กรมวิทย์ฯ เผย กทม.พบแรงงาน 7 ราย ติดโควิดควบ 2 สายพันธุ์ 'เดลต้า-อัลฟ่า' ในแคมป์ก่อสร้าง พร้อมจับตาบึงกาฬ เจอคนงานกลับจากไต้หวันติดโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้แต่ถอดรหัสพันธุกรรม เทียบระหว่างไต้หวันและภาคใต้ ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง
..........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์สายพันธุ์กลายพันธุ์ว่า ปัจจุบันเราตรวจสายพันธุ์นับตั้งแต่เกิดการระบาดระลอกใหม่เดือน เม.ย.2564 ไปแล้วประมาณ 15,000 ราย โดยยอดสะสมยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) อยู่ถึง 74.08% สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) 24.14% และสายพันธุ์เบต้า (สายพันธ์แอฟริกาใต้) 1.78%
"หากดูตัวเลขในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะพบว่าสายพันธุ์เดลต้า เบียดสายพันธุ์อื่นๆ เพื่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยใน กทม. เพิ่มขึ้นมาเป็น 57.1% และในภูมิภาคเพิ่มขึ้นมาเป็น 22.9% แล้ว ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศเป็นสายพันธุ์เดลต้า 46.1% เกือบครึ่งแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับสุตรการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสายพันธุ์เดลต้า กระจายไปแล้ว 61 จังหวัด และในปัจจุบันได้ลามไปยังภาคใต้แล้ว ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา สงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล ส่วนในจังหวัดอื่นๆ ที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้เยอะ ได้แก่ อุดรธานี นครสวรรค์ ชลบุรี และกำแพงเพชร ซึ่งคาดการณ์ว่าอีกไม่นานสายพันธุ์นี้คงกินพื้นที่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด
ส่วนสายพันธุ์เบต้า ยังไม่แพร่เร็วและส่วนใหญ่ยังการกระจายตัวอยู่ในภาคใต้ แต่มีข้อมูลใหม่ที่ต้องจับตา คือ กรณีการติดเชื้อของแรงงานไทยรายหนึ่งที่บึงกาฬ ซึ่งเดินทางกลับมาจากไต้หวัน แต่ในระหว่างที่กักตัวใน State Quarantine ไม่พบว่ามีการติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด และเมื่อเดินทางกลับบ้าน มีอาการป่วย จึงไปตรวจหาเชื้อและพบว่าติดโควิดสายพันธุ์เบต้า ซึ่งเมื่อมีการถอดรหัสพันธุกรรมเทียบที่ไต้หวัน และที่ภาคใต้ของไทย กลับพบว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง
นอกจากนี้ ในการตรวจแคมป์ก่อสร้างแห่งหนึ่งในพื้นที่ กทม. ยังพบการติดเชื้อในคนเดียวกัน 2 สายพันธุ์ หรือ Mix Infection คือทั้งสายพันธุ์เดลตา และสายพันธุ์อัลฟ่า โดยมีแรงงาน 7 คน ใน 200 กว่าคน ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในคนเดียวกันถึง 2 สายพันธุ์
อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า จากการติดตามอาการของผู้ป่วย 7 รายดังกล่าว ยังปกติดี ไม่มีอาการรุนแรงใดๆ ซึ่งการตรวจพบไวรัส 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกันนี้ ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น เพียงแต่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลขอให้ประชาชนลดการเดินทาง และเข้มงวดกับมาตรการต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องถูกต้อง เพื่อช่วยลดโอกาสที่อาจจะเกิด Mix Infection ซึ่งหากเกิดในจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบบลูกผสม หรือ Hybrid กลายเป็นเชื้อกลายพันธุ์สายพันธ์ใหม่ได้ ทั้งนี้การเกิด Mix Infection ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในประเทศไทย แต่พบในประเทศอื่นด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage