ภาคประชาชน-สื่อรวมตัวฟ้องศาลแพ่ง เพิกถอนคำสั่งนายกฯ ฉ.29 ให้อำนาจ กสทช.ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความให้ประชาชนเกิดความกลัว ชี้ไม่มีอำนาจ-ไร้ความจำเป็น-ไม่ได้สัดส่วน ขัด รธน. เป็นการบัญญัติไม่ชัดเจน-คลุมเครือ
...................................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 2 ส.ค. 2564 เวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก สื่อมวลชนและประชาชน นำโดย The Reporters, Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ให้อำนาจ กสทช. ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
โดยกลุ่มสื่อมวลชนและประชาชน ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 เนื่องจากการห้ามเผยแพร่ ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว เป็นการบัญญัติที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อาจตีความได้ว่า แม้ข้อความนั้นเป็นเรื่องจริง อาจจะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้ และถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ และในวันเดียวกันนี้ จะยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนด้วย
อีกทั้ง การที่ให้ กสทช. สั่งระงับสัญญาณจาก IP Address เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแน่นอน เพราะ IP Address ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงต่อบุคคลเหมือนเลขบัตรประชาชน แต่เป็นเหมือนบ้านเลขที่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้หลาย ๆ คน ผ่าน Wifi ที่อาจมีคนเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับความยินยอม เช่น แอบรู้รหัส หรือแฮกเข้ารหัสได้ นอกจากนี้หมายเลข IP Address ที่ user เข้าใช้งานแต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกัน หาก กสทช. ตรวจพบข้อความที่เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดล่าช้า ผู้ที่ถูกระงับสัญญาณอาจไม่ใช่ผู้ที่เผยแพร่ข้อความดังกล่าวแล้วก็ได้ นอกจากนี้ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ประชาชนต้องเข้าถึงสิทธิการฉีดวัคซีน สิทธิเยียวยาจากรัฐด้วยการลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ต นี่ยังไม่นับรวมมาตรการของรัฐ ที่จำกัดการเดินทางและการพบปะสมาคมของประชาชน ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพในสถานการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ดี มาตรา 9(3) แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่ง “ตัดอินเทอร์เน็ต” หรือการระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ดังนั้น ข้อกำหนดดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะขัดต่อหลักนิติธรรมไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน ทั้งผู้ออกก็ใช้ดุลพินิจในการออกข้อกำหนดโดยมิชอบเพราะไม่มีฐานของกฎหมายให้อำนาจ เป็นการละเมิด จำกัดและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ซึ่งได้รับการรับรองคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงขอให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามวิถีระบอบประชาธิปไตย
กรณีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ความว่า “…….อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ 2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันที
ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยข้อกำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นการรวมตัวขององค์กรสิทธิมนุษยชนด้านกฎหมาย ได้แก่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน (iLaw)
อ่านประกอบ :
‘นพ.ประวิทย์’ชี้คำสั่งนายกฯเลี่ยงบาลีให้ สนง.กสทช.ดูเฟกนิวส์ทั้งที่ กม.ไม่ให้อำนาจ
อาจารย์วารสาร มธ.ร่วมออกแถลงการณ์ จี้ รบ.ยกเลิก พรก.จำกัดความเห็นสื่อ-ปชช.
ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ปชช.! แถลงการณ์‘เพื่อไทย & ก้าวไกล’จี้เลิกคำสั่งนายกฯ ฉ.29
70 คณาจารย์นิติฯทั่ว ปท. แถลงยัน‘บิ๊กตู่’ไร้อำนาจออกกฎห้ามสื่อ-ปชช.แพร่ข่าว-ขัด รธน.
‘บิ๊กตู่’ยกระดับคุม!ห้ามเสนอข่าวให้คนหวาดกลัว สั่ง กสทช.ตรวจสอบ-ระงับไอพีทันที
6 องค์กรสื่อฯ จี้รัฐทบทวนข้อกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกระทบต่อเสรีภาพ
แถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จี้รัฐยกเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อ-ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/