"...หลังการระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ ปางช้างไม่มีงานให้ช้างทำ เจ้าของจำเป็นต้องนำช้างกลับบ้าน เพื่อทำงานลากจูงไม้ยางพาราจากสวนยางพาราห่างไกลถนน แต่ปัจจุบันราคาไม้ยางตกต่ำ เจ้าของสวนไม่โค่นไม้ยาง จึงไม่มีงานลากจูงให้ช้างทำ..."
............................................
แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดทั่วโลกและในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อัตราผู้ติดเชื้อลดน้อยลง อีกทั้งมีวัคซีนในการป้องกันแล้ว แต่ในด้านของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย จากการระบาดของเชื้อโควิดส่งผลกระทบทั้งผู้ประกอบกิจการ ลูกจ้าง ทุกภาคส่วนของการท่องเที่ยว
ไม่เว้นแม้แต่ ‘ปางช้าง’ อีกหนึ่งกิจการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ และช้างก็ไม่เป็นที่นิยมนักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทย โดยเฉพาะ จ.ตรังที่มีช้างรวมกว่า 60 เชือก ส่วนหนึ่งที่ไปทำงานอยู่ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น กระบี่ พังงา สงขลา ต้องเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนามาอยู่ในพื้นที่ จ.ตรัง เนื่องจากไม่มีงาน ไม่มีเงิน ประกอบกับแหล่งหญ้า อาหารธรรมชาติขาดแคลน จากสภาพอากาศที่ร้อน และต้องหาแหล่งน้ำให้ช้าง ส่งผลกระทบให้เจ้าของช้างบางรายประกาศขายช้าง แต่ไม่มีคนซื้อ จึงอยากวอนให้รัฐบาลช่วยเหลือ
น.ส.พิมพร เหมรัตน์ ชาวบ้าน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กล่าวว่า ตนเองและพี่น้อง มีช้างรวมกันทั้งหมด 21 เชือก จากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้ขาดแคลนอาหารตามธรรมชาติ ประกอบกับเจ้าของช้างเองก็ไม่แทบมีงานทำเลย เดิมส่วนใหญ่จะไปทำงานตามแหล่งท่องเที่ยว นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดครั้งที่แรก ต้องหยุดทั้งหมด ขนช้างกลับมาบ้าน จนกระทั่งการระบาดล่าสุด เหลือเพียงแค่งานชักลากไม้เล็กๆ น้อยๆ จากรายได้ที่เคยได้ถึงเดือนละประมาณ 1 แสนบาท ขณะนี้แทบไม่มีเข้ามาเลย
น.ส.พิมพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ช้างที่เลี้ยงไว้ประสบปัญหาผ่ายผอมลง บางเชือกกินนอนไม่ได้ ทำงานก็ตกมัน ต้องนำไปผูกล่ามไว้ในที่ปลอดภัย อีกทั้งปีนี้ภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้อาหารขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้าง บางส่วนต้องไปซื้อจาก จ.กระบี่ มีค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ประมาณ 2,000 บาทต่อคัน
น.ส.พิมพร กล่าวอีกว่า ทุนทรัพย์ที่เคยมีกำลังหมดลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ดำเนินมาเป็นปีแล้ว และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ อีกทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งเงินเดือนของควาญช้างคนละ 5,000 บาท กระทั่งล่าสุดมีข่าวว่าสามารถเอาตั๋วช้างไปกู้เงินได้ที่ ธ.ก.ส.ในราคาเชือกละ 3 แสนบาท ตนจึงเดินทางไปติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ธกส.สาขาย่านตาขาว เพื่อจะได้นำเงินก้อนนี้มาแก้ปัญหา และต่อชีวิตอาชีพเลี้ยงช้างต่อไป แต่ได้เจ้าที่ตอบตอบกลับว่ายังไม่มีคำสั่งมาจากเบื้องบน ทำให้ยังไม่มีเงินมาช่วยเหลือเลย
ด้าน นายสุชาติ บัวเกิด ประธานชมรมกลุ่มคนเลี้ยงช้าง จ.ตรัง กล่าวว่า ช้างในจังหวัดตรังมีกว่า 60 เชือก ทำหน้าที่เป็นช้างท่องเที่ยวอยู่ในจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และ สงขลา หลังการระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาเที่ยวได้ ปางช้างไม่มีงานให้ช้างทำ เจ้าของจำเป็นต้องนำช้างกลับบ้าน เพื่อทำงานลากจูงไม้ยางพาราจากสวนยางพาราห่างไกลถนน
แต่ปัจจุบันราคาไม้ยางตกต่ำ เจ้าของสวนไม่โค่นไม้ยาง จึงไม่มีงานลากจูงให้ช้างทำ เจ้าของช้างต้องขาดรายได้ ขณะที่ยังคงเป็นหนี้สินธนาคาร เพราะในแต่ละเดือนเจ้าของช้างต้องแบกรับ ค่าอาหารช้าง ค่าขนส่งอาหาร และค่าจ้างเลี้ยงช้างนับหมื่นบาทต่อเชือก
นายสุชาติ กล่าวว่า จากภาวะดังกล่าว เจ้าของช้างหลายรายประกาศขายช้างในราคาถูก จากที่เคยขายเพราะต้องการลดภาระค่าใช้จ่าย และนำเงินไปปลดหนี้ธนาคาร เดินราคาเชือกละ 3 ล้านบาท ตอนนี้เหลือเพียงราคา 1.5 ล้านบาทต่อเชือก ถึงแม้จะขายถูกก็ไม่มีใครซื้อ เพราะซื้อไปก็ไม่มีงานรองรับ ถือเป็นความเดือดร้อนที่รุนแรงที่รอบหลายสิบปี เพราะตนเองเลี้ยงช้างมา 30 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนในชีวิตที่ผู้ประกอบการเลี้ยงช้างย่ำแย่ขนาดนี้ อีกทั้งยังต้องมาเจอปัญหาขาดแคลนเรื่องอาหารช้างและน้ำที่หายากในช่วงหน้าแล้งซ้ำเติมอีก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage