ครม.อนุมัติจ่ายเยียวยา ‘นายจ้าง-ลูกจ้าง’ 4 ประเภทกิจการ 2.5 พันล้าน เริ่มโอนเงิน 23 ก.ค.นี้ ไฟเขียว ‘สินเชื่ออิ่มใจ’ วงเงิน 2 พันล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการ ‘ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม’ ปล่อยกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99%
....................
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) กรอบวงเงิน 2,519.38 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ มีดังนี้
1.นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิ.ย.2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค.2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง
2.ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท
สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 ก.ค.2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิ.ย.-30 ก.ค.2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรายใหม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้นด้วย
นายอนุชา ยังกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ กรอบวงเงินสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร และร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่
“สินเชื่ออิ่มใจดังกล่าว จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่ม และลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงหรือสินเชื่อนอกระบบ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย และรถเข็น” นายอนุชา กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์การดำเนินมาตรการสินเชื่ออิ่มใจนั้น ธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี
ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs ที่ไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท หรือรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติให้ดำเนินโครงการจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อ หรือจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการฯ
นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหาร/เครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากการที่ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการใช้บริการภายในร้าน หรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน หรือได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบบูรณาการเร่งด่วน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/