บ.ดาตั้มไทยฯ ยื่นฟ้องศาลปค.ให้ กฟน. ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 14 ล้าน หลังอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทให้ชำระเงินค่างานท่อร้อยสายไฟงวด 10 ที่ค้างชำระ-ค่าหลักประกันสัญญาคืนพร้อมดอกเบี้ย แค่ 5 ล้านเศษ อ้างเหตุบอกเลิกจ้างไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ด้าน กฟน.โต้เอกชนเป็นฝ่ายผิดสัญญา-ขาดความผิดชอบ พร้อมยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาด ล่าสุดเรื่องอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาชั้นศาล
----------------------------
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าว กรณี นายวีรพงษ์ ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาตั้มไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด ร้องเรียนปัญหาการถูกการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และจ่ายคืนค่าจ้างล่วงหน้า จากการเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ บริเวณ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ
ขณะที่ บริษัทฯ ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้อนุญาโตตุลาการพิจาณา เนื่องจากเมื่อ 29 ม.ค. 2558 กฟน.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และจ่ายคืนค่าจ้างล่วงหน้าถึงบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ บริเวณ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ
นายวีรพงษ์ ระบุว่า ข้อพิพาทที่ยื่นให้อนุญาโตฯ พิจารณานั้น ได้ขอให้ กฟน. ชำระค่างวดงานที่ 10 เป็นเงินจำนวน 5,998,427.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ กฟน. ปฏิเสธไม่รับงวดงาน (13มี.ค.2557) ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่เสนอข้อพิพาทเป็นเงิน 877,575.60 บาท รวม 6,876,002.89 บาท และขอให้จ่ายเงินค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการค่าเครื่องจักร วันละ 20,192.20 บาท รวมระยะเวลา 1,226 วัน เป็นเงิน 24,755,637.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,126,269.86 บาท รวมเป็นเงิน 26,881,907.06 บาท โดยห้ามไม่ให้ กฟน. บังคับตามหนังสือค้ำประกัน และให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญาของ ธ.กรุงศรีฯ ทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ รวมเรียกร้องเป็นเงินทิั้งสิ้น 33,757,909.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย
(อ่านประกอบ : ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟกทม. ร้องอนุญาโตฯ ให้ กฟน.จ่าย 33.7 ล. อ้างผิดสัญญา, ขมวดปม‘ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟ’ร้อง‘กฟน.’จ่าย 33.7 ล. -แก้สัญญา5รอบ-เรื้อรัง 8 ปี)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจาก นายวีรพงษ์ ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาตั้มไทยฯ ว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ กฟน. ชำระเงินค่างวดงานที่ 10 ที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 1,571,948.93 บาท ให้แก่บริษัท ดาตั้มไทยฯ พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มี.ค. 2557 (เริ่มนับเวลา 30 วัน หลังจากการส่งมอบงาน) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และชำระเงินค่าหลักประกันสัญญาคืน เป็นเงินจำนวน 2,959,584.71 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมแล้วกว่า 5 ล้านบาท
นายวีรพงษ์ ระบุด้วยว่า สาเหตุของข้อพิพาทมาจาก กฟน. ไม่มีวิศกรโยธา ผู้ชำนาญงานในการพิจารณาตรวจรับงานหลังจากทำการก่อสร้างเสร็จ ทำให้เกิดความล่าช้าเป็นเวลา 3-4 ปี โดยกำหนดการรับงานคือ ปี 2553 - 2554 แต่เมื่อปี 2558 กฟน.ได้บอกเลิกสัญญา โดยให้เหตุผลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทำให้บริษัท ดาตั้มไทยฯ ได้รับความเสียหาย
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า หลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดแล้ว แต่เนื่องจากค่าเสียหายมากกว่าค่าชดใช้ค่าเสียหายที่ได้รับ บริษัท ดาตั้มไทยฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ กฟน. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในส่วนที่ให้ กฟน. ชำระเงินค่างวดงานที่ 10 ที่ค้างชำระเป็นเงินจำนวน 1,571,958.93 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 25 มี.ค. 2557 โดยเริ่มนับเวลา 30 วันหลังจากการส่งมอบงาน จนถึงวันยื่นคำร้องคดี รวมเป็นเงิน จำนวน 2,302,274.54 บาท และชำระเงินค่าหลักประกันสัญญาคืน พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 เป็นเงิน 54,732.60 บาท รวมเป็นเงิน จำนวน 3,014,317.30 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,316,591.85 บาท พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน นับถัดจากวันที่ยื่นคำร้องคดีนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
นายวีรพงษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังจะขอให้ศาลฯ มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในส่วนที่คณะฯ ไม่วินิจฉัยให้ กฟน. ชำระเงินค่างวดงานที่ 10 ที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 24 มี.ค. 2557 โดยเริ่มนับเวลา 30 วันหลังจากการส่งมอบงาน จนถึงวันยื่นคำร้องคดี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 6,482,970.91 บาท และให้เพิกถอนในส่วนที่ไม่คืนเงินค่าหลักประกันสัญญา ให้แก่ บริษัท ดาตั้มไทยฯ พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่มีคำชี้ขาด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 14,448,188.79 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน นับถัดจากวันที่ยื่นคำร้องคดีนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฯ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เกี่ยวกับประเด็นนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า บริษัทฯ ได้มีการกระทำผิดสัญญาจ้างจริง เนื่องจาก มีเจตนาเป็นที่ประจักษ์ตามเอกสารหลักฐานที่จะไม่ปฏิบัติงานตามรูปแบบที่เห็นชอบ อีกทั้งขาดสภาพคล่อง ไม่มีศักยภาพที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จได้ ขาดความรับผิดชอบปฏิเสธการดูแล แก้ไข ปรับปรุงข้อบกพร่องบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน และความปลอดภัยต่อสาธารณชน เกิดผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการจราจร ทำให้ภาพลักษณ์ของ การไฟฟ้านครหลวง เสียหาย และไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามสัญญา โดยปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีที่กระทำให้ท่อประปาเสียหาย
ทั้งนี้ คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดว่า บริษัท ดาตั้มไทยฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญา และเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ไม่ได้ทำงานแล้วเสร็จตามข้อกำหนดของสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาของ การไฟฟ้านครหลวง เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาที่เป็นหน่วยงานรัฐในฐานะคู่สัญญา และเห็นควรให้ การไฟฟ้านครหลวง ใช้เงินค่าแห่งการงานแก่บริษัท ดาตั้มไทยฯ
ส่วนประเด็น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้ กฟน.ชำระเงินค่างานงวดที่ 10 ที่ค้างชำระและชำระค่าหลักประกันสัญญาคืนพร้อมดอกเบี้ย สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นแย้งกับคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ โดยสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 บัญญัติให้ทุกฝ่ายกลับคืนสู่สภาพเดิม หากมีการงานเกิดขึ้นก็กำหนดให้มีการใช้ค่าแห่งการงานนั้นอันตามควร จ่ายตามสมควรจากการยินยอมให้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในการงานดังกล่าว ซึ่งค่าแห่งการงาน คือ ค่าวัสดุและค่าแรงงานที่ประกอบขึ้นเป็นการงานนั้น โดยไม่รวมค่า Factor F (ส่วนยอดเงินตามค่างานงวดที่ 10 เป็นค่างานรวมค่า Factor F) โดยบริษัทฯ กล่าวอ้างว่ามีค่างานงวดที่ 10 เกิดขึ้น แต่ กฟน.ได้มีหนังสือปฏิเสธฉบับลงวันที่ 21 พ.ย. 2559 โดยให้การโต้แย้งอย่างชัดแจ้งว่ามีเนื้องานที่ไม่สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ได้ จากข้อเท็จจริงบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีค่างานงวดที่ 10 อีกต่อไป จะมีก็แต่ค่าแห่งการงานที่ต้องชำระเท่านั้น โดยค่าแห่งการงานที่เกิดขึ้นจริงที่ กฟน.สามารถครอบครองและใช้ประโยชน์ได้มีเพียง 518,250 บาท นอกนั้น เป็นเนื้องานชิ้นส่วนบ่อพักที่ถูกรื้อถอนออก และท่อร้อยสายฯ ที่ก่อสร้างไม่สำเร็จ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
นอกจากนี้ ประเด็นคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ กฟน. ต้องจ่ายเงินค่าหลักประกันสัญญาคืนให้แก่บริษัทฯ เป็นจำนวน 2,554,584.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันชี้ขาดจนชำระเสร็จสิ้น สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าในกรณีนี้ กฟน.มีอำนาจที่จะเรียกร้องค่าปรับจากบริษัทฯ ได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 10 ของวงเงินตามสัญญา อีกทั้ง บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ในมาตรา 40 ดังนั้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ ถือว่ายังไม่เป็นผลที่จะต้องดำเนินการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage