"...แม้จีนจะมีประชากรจำนวนมากหลักพันล้านคนและมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการ เนื่องจากจีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการจัดการด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ big data และสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการวัคซีน มีการตั้งศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคระดับชาติ ระดับมณฑล ระดับเทศบาลและกระจายไปยังระดับเขตพื้นที่ มีสถาบันทางการแพทย์ และหน่วยฉีดวัคซีนที่ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล มีสร้างระบบข้อมูล data platform ตั้งแต่การจัดเก็บวัคซีน การลงทะเบียนเข้าออกของวัคซีน การขนส่งวัคซีน รวมไปถึงการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนหลังที่สมบูรณ์แบบ..."
..........................................
จีนมีขั้นตอนในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไร ยุ่งยากหรือไม่ ? จัดการอย่างไร ทำไมจีนระดมฉีดวัคซีนได้มากที่สุดในโลก และข้อเท็จจริงการผลิต “วัคซีนจีน”เป็นอย่างไร รองศาสตราจารย์ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รวบรวมข้อมูลเขียนไว้ในรายงานชิ้นนี้
การบริหารจัดการการฉีดวัคซีนในจีน
จนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จีนเป็นประเทศที่มีการระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้มากที่สุดในโลก ฉีดไปแล้ว 354.27 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วน 12.7% ของประชากรจีน โดยใช้วัคซีนจีนเป็นหลักในการฉีดให้กับชาวจีน ได้แก่ Sinopharm (รัฐวิสาหกิจจีน) และ Sinovac (เอกชนจีน)
จีนตั้งเป้าหมายที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมสัดส่วน 40% ของจำนวนประชากร (ประมาณ 560 ล้านคน) ภายในครึ่งปี 2564 นี้ และคาดว่า ภายในปีหน้า 2565 การฉีดวัคซีนของจีนจะบรรลุมาตรฐานสากลในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) นั่นคือ ตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชากรในจีนมากถึง 900 ถึง 1,000ล้านคน
ในการบริหารจัดการด้านการฉีดวัคซีน ทางการจีนมีนโยบาย "ฉีดวัคซีนฟรี” ให้แก่ประชากรจีนทุกคน โดยแบ่งการจัดสรรวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มประชากรผู้สูงวัยและผู้ที่มีโรคประจำตัว และกลุ่มประชากรทั่วไป
ตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา เมื่อ 3 มกราคม 2564 จีนได้เริ่มฉีดวัคซีนที่ผลิตเองให้ชาวจีนทั่วไปและรณรงค์ให้ประชาชนไปเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยจะต้อง “ลงทะเบียน”ล่วงหน้า เพื่อการจัดการ data อย่างเหมาะสม และจีนจัดลำดับความสำคัญเร่งฉีดให้เมืองชั้นหนึ่งก่อน เนื่องจากมีประชากรกระจุกตัวมาก
โดยทั่วไป ชาวจีนไม่ลังเลที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ภาครัฐได้รับความร่วมมือจากประชาชนค่อนข้างดีพอสมควร แต่ก็อาจจะมีชาวจีนที่ไม่ค่อยกระตือรือร้นจะไปฉีดวัคซีนอยู่บ้างในบางเขต/บางพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นในพื้นที่/เขตเหล่านั้นก็จะแจกรางวัลหรือสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้มารับการฉีดวัคซีน เช่น แจกไข่ ขนม นมสด คูปองลดราคาสินค้า เป็นต้น
ที่สำคัญ จีนใช้การจัดการ data เพื่อบริหารจัดการด้านอุปสงค์และอุปทานของวัคซีน ให้เป็นไปตามแผนความต้องการวัคซีนของแต่ละมณฑล/เขต/ท้องที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อทำการผลิต/จัดหาวัคซีนและจัดส่งไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามความต้องการโดยใช้วิธีการที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับแต่ละกรณีของความต้องการ มีการเร่งการหมุนเวียน และตอบสนองต่ออุปสงค์ความต้องการกับอุปทานการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรวัคซีนให้ได้อย่างเพียงพอ
ขั้นตอนการเข้ารับการฉีดวัคซีนในจีน
สำหรับขั้นตอนการ “ลงทะเบียน” เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนในจีนก็ไม่ยุ่งยาก ชาวจีนสามารถเลือกลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตามสะดวก โดยมี 2 ลักษณะหลัก คือ (1) การลงทะเบียนผ่านองค์กรที่สังกัด/บริษัทที่ทำงาน และ (2) การลงทะเบียนด้วยตัวเองในเขตพื้นที่ที่ตนพักอาศัยที่มีการติดประกาศเป็น QR code ให้ลงทะเบียนออนไลน์จองคิว เพื่อไปรับบริการฉีดวัคซีนในสถานที่ใกล้ที่พักหรือที่ทำงาน ตามวันเวลาที่นัดหมาย และจะมีข้อความ msg ส่งมาเตือนในมือถือด้วยเมื่อถึงวันนัด
หลังจากลงทะเบียนเสร็จ ข้อมูลด้าน health code ส่วนตัวจะอัพเดตข้อมูลทันที และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว จะมีเลขประจำตัวลงทะเบียนผู้รับการฉีดและหมายเลขวัคซีนที่ได้รับการฉีดนั้นๆ
แม้จีนจะมีประชากรจำนวนมากหลักพันล้านคนและมีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการ เนื่องจากจีนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการจัดการด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ big data และสร้างมาตรฐานในการบริหารจัดการวัคซีน มีการตั้งศูนย์ป้องกัน และควบคุมโรคระดับชาติ ระดับมณฑล ระดับเทศบาลและกระจายไปยังระดับเขตพื้นที่ มีสถาบันทางการแพทย์ และหน่วยฉีดวัคซีนที่ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล มีสร้างระบบข้อมูล data platform ตั้งแต่การจัดเก็บวัคซีน การลงทะเบียนเข้าออกของวัคซีน การขนส่งวัคซีน รวมไปถึงการสร้างระบบการตรวจสอบย้อนหลังที่สมบูรณ์แบบ
วัคซีนจีนมีอะไรบ้าง
จีนให้ความสำคัญกับการคิดค้นผลิตวัคซีนเพื่อใช้เป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้ฟาดฟันกับไวรัสร้ายเพื่อเอาชนะวิกฤตครั้งใหญ่นี้ จนถึงขณะนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จีนผลิตได้เองมี 5 ราย ที่ได้รับการอนุมัติออกสู่ตลาด โดยมีเงื่อนไขหรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น
- วัคซีนชนิดเชื้อตาย 3 ชนิด
-วัคซีนเวกเตอร์อะดีโนไวรัสวัคซีน (vector Adenovirus) 1 ชนิดที่ได้รับการอนุมัติออกสู่ตลาดโดยมีเงื่อนไข
-วัคซีนป้องกันโควิด-19 (เซลล์ CHO) 1 ชนิด ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ในกรณีของ Sinopharm เป็นวัคซีนเชื้อตายที่ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก WHO แล้ว และเป็นวัคซีนของรัฐวิสาหกิจจีน คือ China National Biotec Group (CNBG) ซึ่ง CNBG ได้มอบหมายให้ 2 บริษัทจีนไปทำการผลิต คือ อู่ฮั่น Wuhan Institute of Biological Products และปักกิ่ง Beijing Institute of Biological Products เพื่อไปทำการผลิตวัคซีนป้องกันโควิดภายใต้ชื่อ Sinopharm
สำหรับวัคซีนเชื้อตาย Sinovac จะเป็นการผลิตจากบริษัทเอกชนจีนและมีการส่งออกไปหลายประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ประธานบริษัท Sinovac ได้กล่าวในงาน BOAO FORUM ว่า “ทางบริษัทได้ผลิตวัคซีนทั้งหมด 260 ล้านโดส ส่วนใหญ่เพื่อการส่งออกในสัดส่วน 60 % และอีก 40% ของการผลิต Sinovac ใช้เพื่อฉีดให้ชาวจีน (นั่นคือ ประมาณ 104 ล้านโดส)
จีนยังคงคุมเข้ม “ขาเข้า”
ในการจัดการควบคุมการระบาดของไวรัสร้ายนี้ จีนใช้กลยุทธ์การป้องกันและควบคุมที่มุ่งเน้น "ป้องกันการนำเข้ามาจากภายนอก และป้องกันการระบาดระลอกใหม่จากภายใน" ดังนั้น ทางการจีนยังคงระมัดระวัง “ขาเข้า”จากการเดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด จนถึงขณะนี้ (พฤษภาคม 2564) จีนยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติเดินทางเข้าจีน ยกเว้นกรณีจำเป็นตามเงื่อนไข และเมื่อเดินทางมาถึงจีน ต้องกักตัวในสถานกักกันที่รัฐกำหนดประมาณ 14-21 วัน (ขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง) และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (รัฐบาลจีนไม่จ่ายให้)
ทั้งนี้ จีนได้จัดฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ทำงานในจีน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลจีนได้เริ่มเปิดให้ต่างชาติที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในจีน และมีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต่างๆ จะได้รับการฉีดวัคซีนด้วย และหากมีประกันสังคมในจีน จะได้รับการฉีดฟรี (ในกรณีต่างชาติที่ไม่มีประกันสังคมจีนและต้องจ่ายเองประมาณเข็มละ 90 กว่าหยวน) โดยต้องนัดล่วงหน้าลงทะเบียนผ่านองค์กรที่ตนสังกัด/ทำงานด้วย ตัวอย่างชาวต่างชาติในจีนที่รับการฉีดวัคซีนแล้ว เช่น ไทย แอฟริกา เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงชาวฝรั่งชาติตะวันตกที่ทำงานในจีน ศูนย์ฉีดวัคซีนให้คนต่างชาติ อาจจะไปตั้งในโรงพยาบาลเอกชนของจีน เนื่องจากมีทีมงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้และสะดวกกับการให้บริการ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้ว และประชาชนสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้นแล้ว หากแต่รัฐบาลจีนก็ยังคงเน้นให้ทุกคนยังต้องปฎิบัติตัวตามกฎการควบคุมโรคอย่างจริงจังต่อไป
Timeline จีนจัดการวิกฤตโควิด-19
23 มกราคม 2563 จีนใช้ความเฉียบขาดในการประกาศ lockdown ปิดเมืองอู่ฮั่นที่มีประชากร 11 ล้านคน เน้น “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” อย่างเด็ดขาด
14 มีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการระบาด จีนประกาศห้ามเดินทางข้ามมณฑล รอจนสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว จีนค่อยๆ คลายทีละปม ทยอยผ่อนคลาย เปิดให้เดินทางทีละจุด อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
8 เมษายน 2563 ยกเลิกการ lockdown เมืองอู่ฮั่นที่ถูกปิดเมืองมานานถึง 76 วัน !!!
14 กรกฏาคม 2563 เริ่มอนุญาตให้เดินทางข้ามมณฑลได้
3 มกราคม 2564 จีนเริ่มฉีดวัคซีนที่ผลิตเองให้ชาวจีนทั่วไปกว่า 73,000 คนในสถานที่ฉีดวัคซีนกว่า 220 แห่งในกรุงปักกิ่ง และเร่งฉีดวัคซีนให้ชาวจีนในเมืองอื่นๆ ตามมา รวมทั้งฉีดให้ชาวต่างชาติที่อยู่อาศัยและทำงานในจีน
1 พฤษภาคม 2564 วันที่ชาวอู่ฮั่นถอดหน้ากาก !!! ชาวอู่ฮั่นกว่าหมื่นคนสามารถไปร่วมงานเทศกาลดนตรี เข้าชมคอนเสิร์ตได้โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก
14 พฤษภาคม 2564 จีนเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากที่สุดในโลก โดยฉีดไปแล้ว 354.27 ล้านโดส คิดเป็นสัดส่วน 12.7% ของประชากรจีน
ผลสำเร็จเชิงประจักษ์ในการพิชิตโควิด-19 คนจีนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้เต็มที่ และด้านเศรษฐกิจ จีนสามารถเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้น และสามารถเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกเพียงรายเดียวที่เติบโตเป็นบวกได้ 2.3 % ในปี 2563 ในขณะที่ เศรษฐกิจของมหาอำนาจประเทศอื่นล้วนเติบโตติดลบ