“...คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร หากกำหนดแนวให้ความผิดมูลฐานสามารถบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น ๆ ที่มิใช่ พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีผู้แก้ไขกฎหมายที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบให้เป็นความผิดมูลฐาน (ขณะนี้มีอยู่ 8 ฉบับ) เพื่ออาศัยผลของการสันนิษฐานความผิดและผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ผู้ถูกกล่าวหา และให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดอายัดทรัพย์ของบุคคลโดยให้สำนักงาน ปปง. เป็นผู้ดำเนินการ งานจะตกหนักอยู่ที่สำนักงาน ปปง. การยึดอายัดทรัพย์ จะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ หรืออาจมีการเลือกปฏิบัติ…”
...........................................................
จากกรณีเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 7/2563 โดยศาลแพ่งส่งคำโต้แย้งของนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 22 ราย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 37 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสองนั้น (อ่านประกอบ : ป.รัษฎากร ม.37 ตรี มูลฐานผิดฟอกเงินขัด รธน.-ผู้ร้องโยงทัวร์ศูนย์เหรียญ โดนยึด 213 ล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่วินิจฉัยให้ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนในกรณีดังกล่าวไว้ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรว่า นายธงชัย กับพวก เป็นผู้มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการขายสินค้า แต่ไม่ได้จดทะเบียน เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายได้ที่แท้จริงสำหรับปีภาษี 2554-2559 เข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 เป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) เข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ประกอบมาตรา 37 ที่บัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง.
เมื่อพิจารณาจากหลักการ เหตุผลของกฎหมายและข้อเท็จจริงตามคำร้องข้างต้นแล้ว เห็นว่า
ความผิดมูลฐาน ตามกฎหมาย ปปง. อันเป็นกฎหมายหลักและความผิดมูลฐานที่บัญญัติกระจายอยู่ตามกฎหมายอื่น ๆ พบว่า มีด้วยกันทั้งหมด 29 ฐาน แบ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ปปง. จำนวน 21 ความผิดมูลฐาน และความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ จำนวน 8 ความผิดมูลฐาน
ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 40-41/2546 วินิจฉัยการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ปปง. นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะขณะนั้นความผิดมูลฐานซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการกระทำผิดฟอกเงินมีอยู่เพียง 8 ฐานความผิดเท่านั้น แต่ละความผิดมีความร้ายแรง และอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมอื่น ๆ ตามมา เช่น เรื่องยาเสพติด ค้าเด็กและผู้หญิง ค้าอาวุธ ก่อการร้าย เป็นต้น แต่บัดนี้เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ความผิดมูลฐานได้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกมากมายหลายฐาน (รวม 29 ฐาน) มีทั้งความผิดที่ไม่ร้ายแรง เช่น การพนัน การทำร้ายร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และบางฐานเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง ความผิดเกี่ยวกับการค้าหรือทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย จึงไม่อาจถือเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาเป็นบรรทัดฐานในการนำมาตรการเดียวกันมาใช้กับกรณีความผิดมูลฐานที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังอย่างมากมายได้อีกต่อไป ต้องพิจารณาความผิดมูลฐานเป็นเรื่อง ๆ ไป
สำหรับหลักการใช้กฎหมายที่เป็นคุณและกฎหมายย้อนหลัง พฤติกรรมของการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 เกิดขึ้นระหว่างปีภาษี 2554-2559 ต่อมาในปี 2560 ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติ มาตรา 37 ตรี ให้เอาความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ มาตรา 90/4 เป็นความผิดมูลฐาน (แตกต่างจากเดิม) มีผลให้ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดถูกสันนิษฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจาการกระทำความผิดมูลฐาน หากพิสูจน์ไม่ได้จะถูกยึดหรืออายัดและบังคับให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้จะเป็นมาตรการทางแพ่ง แต่ก็เป็นผลร้ายในทางทรัพย์สินแก่ผู้กระทำเทียบได้กับโทษริบทรัพย์สินในทางอาญา จึงเป็นกรณีกฎหมายในภายหลัง บัญญัติแตกต่าง โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด…” ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำย้อนหลังไปบังคับแก่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจึงจะนำมาใช้ไม่ได้ ขัดต่อมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้นำมาตรา 3 ไปใช้ในกฎหมายอื่นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี บัญญัติเอาความผิดมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ มาตรา 90/4 มีโทษอาญามาเป็นความผิดมูลฐานทำให้การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน มีโทษจำคุกและปรับเป็นความผิดอาญา บัญญัติในภายหลัง (พ.ศ. 2560) มาใช้บังคับในขณะที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างปีภาษี 2554-2559 ทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพย์หลังจากกฎหมายใหม่กำหนด กลายเป็นความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษทางอาญา โดยมี ‘ความผิดมูลฐาน’ บัญญัติขึ้นหลังจากกระทำความผิดไปแล้วมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 37 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการบัญญัติที่มีโทษอาญาย้อนหลัง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคแรก เช่นนี้แม้จะอ้างว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องทางแพ่ง แต่การจะใช้มาตรการทางแพ่งได้ ต้องมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อันมีโทษทางอาญาเสียก่อนจึงจะเป็นเหตุให้ยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ หากลงโทษในความผิดฐานฟอกเงินไม่ได้ ก็ย่อมจะยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินไม่ได้เช่นกัน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากหมายเหตุท้ายกฎหมายในส่วนของ พ.ร.บ.ปปง. ที่เป็นกฎหมายหลักในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของความผิดมูลฐานคือ เพื่อตัดวงจรการเงิน มิให้นำไปใช้ในความผิดที่ร้ายแรงต่าง ๆ แล้ว การใช้มาตรการตามกฎหมายฟอกเงิน ต้องใช้เฉพาะเจาะจงไปที่ผู้กระทำผิดที่มีเจตนาและมีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมข้ามชาติหรืออาชญากรรมที่ร้ายแรง เป็นต้น แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องประกอบกับฐานความผิดแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้กระทำนำเงินไปใช้กระทำการหรือสนับสนุนอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย หรืออาชญากรรมร้ายแรงอื่นใด
กรณีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประเมินภาษีจากผู้ที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่มีเจตนาทุจริตหรือสุจริตที่ได้นำใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการออกใบกำกับภาษีโดยมิได้จดทะเบียน หรือไม่ทราบมาก่อนว่ามีใบกำกับภาษีปลอมปนเข้ามาด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีอำนาจใช้มาตรการทางแพ่งในการประเมินให้ผู้นั้นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไม่ครบถ้วน พร้อมเงินเพิ่มหรือเบี้ยปรับได้ แม้ผู้นั้นจะกระทำโดยสุจริตก็ตาม
นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว หากปรากฏว่าผู้กระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือนำส่งภาษีอากรไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรค้างที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมิน กรมสรรพากรก็ชอบที่จะดำเนินคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะ ได้แก่ ศาลภาษีอากร เป็นศาลพิเศษมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และขอมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวต่อศาลตามประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกันได้ ดังนั้นประมวลรัษฎากรมีมาตรการดำเนินการเป็นขั้นตอนเหมาะสมอยู่แล้ว ตั้งแต่การพิสูจน์ความผิดจนถึงการยึดและอายัดและสามารถประเมินการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ครบถ้วนพร้อมเบี้ยปรับได้
ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี จึงเป็นบทบัญญัติที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจะใช้ดุลพินิจในการพิจารณาวินิจฉัยรวบรวมทรัพย์สินเพื่อให้ได้จำนวนเงินครบตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร รวมไปถึงกรณีการขอคืนภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือนำส่งภาษีอากรที่กระทำโดยสุจริตได้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีมาตรการพิเศษจากฎหมายอื่น
นอกจากนี้ตามข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) จำนวน 40 ข้อ พบว่า มีสาระคือ มุ่งเน้นเรื่องการนำเงินหรือรายได้จากความผิดมูลฐานไปใช้ในการสนับสนุนการก่อการร้ายเป็นหลัก และต้องพิสูจน์เจตนาในการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรฐาน มิได้มีการกำหนดเรื่อง Tax Crimes ไว้โดยเฉพาะ หากจะมีในภายหลังก็ต้องเป็น Serious Tax Crimes เท่านั้น
ในการแยก Tax Crimes ระหว่างการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ที่เรียกว่า Tax Evasion ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย กับการหลบหลีกภาษี Tax Avoidance เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย (Legal) หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Abusive Tax Avoidance) ต้องทำโดยศาลเฉพาะเรื่อง ได้แก่ ศาลภาษีอากร ที่เป็นศาลที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภาษีอากร มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป เพราะเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐอันเนื่องมาจากการเก็บภาษีอากร การอุทธรณ์ในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากรให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ทั้งนี้กฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจการลงทุน ควรมีมาตรฐานเดียวกันกับนานาประเทศ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สำนักงาน ปปง. เป็นหน่วยงานที่มีข้อตกลงและเจรจาต่อรองโดยตรงกับ FATF จึงควรเป็นหน่วยงานที่จะพิจารณาว่าความผิดใดควรเป็นความผิดมูลฐานตามเงื่อนไขการฟอกเงิน เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองกับ FATF ด้วย มิใช่กระจายไปเจรจากับ FATF หรือให้ FATF เอาข้อกำหนดของตนไปต่อรองตามกระทรวงทบวงกรม หรือหน่วยงานที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดฐานฟอกเงินกันเอง โดยขาดศูนย์รวมผลประโยชน์ของชาติทางเศรษฐกิจอาจถูกกระทบกระเทือนได้
ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร หากกำหนดแนวให้ความผิดมูลฐานสามารถบัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น ๆ ที่มิใช่ พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ ได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีผู้แก้ไขกฎหมายที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบให้เป็นความผิดมูลฐาน (ขณะนี้มีอยู่ 8 ฉบับ) เพื่ออาศัยผลของการสันนิษฐานความผิดและผลักภาระการพิสูจน์ไปให้ผู้ถูกกล่าวหา และให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดอายัดทรัพย์ของบุคคลโดยให้สำนักงาน ปปง. เป็นผู้ดำเนินการ งานจะตกหนักอยู่ที่สำนักงาน ปปง. การยึดอายัดทรัพย์ จะไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ หรืออาจมีการเลือกปฏิบัติ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ (แม้ในปัจจุบันก็มีข้อเท็จจริงปรากฎอยู่เนือง ๆ) สิทธิเสรีภาพของประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุนในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการประกอบอาชีพต่าง ๆ จะถูกลิดรอนอย่างกว้างขวางและรุนแรงได้
พิจารณาแล้วเห็นว่า
บทบัญญัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี เป็นการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง อีกทั้งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด การนำมาบังคับใช้จึงขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก และขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง
นอกจากนี้มาตรา 37 ตรี ดังกล่าวยังเกี่ยวกับการกำหนดโทษทางอาญาที่มีผลย้อนหลัง ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง อีกด้วย ประกอบกับเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่มีอยู่ก่อนมีการเพิ่มเติมมาตรา 37 ตรี พบว่า มีมาตรการทางกฎหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ประกอบดุลพินิจวินิจฉัยรวบรวมทรัพย์สินของผู้หลีกเลี่ยงภาษี (Tax Evasion) เพื่อให้ครบจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงเห็นว่า มาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกิดสมควรแก่เหตุ และมิได้ระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีความผิดเกี่ยวกับภาษีเฉพาะที่ร้ายแรง (Serious Tax Crime) จริง ๆ สมควรจะกำหนดเป็นความผิดมูลฐานควรนำไปบัญญัติรวมไว้กับ พ.ร.บ.ปปง. เพื่อให้เห็นความมุ่งหมายและการใช้กฎหมายอย่างชัดเจนเป็นระบบที่ดี เพราะหากปล่อยให้กฎหมายแต่ละฉบับกระจายกันบัญญัติให้ความผิดของตนเป็นความผิดมูลฐานที่มีทั้งโทษทางแพ่งและทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ปปง. โดยอ้างว่ากฎหมายฉบับนั้น ๆ ไม่มีมาตรการสำหรับจัดการกับความผิดที่มีความร้ายแรงได้โดยไม่ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขและกระบวนการใน พ.ร.บ.ปปง. เลย การบัญญัติกฎหมายแยกออกมานั้น ผู้บัญญัติอาจมิได้ตระหนักว่า เป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควรแก่เหตุ ไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเป็นการลิดรอนสิทธิในการประกอบอาชีพและทรัพย์สินของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ใน มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เลย ตลอดจนไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของบุคคลและอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลเกินความจำเป็น
หากต่อมามีกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความผิดมูลฐานในกฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ อาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่มีลักษณะเช่นนั้นกระจายไปทุกฉบับ ไม่เจาะจงที่ พ.ร.บ.ปปง. เพียงที่เดียวก็จะเกิดการลักลั่นในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เหล่านั้นตามมา ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าว ประมวลรัษฎากรมาตรา 37 ตรี หากเห็นว่าจำเป็นจริง ๆ ควรนำไปบัญญัติเป็นความผิดมูลฐานไว้ใน พ.ร.บ.ปปง. อันเป็นกฎหมายหลักสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีความพิเศษ มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจแต่ละฝ่าย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจน เหมาะสม และมิให้ซ้ำซ้อนฟุ่มเฟือย สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคแรกอีกด้วย
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 37 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้โต้แย้งศาลแพ่ง และศาลแพ่งส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ 77/2561 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2561 ระบุว่า ให้อายัดทรัพย์สินนายสุรพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ กับพวก ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี เจ้าของทัวร์ศูนย์เหรียญ กับพวก เพิ่มเติมจำนวน 46 รายการ มูลค่า 213,637,070.27 บาท ประกอบด้วย เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ที่ดินโฉนดที่ดิน และอาคารชุด ในชื่อ นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.วีญาฎา พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.ปิยมา สิงคารวานิช, นายพรชัย โรจน์รุ่งรังสี, ด.ช.ธันยวิทย์ โรจน์รุ่งรังสี, บริษัท ภูเก็ต เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด หรือ บริษัท รอยัล พารากอน เจมส์ จำกัด หรือ บริษัท รอยัล เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด, นายอำนาจ อำนวยบริสุทธิ์, และน.ส.ใหม่ พิพัฒน์พัลลภ (อ่านประกอบ : ทะลุ 8.3 พันล.! ปปง.อายัดเพิ่ม ผู้เกี่ยวข้อง ‘เสี่ยธงชัย’ ทัวร์ศูนย์เหรียญ 213 ล.)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/