑ์ 6.มิติการเมืองและการเลือกตั้ง ได้แก่ การปรับโครงสร้างการเมืองผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การจัดทำโรดแมปเพื่อลดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage