- Home
- Isranews
- เรื่องเด่น - สำนักข่าวอิศรา
- ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟกทม. ร้องอนุญาโตฯ ให้ กฟน.จ่าย 33.7 ล. อ้างผิดสัญญา
ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟกทม. ร้องอนุญาโตฯ ให้ กฟน.จ่าย 33.7 ล. อ้างผิดสัญญา
ผู้รับเหมาท่อร้อยสายไฟ กทม. ร้องอนุญาโตฯ ให้ 'กฟน.' จ่าย 33.7 ล. อ้างผิดสัญญา 73 ล. หลังการไฟฟ้าฯ มีหนังสือเลิกสัญญาจ้างถึงบริษัทฯ เรียกคืนเงินล่วงหน้า ค่าสินไหม ค่าปรับ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวีรพงษ์ ศรีนวกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ดาตั้มไทย คอนสตรัคชั่น จำกัด เดินทางมาที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พร้อมเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ยื่นเสนอข้อพิพาทกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้อนุญาโตตุลาการพิจาณา เนื่องจากเมื่อ 29 ม.ค. 2558 กฟน.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง และจ่ายคืนค่าจ้างล่วงหน้าถึงบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน สถานีต้นทางวิภาวดี สถานีย่อยวังเพชรบูรณ์ บริเวณ ถ.ราชปรารภ กรุงเทพฯ
นายวีรพงษ์ ระบุว่า ข้อพิพาทที่ยื่นให้อนุญาโตฯ พิจารณานั้น ได้ขอให้ กฟน. ชำระค่างวดงานที่ 10 เป็นเงินจำนวน 5,998,427.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ กฟน. ปฏิเสธไม่รับงวดงาน (13มี.ค.2557) ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่เสนอข้อพิพาทเป็นเงิน 877,575.60 บาท รวม 6,876,002.89 บาท และขอให้จ่ายเงินค่าเสียหาย ค่าใช้จ่ายค่าดำเนินการค่าเครื่องจักร วันละ 20,192.20 บาท รวมระยะเวลา 1,226 วัน เป็นเงิน 24,755,637.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,126,269.86 บาท รวมเป็นเงิน 26,881,907.06 บาท โดยห้ามไม่ให้ กฟน. บังคับตามหนังสือค้ำประกัน และให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญาของ ธ.กรุงศรีฯ ทั้งหมดให้แก่บริษัทฯ รวมเรียกร้องเป็นเงินทิั้งสิ้น 33,757,909.95 บาท พร้อมดอกเบี้ย (ดูเอกสาร)
ขณะที่ หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างที่ กฟน. ส่งถึงบริษัทฯ ระบุสาระสำคัญว่า ตามที่ บริษัท ดาตั้มไทยฯ เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสำหรับสถานีต้นทางวิภาวดี กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาแล้วเสร็จ วันที่ 6 มิ.ย. 2557 ซึ่งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เห็นควรบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยเหตุ ดังนี้
1.บริษัทฯ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีศักยภาพที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จได้ และบริษัทฯ มีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามรูปแบบที่ กฟน. เห็นชอบ 2.บริษัทฯ ขาดความรับผิดชอบปฏิเสธการดูแล แก้ไข ปรับปรุงข้อบกพร่องบริเวณสถานที่ปฏิบัติงาน และความปลอดภัยต่อสาธารณชน ทำให้เกิดผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการจราจร และทำให้ภาพลักษณ์ของ กฟน. เสียหาย 3.บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามสัญญาในเหตุความเสียหายใดๆ อันเกิดแก่งานที่บริษัทฯ กระทำโดยปฏิเสธความรับผิดชอบกรณีที่กระทำท่อประปาเสียหาย
กฟน.จึงขอบอกเลิกสัญญาจ้างโดยหากนับตั้งแต่วันสิ้นสุดสัญญาจ้าง (6 มิ.ย. 2557) จนถึงวันบอกเลิกสัญญาจ้าง (25 พ.ย. 2557) คิดเป็น 172 วัน และให้บริษัทฯ ดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญา ต่อไปนี้
1.จ่ายคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าส่วนที่เหลือ จำนวน 1,966,216.20 บาท 2.จ่ายเงินคืนค่างานที่ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า k) งวดที่ 5-9 เป็นเงินจำนวน 1,480,101.8 บาท 3.ชำระค่าสินไหมทดแทนให้การประปานครหลวง เนื่องจาก เกิดความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 863,296.89 บาท 4.ชำระค่าปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.5 ของค่างาน จำนวน 90,528,579.06 บาท คิดเป็นค่าปรับวันละ 452.642.99 บาท จำนวน 172 วัน รวม 77,854,594.28 บาท 5.ชำระค่าควบคุมงานวันละ 3,100 บาท จำนวน 172 วัน รวมเป็นเงิน 533,200 บาท และค่าเสียหายอื่นๆ (ถ้ามี)
ทั้งนี้ ขอให้บริษัทฯ ชำระเงินดังกล่าวภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และหากพ้นกำหนดเวลา กฟน. จะดำเนินการตามที่เห็นสมควร และขอสงวนลิขสิทธิ์ริบหลักประกันสัญญาจ้างส่วนที่เหลือไว้สำหรับค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาให้บริษัทฯ เป็นผู้ทิ้งงาน ต่อไป (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ตาม นายวีรพงษ์ กล่าวยืนยันถึงสาเหตุที่ทำให้ท่อประปาได้รับความเสียหาย ว่าเป็นเพราะโครงข่ายสาธารณูปโภคใต้ดินมีปัญหา กฟน. ไม่ได้มีการสำรวจออกแบบงานใต้ดินให้สามารถก่อสร้างได้จริง ทำให้บริษัทฯ ดำเนินงานไปด้วยความยากลำบากสร้างไปแก้ปัญหาไป ซึ่งผิดปกติวิสัยของการออกแบบประกวดราคาของรัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุญาโตตุลาการ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญา ซึ่งเป็นการเสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตฯ ชี้ขาด ดังนั้น การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตฯ จึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตฯ วินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว
โดย อนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้ พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่างๆ มาสืบ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจน สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้ง คู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และความสงบเรียบร้อย เพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตฯ จึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาท